“ค่ายธรรมะ” ถูกสื่อใช้คำว่า “ค่ายยาพิษ ค่ายสะกดจิต” หลังจากกรณีที่มีคนนำข้อความที่มีคนเขียนลงในเว็ปหนึ่งกล่าวถึงความผิดปกติของเด็กที่ไปเข้าค่ายธรรมะที่ถูกบังคับให้ดูคลิปน่ากลัว บังคับให้ยืนทั้งคืน นักเรียนเจ็บป่วยพักผ่อนไม่พอ ทำให้กดดัน ร้ายสุดมีนักเรียนถึงกับต้องพบจิตแพทย์
ดูเหมือนว่า “ค่ายธรรมะ” ที่ถูกจัดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมากำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นเหตุทำให้เกิดเรื่องน่าสลดนี้ ก็คงไม่ต่างจากคนที่เคยตั้งคำถามต่อภาพของสังคมที่วุ่นวาย ผู้คนขาดคุณธรรม ขาดจิตสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบมาจากพระภิกษุไม่ทำหน้าที่สอนคนให้ดี ให้มีศีลธรรม
ถ้าจะให้สังคมคุยกันได้ด้วยเหตุผล ก็ควรหาเหตุผลมาคุยกัน แต่ถ้าเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ก็คงเป็นแค่หาเรื่องกันเท่านั้นเอง
ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรหาข้อมูลให้รอบด้าน เอาว่าลองสำรวจกันดูก่อนเป็นเบื้องต้นว่า คนต้องพบจิตแพทย์หลังจากเข้าค่ายธรรมะกี่คนและมีคนที่ดี สำนึกตัว เข้าใจหน้าที่ รู้คุณค่าในตัวเองและผู้อื่นจากค่ายธรรมะกี่คน. ถ้าจะเน้นปริมาณก็คงจะหาได้ไม่ยากนักเหมือนหมอที่ทำให้คนไข้เสียชีวิตหรือช่วยให้รอดชีวิต จำนวนคงต่างกัน เพราะเป้าหมายของหมอคือช่วยชีวิต ฉะนั้น คนรอดชีวิตย่อมมากกว่า แต่ก็มีเรื่องพลาดได้ทั้งที่ไม่ใช่เป้าหมายของหมอ อาจเป็นเครื่องมือ เวลา และคนไข้ หรือการตัดสินใจของหมอเอง ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้นถ้าจะว่ากันด้วยข้อมูลเชิงสถิติก็คงให้เราได้ความจริงได้
แต่ถ้าจะว่าให้ลึกลงไปสักนิด ก็ต้องถามว่า “ค่ายธรรมะ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ?ที่ทำให้คนดีได้ทันตา หรือทำให้คนเป็นโรคจิตได้เลยทันใจเหมือนเรากำลังจะบอกว่า อาหารคำเดียวไม่ทำให้คนอิ่ม ต้องกินหลายๆ คำจึงจะอิ่ม หรือฝนตกเม็ดเดียวคงไม่ทำให้ใครเปียกได้ ต้องหลายเม็ดจึงจะเปียกได้ ถ้าเรามองว่า “ค่ายธรรมะ” เพียงแค่ไม่กี่วันคงไม่ได้ทำให้ดีทันตา หรือเป็นโรคจิตได้ทันใจ อาจมีเหตุผลอะไรมากกว่านั้น เป็นการมองให้เห็นภาพรวมของปัญหา และรวมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันตามคำว่าบวร (บ้าน วัด โรงเรียน)
อีกด้านหนึ่งคือ “ค่ายธรรมะ” เราลองมองว่าเป็นเหมือนโรงเรียน มีครูคอยแนะนำ หรือเหมือนโรงพยาบาล มีหมอที่คอยรักษาอาการป่วยไข้บางทีเราอาจไม่พอใจถ้าครูจะตีนักเรียนด้วยไม้เรียวจนเด็กไข้มีรอยช้ำ หรือบางทีก็ไม่พอใจที่หมอรักษาแล้วโรคไม่หายหรือเจ็บหนักขึ้น แต่ความพอใจหรือไม่พอใจสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรที่เราจะปฏิเสธการเรียนรู้ และรักษาความเจ็บป่วย แต่ควรเข้าใจเหตุผลจากครูและหมอด้วยว่าเป็นด้วยเหตุใด
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ต้องเชื่อวิจารณญาณของคณาจารย์ในการจัดให้มีกิจกรรมนี้เพราะถ้าอาจารย์เห็นกิจกรรม การเข้าค่ายธรรมะที่ทารุณลูกศิษย์ หรือโหดร้ายป่าเถื่อน แล้วไม่เห็นด้วย ไม่เห็นประโยชน์ ก็คงไม่ยอมให้ลูกศิษย์ตกอยู่ในวังวนนั้นคงเลิกเสียแต่กลางคัน ไม่ดั้งด้นให้อบรมค่ายธรรมะนั้นสำเร็จลงได้ แต่คงต้องเห็นประโยชน์ผ่านค่ายธรรมะนั้น ด้วยวิจารณญาณนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่เข้าค่ายร่วมกับเด็ก และเด็กคนอื่นๆ ที่เข้าค่ายร่วมกัน ย่อมต้องรู้อะไรมากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในค่าย เพียงแต่จินตนาการความน่ากลัวเท่าที่ตนเองจะคิดออกผ่านคำเล่าลือ
ถ้าจะให้ใครสักคนมาอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมยังคงดำเนินค่ายธรรมะต่อไป ก็ลองถามคนทำค่ายธรรมะถึงจุดประสงค์ในการดำเนินกิจกรรม อาจารย์ และลูกศิษย์ทุกคนที่ผ่านเคยค่ายได้เล่าให้ฟังบ้างก็น่าจะดี
คอลัมน์ : ตื่นข่าว…อ่านข่าวอย่างคนตื่น
ผู้เขียน : กิตติเมธี
Leave a Reply