พระโยมชาวเวียดนามเปี่ยมศรัทธา! บริจาคทุนทรัพย์แกะรูปปั้น ‘พระถังซัมจั๋ง-พระพุทธโฆษาจารย์’ ปราชญ์ชาวจีนและอินเดีย ประดิษฐานวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ’มจร’
วันที่ 30 กรกฏาคม 2562 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า รับนิมนต์จากลูกศิษย์ชาวเวียดนาม ภิกษุเจิง หวุย งีม และคุณชาช่า พร้อมคณะ มาทำพิธีกราบสักการะรูปปั้นพระถังซัมจั๋งและพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อนิมนต์ไปประดิษฐานที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร อ.วังน้อย พร้อมร่วมบริจาคทุนทรัพย์ 300,000 บาท เพื่อแกะรูปปั้นในครั้งนี้
พระถังซัมจั๋งเป็นพระมหาเถระฝ่ายมหายาน ชาวจีน ที่เดินทางไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฏก ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดียแล้วแปลพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีสู่ภาษาจีน แล้วอัญเชิญกลับประเทศจีนด้วยด้วยการแบกคัมภีร์ใส่บ่าแล้วเดินสองเท้าด้วยใจที่มุ่งมั่น และมุ่งหวังจะให้มวลหมู่ประชาชนได้รับโอกาสศึกษาธรรม แล้วปฏิบัติธรรมจนสามารถลิ้มรสแห่งพระธรรมจวบจนถึงปัจจุบันนี้
ขณะที่พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระมหาเถระชาวอินเดีย ที่เดินทางรอนแรมไปศึกษาพระไตรปิฏกที่ประเทศศรีลังกาจนแตกฉาน แล้วนำพระไตรปิฏกและอรรถกถามาบูรณาการจัดหมวดหมู่ใหม่ภายใต้ชื่อ “วิสุทธิมรรค” แปลว่า “หนทางสู่ความบริสุทธิ์” โดยใช้กรอบของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นฐานในการตีความและจัดหมวดหมู่ของพุทธธรรมลงในกล่องดังกล่าว จนกลายเป็นคัมภีร์ชั้นปกรณ์วิเสสระดับเอกอุ ที่เป็นคู่มือให้ศึกษาทั้งปริยัติและเทียบเคียงกับการปฏิบัติที่ง่ายต่อการศึกษา และเรียนรู้
“อาศัยความสำคัญของพระมหาเถระทั้ง 2 รูปนั้น พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะภาค 2, เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อดีตอธิการบดี มจร เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขโลกที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้อาตมาในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้ชักชวนลูกศิษย์ชาวเวียดนามจัดสร้างขึ้น โดยได้ใช้ระยะเวลา 5 เดือนในการแกะรูปปั้น ที่เมืองดานัง ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และนิมนต์ประดิษฐาน วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ในวันที่ 21 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันสันติภาพโลก” พระมหาหรรษา กล่าวและว่า
พระมหาเถระทั้ง 2 รูป จะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ในการเป็นแบบอย่างของพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ต่อการศึกษา ทั้งปริยัติและการปฏิบัติ จนรู้แจ้งแทงตลอดหลักธรรมของพุทธองค์ แล้วอัญเชิญพุทธธรรมคัมภีร์และวิถีการปฏิบัติกลับไปเผยแผ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เฉกเช่นกับที่พระมหาเถระทั้งสองได้ประพฤติปฏิบัติ และอุทิศชีวิต ทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพุทธบูชาตราบสิ้นลมหายใจ จนกลายเป็นแบบอย่างสำคัญมาจนถึงปัจจุบันนี้
Leave a Reply