“ประวัติศาสตร์เมืองตราด History of Trat”  “ปลัดมหาดไทย” พร้อมผลักดันเป็น Soft Power ส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมเน้นย้ำความกตัญญู คือ สิ่งที่สำคัญในการสร้างความรักเเละความภาคภูมิใจของความเป็นชาติไทย

วันนี้ (11 มี.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด อ.เมืองตราด จ.ตราด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดมอบหนังสือ “ประวัติศาสตร์เมืองตราด History of Trat” พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เมืองตราด History of Trat …Soft Power สู่บ้านเกิด” โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นางชุลีพร เตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตราด รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย น.ส.วิภา จิรภาไพศาล กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม บมจ.มติชน นักเรียน นักศึกษา และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดตราดกว่า 500 คน ร่วมในพิธี

โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้มอบหนังสือ จำนวน 4,192 เล่ม แก่คณะผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดตราด เพื่อนำไปไว้ที่สถานศึกษาเเละศูนย์เรียนรู้ จำนวน 141 เเห่ง และอีก 808 เล่ม จะนำไปส่งมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้นำไปเพยแพร่องค์ความรู้และเป็นสื่อการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้พี่น้องประชาชนที่สนใจได้ศึกษาจังหวัดตราด เสริมสร้างความภาคภูมิใจ เเละบ่มเพาะความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษไทยต่อไป ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดตราด History of Trat ฉบับ E-Books ได้ที่ https://upload.matichon.net/E-book/

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานเเก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ณ ศาลาดุสิดาลัย มีพระราชดำรัสสำคัญตอนหนึ่ง ว่า “…เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ประเทศไทยบรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดิน มาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดายตอนนี้ท่านนายกฯ เขาไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ฉันก็ไม่เข้าใจ เพราะตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ไม่รู้ว่าใครมาจากไหน เป็นความคิดที่แปลกประหลาด อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย…”


“ด้วยเหตุนี้ ผม พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด คนมหาดไทยทุกคน รวมถึงนายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด มีความตระหนักถึงความสำคัญของการเรียน ประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าพวกเราน้อมนำพระราชดำรัสองค์นี้มาใคร่คิดต่อ จะเห็นเป็นจริงแน่นอน โดยมองย้อนกลับมาในครอบครัวของเรา ถ้าคนในครอบครัวไม่รู้จักรากเหง้าบรรพบุรุษ พ่อ เเม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน ลูกเต้าเหล่าใคร ถ้าไม่รู้จักรากเหง้าบรรพบุรุษ ต้นวงศ์ตระกูล ความเป็นมาของครอบครัว การรักษาไว้ซึ่งความรัก ความผูกพันระหว่างคนในตระกูลหรือในเครือญาติก็จะค่อย ๆ จางหายไป เฉกเช่น ประเทศไทยของเรา ที่เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เป็นที่อยู่ที่พักพิงอิงอาศัยให้พวกเราได้อยู่ ได้มีชีวิต ด้วยเพราะบรรพบุรุษของเรา สิ่งสำคัญ จึงต้องบ่มเพาะปลูกฝังให้ลูกหลานได้เข้าใจและแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบ้านเกิด ด้วยความรัก ความภูมิใจในความเป็นชาติ อันจะยังผลให้เกิดความมั่นคงของชาติ และถ่ายทอดส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปให้ได้เห็นถึงคุณค่าเเละความสำคัญ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงที่เห็นเเก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มีความจงรักภักดี และมุ่งตอบเเทนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติบ้านเมืองของเราให้ยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเสด็จพ่อ ร.5 ที่ชาวจังหวัดตราดสามารถเรียกได้ว่าเป็น พ่อ หรือพระราชบิดา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างอเนกอนันต์ เพราะเมื่อครั้นที่จังหวัดตราดได้รับอริสรภาพพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส พระองค์ทรงรักเเละห่วงใย โดยเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรของพระองค์ท่าน ถึง 12 ครั้ง ซึ่งในคราวเสด็จพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตราด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ทรงมีพระราชดำรัสตอบประชาชนเมืองตราดว่า “…ดูกรประชาชนอันเปนที่รักของเรา ถ้อยคำซึ่งเจ้าทั้งหลายได้มอบฉันทะให้กล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้ เปนที่จับใจอย่างยิ่ง สมัยเมื่อเราต้องพลัดพรากเขตรแดนอันเปนที่พึงใจซึ่งเราได้ใส่ใจบำรุงอยู่ แลเมื่อนึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเปนที่รักใคร่คุ้นเคยของเราต้องได้รับความเปลี่ยนแปลง อันประกอบไปด้วยความวิบัติไม่มากก็น้อยย่อมมีความเศร้าสลดใจเปนอันมากเพราะเหตุฉนั้น ครั้นเมื่อเราได้รับโทรเลขจากเมืองตราดในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เปนสมัยเมื่อเราได้มาอยู่รวมกันอีกจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะใคร่ได้มาแลเห็นเมืองนี้แลเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใดซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ปรากฏเปนที่มั่นใจแก่เจ้าทั้งหลายว่าการทั้งปวงจะเปนที่มั่นคงยืนยาวสืบไป เจ้าทั้งหลายผู้ที่ได้ละทิ้งภูมิลำเนาจะได้กลับเข้ามาสู่ถิ่นฐาน แลที่ได้ละเว้นการทำมาหากินจะได้มีใจอุตสาหะทำมาหากินให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อนแลทวียิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่าเราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากสืบบุตร จึงรีบมาหานั้นเป็นความคิดอันถูกต้องแท้ ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอไปในเบื้องหน้าดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ ว่าเราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์…” พระทรงบอกคนตราดว่าพระองค์เป็นเหมือนพระราชบิดา พี่น้องชาวจังหวัดตราดจึงรู้สึกปลื้มปิติยินดีที่พระองค์ท่านเสด็จมาเยี่ยม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แสดงให้เห็นคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดี ดังพุทธศาสนสุภาษิต “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา” ที่เราทุกคนต้องร่วมถ่ายทอดปลูกฝังจิตสำนึกให้ลูกหลานเยาวชนของพวกเราตลอดไป

“หนังสือ “ประวัติศาสตร์เมืองตราด History of Trat” ผม เเละ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำหนังสือ รวมถึงคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม บมจ.มติชน และผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตหนังสือเล่มนี้ทุกท่าน ต่างมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ประวัติศาสตร์กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ สถานศึกษา มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพื่อสร้างเเรงบันดาลใจให้ทุกจังหวัดได้สร้างความตระหนักถึงประวัติศาสตร์ประจำถิ่นเเละประวัติศาสตร์ของประเทศชาติ พร้อมทั้งร่วมส่งเสริม Soft Power ที่เป็นความภาคภูมิใจให้เกิดประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และด้านต่าง ๆ เเละได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา เเละต่อยอดให้พสกนิกรของพระองค์ท่านได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ดั่งพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหนังสือสะพาน : รวมบทความทางประวัติศาสตร์ เล่ม 2 ความว่า “…ประโยชน์อย่างหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ คือ ช่วยให้ผู้ศึกษาได้รู้จักใช้ ความคิด รู้จักหาเหตุผลจากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นการลับสมอง และทำให้ได้รับความรู้อันเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์มิได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่รวบรวมไว้เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการตีความ ประเมินคุณค่าของข้อมูลในแง่มุมใหม่ๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่เสมอ) รวมทั้งยังเป็นการคาดคะเนแนวโน้มในอนาคตด้วย” จึงขอให้พวกเราทุกคน ทั้งท่านผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ และภาคีเครือข่าย ได้ทำให้พี่น้องคนไทยทุกคนเรียนรู้ประวัติศาสตร์และพินิจพิเคราะห์ พิจารณาว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ คนบางคนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครอบครัว หรือเป็นทั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ วันนี้เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ได้มาร่วมกันมอบหนังสือที่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ ทำให้นักเรียนที่เป็นลูก ๆ หลาน ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา รากเหง้าของความเป็นไทย เเละความภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษของเราได้เสียสละ ได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เเละอุทิศให้ด้วยความมานะ วิริยะ อุตสาหะ จนเป็นชาติไทยที่มั่นคง ให้คงอยู่และต่อยอดตามยุคตามสมัยอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า ตนมีความปรารถนาอยากให้พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เเละพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นจริง ด้วยการทำให้ลูกหลานเรียนรู้ และสามารถบอกเล่าถึงประวัติบรรพบุรุษของคนในครอบครัว ทั้งพ่อ เเม่ พี่ ป้า น้า อา หรือทำผังครอบครัวของวงศ์ตระกูล ซึ่งเจตนาของพวกเราทุกคนที่ทำไว้ให้คนตราดครั้งนี้จะเกิดมรรคผลดีได้ ด้วยการต่อยอด ทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ เห็นความสำคัญและร่วมบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของคนในครอบครัว ด้วยการจดบันทึกทุกเหตุการณ์สำคัญของชีวิตในรูปแบบจดบันทึกหรือวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และถ่ายภาพงานสำคัญของครอบครัว เช่น งานเเต่ง งานบวช งานศพ ที่ภาพเหล่านั้นจะกลายเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าเหตุการณ์อดีตในอนาคต และช่วยกันทำให้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็น Soft Power ช่วยกันสานฝันให้พี่น้องคนไทยได้หันมาสนใจประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศชาติเราให้อยู่ยั้งยืนยงไปชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่งยืนตลอดไป

Leave a Reply