ความพยายาม “รวมนิกายสงฆ์” ยุคคณะราษฎรผ่านงานอุปสมบท “พระยาพหลพลพยุหเสนา” และการสร้างวัด “พระศรีมหาธาตุบางเขน”

“…แต่ก่อนไม่มีมหานิกาย มีแต่ ‘พระไทย’ เพราะตั้งธรรมยุตขึ้น จึงเรียกของเดิมว่า ‘มหานิกาย’ ซึ่งแปลว่า ‘คณะใหญ่’ เรียกว่า ถ้าไม่มีธรรมยุตก็ไม่มีมหานิกาย มีแต่ ‘พระสงฆ์ไทย’…สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก)

นับแต่การก่อกำเนิด “ธรรมยุติกนิกาย” เมื่อ พ.ศ. 2372 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า งานอุปสมบทของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ในยุคสมัย “คณะราษฎร” นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการสงฆ์ไทยที่ไม่เคยมีมาและคาดว่าจักไม่มีอีกในอนาคต

การบวชพระครั้งประวัติศาสตร์ที่สมานรวมพระสงฆ์ 2 นิกาย กระทำสังฆกรรมต่อหน้าพระประธาน “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชในเวลานั้นและต่อมาจำนวนถึง 5 พระองค์ รวมทั้งพระมหาเถระเลื่องชื่อร่วมสมัยและภายหลังจำนวนมากที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองคณะสงฆ์ การศึกษาครึ่งค่อนศตวรรษต่อมา หรือกระทั่งบางท่านลาสิกขาเป็นบุคคลสำคัญในดงขมิ้น ฯลฯ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (ชื่อเดิม วัดประชาธิปไตย)

ก่อนหน้าการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2484 ฉายาในสมณเพศว่า “พหลโยธี” ถือเวลาครองกาสาวพัสตร์ทั้งสิ้น 3 เดือน 24 วัน จำพรรษา ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยลาสิกขาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปีเดียวกัน

 

พุทธจักรสยามยุคระบอบใหม่

การปฏิวัติ 2475 ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อทุกองคาพยพของสังคม ภายในพุทธจักรสยาม เริ่มมีปฏิกิริยาจากพระฟากมหานิกายที่รู้สึกว่าได้รับความอยุติธรรมตลอดระยะเวลาการปกครองภายใต้ระบอบเก่าเป็นเวลายาวนาน การเริ่มต้นก่อหวอดครั้งใหญ่จากกลุ่มพระหนุ่มมหานิกายจำนวน 300 เศษ ภายใต้ชื่อ “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” ประเดิมขึ้นด้วยการประชุมที่บ้าน “ภัทรวิธม” ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2477 และมีออกแถลงการณ์ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ประกาศจุดมุ่งหมายว่า

“…เป็นไปเพื่อความเสมอภาคในการปกครองคณะสงฆ์ และเพื่อการรวมนิกายสงฆ์ให้มีสังวาสเสมอกัน คือให้มีการอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน…”

ยุวสงฆ์คณะนี้เคยส่งตัวแทนเข้าพบ นายปรีดี พนมยงค์ ผ่านการแนะนำโดย นายถวัติ ฤทธิเดช มันสมองคณะราษฎร ท่านให้การต้อนรับอย่างดี เหตุการณ์ครั้งนั้นหนึ่งในสมาชิกได้เล่าไว้ว่า

“…ไปบ้านป้อมเพชร ท่านปรีดีนุ่งกางเกงแพรดำ ใส่เสื้อป่านกุยเฮงสีขาว ลงมารับหน้าตึก เมื่อขึ้นไปนั่งบนบ้าน ท่านจุดบุหรี่ด้วยไฟแช็คแก่ภิกษุทุกรูป แล้วก็กล่าวว่า เรื่องของพระคุณนั้นผมทราบโดยตลอด เพราะสันติบาลรายงานมาให้ผมทราบทุกระยะ ผมเห็นด้วยที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยนำร่างพระราชบัญญัติเข้าเสนอสภาให้เข้ารูปเข้ารอย ผมจะให้ขุนสมาหารหิตคดีมาแนะนำในการร่างพระราชบัญญัตินี้…”

การผลักดันวาระนี้เริ่มเห็นเค้าลางเมื่อ ร.ท. ทองคำ คล้ายโอภาส ส.ส. ปราจีน นำเรื่องตั้งเป็นกระทู้ในการประชุมสภาผู้แทน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 และมาเข้ารูปเข้ารอยในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2478 เมื่อ นายทองอยู่ พุฒิพัฒน์ ส.ส. ธนบุรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรวมนิกายสงฆ์ อุปสรรคต่างๆ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 5 ปี

ถึงแล้วสุดมาสำเร็จในยุครัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484” ลงตราโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 ท่าน คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ตราไว้ ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียง 3 เดือนเศษ ทั้ง 2 ท่านได้เข้าร่วมงานอุปสมบทพระยาพหลฯ ด้วย

สมเด็จพระสังฆราช “แพ ติสฺสเทโว” วัดสุทัศน์ ในฐานะอุปัชฌายะ

ประจวบช่วงเวลาเดียวกันขณะเริ่มพิจารณาเรื่องกฎหมายสงฆ์ใหม่นี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480 รัฐบาลขณะนั้นได้สถาปนาสมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเถระ) วัดสุทัศนเทพวราราม ขึ้นดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ลงนามโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

โดยเหตุผลว่าพระองค์เป็นพระเถระที่อาวุโสและทรงคุณวุฒิสูงสุด ซึ่งถือเป็นการยุติบทบาทตำแหน่งนี้ของธรรมยุตหลังจากถือครองมายาวนานติดต่อกันถึง 4 พระองค์ (เจ้า 3 สามัญชน 1) และเป็นการกลับคืนของพระมหาเถระฟากฝั่งมหานิกายในสถานะสูงสุดของพุทธจักรสยามหลังจากเว้นวรรคห่างหายไปเกือบศตวรรษ นับจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สังฆราชองค์ที่ 7 สิ้นพระชนม์ในต้นรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396

“มหาสังฆกรรม” ยุคคณะราษฎร “บรรพชิต” ฉายา พหลโยธี 6 กรกฎาคม-30 ตุลาคม 2484

พ.ศ. 2484 ณ ตำบลกูบแดง อำเภอบางเขน วัดพระศรีมหาธาตุ (ชื่อเดิม “วัดประชาธิปไตย”) ได้รับการเนรมิตจากงบประมาณรัฐและเรี่ยไรจัดสร้างสมัยหลวงพิบูลสงคราม จากดำริของพระยาพหลฯ โดยปรารภไว้ว่า

          “…ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้วควรจะทำบุญอะไรสักอย่าง มีความเห็นว่าควรสร้างวัดสักแห่งหนึ่ง…”

         ครั้นเมื่อถัดมาเพียงครึ่งเดือน งานอุปสมบทสังฆกรรมที่เป็นตำนานตลอดกาลก็พร้อมอุบัติขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 6 กรกฎาคม “นาคพระยาพหลพลพยุหเสนา” ชายวัยกลางคน ส่วนสูง 1.63 เมตร นาคองค์นี้เดินย่างกรายสู่พระอุโบสถที่ยังอบอวลด้วยกลิ่นสีและปรากฏสภาพนั่งร้านก่อสร้างภายนอกในบางจุด พระประธานวัดที่ประดิษฐานวันนั้นคือ “พระพุทธสิหิงค์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของสยามประเทศ (พ.ศ. 2491 ถูกย้ายกลับไปยังพระที่นั่งพุทไธสวรรค์)

การอุปสมบทครั้งนี้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ โดยให้สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรีเป็นแม่งาน ปรากฏรายชื่อภิกษุนั่ง “รวม 2 นิกาย” จำนวนทั้งสิ้น 52 รูป ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีฯ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์สังฆกรรม “สมานสังวาส” ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ณ พิธีนี้ มีแง่บุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงดังต่อไปนี้

สมเด็จพระสังฆราช 5 พระองค์

หนึ่งคือ สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นคือ “แพ ติสฺสเทโว” วัดสุทัศน์ (องค์ที่ 12 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.  2481-87, มหานิกาย) นั่งเป็นประธานในสถานะ “พระอุปัชฌายะ”

สองคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ “ชื่น สุจิตฺโต” วัดบวรฯ (องค์ที่ 13 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2488-2501, ธรรมยุต) ขณะในพิธียังเป็นชั้นสมเด็จ รองอาวุโสเพียงสังฆราชแพ และเป็นผู้ “ให้ศีล” สังฆราชเจ้าพระองค์นี้ภายภาคหน้าเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. 2499

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ) เป็นผู้ “ให้ศีล”

สามคือ สมเด็จพระสังฆราช “ปลด กิตฺติโสภโณ” วัดเบญจมบพิตร (องค์ที่ 14 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.  2503-05, มหานิกาย) โดยยังครองชั้นรองสมเด็จ ที่พระพรหมมุนี (ต่อมาขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัต พ.ศ. 2490) และเป็นพระนิสสยาจารย์ในงานนี้ เนื่องด้วยพระยาพหลฯ หลังงานบวชได้ไปจำพรรษาที่วัดเบญฯ

สี่คือ สมเด็จพระสังฆราช “อยู่ ญาโณทโย” วัดสระเกศ (องค์ที่ 15 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2506-08, มหานิกาย) ในงานนี้ท่านนั่งเป็นพระนั่งหัตถบาสในสมณศักดิ์ พระธรรมเจดีย์ (ต่อมาเลื่อนเป็นรองสมเด็จที่พระธรรมวโรดม พ.ศ. 2488 และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พ.ศ. 2496)

ห้าคือ สมเด็จพระสังฆราช “จวน อุฏฐายี” วัดมกุฏฯ (องค์ที่ 16 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2508-14, ธรรมยุต) ภายในงานท่านนั่งเป็นพระหัตถบาสขณะเป็น พระเทพเวที (ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็น พระธรรมปาโมกข์ พ.ศ. 2488 รองสมเด็จ ที่พระสาสนโสภณ พ.ศ. 2490 และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พ.ศ. 2499)

3 สมเด็จเลื่องชื่อ

หนึ่งคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  “เจริญ ญาณวโร” (ธรรมยุต) พระประจำตระกูลดิศกุล สมภารวัดเทพศิรินทราวาสยาวนานถึง 53 ปี เกียรติประวัติท่านมากมาย เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถา (เทศนาพิเศษในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา) เป็นเวลายาวนานถึง 25 ปี (รัชกาลที่ 6-8) ในงานนี้ท่านเป็นผู้ “บอกอนุสาสน์”

และ “คู่สวด” จาก 2 นิกาย

หนึ่งคือ สมเด็จพระวันรัต “เฮง เขมจารี” (มหานิกาย) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงศรัทธาในพระมหาเถระรูปนี้มาก ในวันพระราชทานเพลิงสมเด็จเฮง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แม้นสุขภาพไม่เอื้อนัก ยังอุตส่าห์ต้องมีคนพยุงขึ้นถวายดอกไม้จันทน์เป็นครั้งสุดท้าย  ท่านเป็นพระมหาเถระฝ่ายมหานิกายเพียงรูปเดียวที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร รับสั่งว่า “สมัยใดที่หาพระเจ้านายเป็นสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ เจ้าคุณวัดมหาธาตุฯ องค์นี้ เป็นสมเด็จพระสังฆราชได้”

พระคู่สวด สมเด็จพระวันรัต “เฮง เขมจารี” (มหานิกาย) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ “อ้วน ติสฺโส” (ธรรมยุต)

ประโยคสำคัญข้างต้นได้รับการถ่ายทอดบอกจากปากของอีกหนึ่งคู่สวดในงานนี้ คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ “อ้วน ติสฺโส” (ธรรมยุต) พระนักบริหารรูปสำคัญที่ยังให้การเผยแผ่คณะธรรมยุตประสบความสำเร็จอย่างสูงในภาคอีสาน และถือเป็นศิษย์เอกของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์  “จันทร์ สิริจนฺโท” กระนั้น เชื่อว่าท่านเป็นพระเถระธรรมยุตรูปเดียวที่มีแนวความคิดเรื่องการรวมนิกายสงฆ์ตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น โดยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน และสังฆนายกองค์แรกแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484

2 พระมหานิกายผู้สละสิทธิ์การถูกเสนอชื่อสังฆราช ณ พ.ศ. 2532

ภายหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 (วาสน์ วาสนมหาเถระ) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2532 แล้ว สมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายมหานิกาย 2 รูปที่มีอาวุโสพรรษาสูงสุด (กระนั้นอาวุโสสมณศักดิ์เป็นรองฝั่งธรรมยุต) ทั้งคู่ล้วนสละสิทธิ์ในการถูกนำเสนอชื่อในครั้งนั้น

หนึ่งคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ “อาจ อาสโภ” วัดมหาธาตุ หรืออดีตพระพิมลธรรม หากแม้นท่านมิถูกสกัดกั้นด้วยวิธีมารต่างๆ แล้วไซร้ เชื่อว่าพระมหาเถระรูปนี้จักได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัตและสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายมหานิกายอย่างแน่นอน แต่กลับต้องประสบวิบากกรรม “ผจญมาร” โดนยัดเยียดข้อหาต่างๆ จนถูกถอดสมณศักดิ์ใน พ.ศ. 2503 และกักขังในคุกระหว่าง พ.ศ. 2505-09 ถึงที่สุดแม้ได้รับความยุติธรรมจากศาลให้พ้นข้อกล่าวหา กระนั้นทุกอย่างสายเกินกว่าจะหวนคืน ภายในพิธีบวชนี้ ท่านนั่งเป็นพระอันดับด้วยเช่นกันขณะเป็นพระราชาคณะเทียบชั้นราชที่ พระศรีสุธรรมมุนี

อีกหนึ่งคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ “ฟื้น ชุตินฺธโร” วัดสามพระยา และผู้อำนวยการสำนักอบรมสงฆ์ (ส.อ.ส) ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นองค์กรสำคัญที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งบุคลากรสงฆ์สายมหานิกาย ทั้งนี้ท่านเป็นผู้ที่เดินทางไปยังสันติบาลเพื่อทำหน้าที่ปลดเปลื้องจีวรส่วนบนพระพิมลธรรม (อาจ) เมื่อ พ.ศ. 2505 ภายในงานบวชพระยาพหลฯ ท่านครองสมณศักดิ์ที่ พระปริยัติโสภณ และนั่งเป็นพระอันดับ

พระอุปัชฌายะของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

สมเด็จพระธีรญาณมุนี “ธีร์ ปุณฺณโก” วัดจักรวรรดิราชาวาส (มหานิกาย) เมื่อ พ.ศ. 2503 ขณะเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทย พุทธคยา อินเดีย เดิมตั้งใจจะนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชปลดเดินทางไปอุปสมบทให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระหว่างหลบลี้การเมืองช่วงปัจฉิมวัย แต่จอมพลบอกว่า “เกรงใจ” จนท้ายสุดท่านนั่งเป็นประธานบวชให้ จอมพลได้รับฉายาว่า “วิปุลสงฺคาโม” ในงานเจ้าคุณพหลฯ สมเด็จธีร์ยังเป็นเพียงพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุธีวรคุณ

 2 สมเด็จพระวันรัตธรรมยุตหลังกึ่งพุทธกาล

สมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ “พระวันรัต” เดิมถูกถือครองโดยพระสายมหานิกาย โดยมีเพียงครั้งเดียวสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หลุดไปฟากธรรมยุติกนิกาย กล่าวคือ สมเด็จพระวันรัตน “ทับ พุทฺธสิริ” วัดโสมนัส ระหว่าง พ.ศ. 2422-34 ภายหลังจากมรณภาพของพระมหาเถระรูปนี้แล้ว ตำแหน่งนี้ฝังแน่นอยู่กับฝ่ายมหานิกายเป็นระยะเวลายืนนานเกือบศตวรรษ

จนเพิ่งโยกมายังฝั่งธรรมยุตนับแต่ พ.ศ. 2520 โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่อง 2 ท่าน กล่าวคือ สมเด็จพระวันรัต “จับ ฐิตธมฺโม” วัดโสมนัส ระหว่าง พ.ศ.2520-38 และสมเด็จพระวันรัต “นิรันตร์ นิรนฺตโร” วัดเทพศิรินทร์ ต่อเนื่องระหว่าง พ.ศ. 2538-46 โดยครั้งในงานบวชพระยาพหลฯ ทั้ง 2 ท่านนั่งหัตถบาสในสถานะของมหาเปรียญ ป.ธ.8 และ ปธ.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ สมณศักดิ์นี้ยังไม่เคยได้หวนกลับคืนสู่มหานิกายอีกเลยจวบจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปี นับว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ทิ้งช่วงยาวนานกว่า 43 ปีเช่นกัน!

“หลอมนิกาย” พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484

ขณะงานอุปสมบทเชษฐบุรุษท่านนี้ดำเนินไป พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ก็มีการอภิปรายงวดเข้าทุกที ซึ่งในที่นี้ขอยกในส่วนของหลวงวิจิตรวาทการซึ่งเป็นกรรมาธิการแถลงไว้ในสภาก่อนหน้าประกาศใช้ไม่ถึงเดือน ความว่า “อันที่จริงพระท่านได้ยอมแล้วว่า ท่านจะรวมกัน ท่านได้ยอมเมื่อวานนี้ว่า ท่านจะรวมกันภายใน 8 ปี หรือภายหลังที่ได้ทำสังคายนาแล้ว ท่านจะเห็นได้ว่าคณะกรรมาธิการ ได้ร่างมาในมาตรา 57 ทวิที่ว่า

‘ก่อนที่จะได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน แต่อย่างช้าต้องไม่เกิน 8 ปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ออกสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวงหรือระเบียบใด ที่จะบังคับให้เปลี่ยนลัทธิอันได้นิยมนับถือและได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว’

ความในมาตรานี้ก็หมายความว่า เมื่อพ้น 8 ปีหรือทำสังคายนาครบถ้วนแล้ว ก็จะออกอาณัฐิรับบัญชาสังฆราชที่เปลี่ยนลัทธินิยมได้ ร่าง ก.ม. ฉบับนี้ คณะกรรมการได้นิมนต์เถระผู้ใหญ่เพื่อปรึกษาและได้เสนอร่างนี้ต่อท่าน ท่านได้ยอมรับแล้วต่อหน้าพุทธปฏิมากรแก้วมรกต” ในท้ายที่สุดข้อความนี้ได้สรุปเป็น “บทฉะเพาะกาล มาตรา 60 ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484”

      โดยหลวงวิจิตรฯ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “สิ่งที่ควรชื่นชมยินดีในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็คือ เป็นการเปิดทางให้ได้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการใหญ่ และเมื่อการสังคายนาเสร็จสิ้นลง แต่อย่างช้าต้องไม่เกิน 8 ปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ก็อาจที่จะรวมนิกายสงฆ์เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ความสามัคคีกลมเกลียวก็จะเกิดมีแก่ชาติไทยทั้งในทางบ้านเมืองและทางพระสาสนา ข้อนี้ความเป็นที่ปีติยินดีของชาวไทยและพุทธสาสนิกชนทั่วกัน.”

ระหว่างพิจารณาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ ได้มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “หลอมนิกาย” โดยผู้เขียนนามแฝง “ธงไทย” ได้กล่าวถึงความขัดแย้งดังระหว่างนั้นอย่างละเอียด ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยนี้ไว้ว่า “…ยังไม่ทันที่จะวินิจฉัยเด็ดขาดว่าอย่างไร ก็มามีเรื่องกระทบกระเทือนเกี่ยงงอนกันขึ้นในระหว่างนิกายทั้งสองนี้อีก เนื่องจากที่รัฐบาลเห็นว่าในคราวปรับปรุงการบริหารคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ ควรให้รวมคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย กับ มหานิกายเข้าเป็นนิกายเดียวกัน โดยให้มีสงฆ์ธรรมนูญหรือธรรมนูญสงฆ์ขึ้นใช้ให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งให้นิกายรวมนี้ใหม่ว่า ‘สามัคคีนิกาย’…”

          ในระยะที่เริ่มพิจารณาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ ตัวเลขวัดทั่วประเทศคือ “ธรรมยุต 260 วัด มหานิกาย 17,305 วัด”

           ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 และการลาสิกขาของพระยาพหลฯ ในเดือนตุลาคมเดียวกัน ถัดมาเพียงเดือนเศษปลายปีนั้น ประเทศไทยจำเผชิญกับชะตากรรม “สงครามมหาเอเชียบูรพา” เริ่มวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ทอดล่วงถึงเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ่ายแพ้ในสภาจนส่งให้ นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2487-88 เริ่มมีคลื่นระลอกแรกในการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่นี้ “…แต่ถูกคัดค้านจากทางรัฐสภา และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง เรื่องจึงได้ระงับไป…”

       แต่การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ยังคงดำเนินต่อมา จนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2490 สมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พระมหาเถรานุเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกายจำนวน 22 รูป นำโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ได้เซ็นชื่อร่วมกัน เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจกฎหมายมาบังคับให้พระสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยรวมพระสงฆ์ให้เป็นนิกายเดียวกัน

         เรื่องดังว่ายังไม่ทันพิจารณาใดๆ ในปลายปีนั้นรัฐบาลของหลวงธำรงฯ ภายใต้การสนับสนุนของ “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” พ้นอำนาจจากการถูกกระทำรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 การหลอมรวมนิกายตามกำหนดเดิม 8 ปีหลัง พระราชบัญญัติก็หาได้ดำเนินการสำเร็จไม่ หากแต่ความขัดแย้งในวงการสงฆ์ก็ยังคงทวีความเข้มข้นขึ้น เพียงทว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังถือว่าเป็นผู้มีส่วนในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 นี้แต่เริ่มคลอด ครั้นเมื่อขึ้นสู่อำนาจในช่วง 10 ปีหลังระหว่าง พ.ศ. 2490-2500 ก็หาได้แตะต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่

       จนเมื่อสิ้นอำนาจจากการรัฐประหารวันที่ 16 กันยายน 2500 โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฝ่ายหัวก้าวหน้าของฟากมหานิกายอย่างพระพิมลธรรม (อาจ) ท้ายสุดก็เพลี่ยงพล้ำต่ออริโดยถูกคุมขังในข้อหาคอมมิวนิสต์เมื่อเมษายน พ.ศ. 2505 พร้อมกับการยกเลิกกฎหมายคณะสงฆ์ของ “คณะราษฎร” ในปีเดียวกันนั้นด้วย! (ทราบว่าอดีตพระพิมลธรรมได้ยึดถือพระราชบัญญัติฉบับนี้มากและแนะนำชักชวนคณะสงฆ์ให้ดำรงไว้ เพราะเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่มุ่งสังฆสามัคคีและเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่ตอนนี้ท่านหมดอำนาจแล้ว)

            งานอุปสมบทของพระยาพหลฯ “หัวหน้าคณะราษฎร” ใน พ.ศ. 2484 เปรียบประหนึ่ง “ชาตะ” ที่เป็นรูปธรรมสู่การ “หลอมรวม มหานิกาย-ธรรมยุต” อุปมาเป็นชีวิตก็ถือว่าสั้นเพียงชั่วขณะ เพราะครั้นถึงปีอสัญกรรมของท่านต้นปี พ.ศ. 2490 อีกเพียงราว 6 ปีต่อมา ภารกิจนี้ก็มาถึงคราว “มตะ” อวสานพร้อมเพรียงไปกับการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ปลายปีนั้นเฉกเช่นกัน!

แหล่งข้อมุล -ภาพ : https://www.silpa-mag.com/history/article_40979

Leave a Reply