วิสาขบูชาโลกอินโดนีเซีย : ประเทศที่มี “มุสลิม”มากที่สุดในโลก

กลับมาจากงานฉลองวิสาขบูชานานาชาติประเทศเวียดนาม ซึ่งตามคณะสงฆ์วัดธรรมกายไปร่วมจัดที่  “วัดบ๋าหว่าง” ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศเวียดนามติดชายแดนประเทศจีนห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 150 กิโลเมตร เป็นเมืองที่น่าอยู่ ดูแล้วมีระเบียบ เห็นภาพชาวพุทธเวียดนามศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแล้ว “ชื่นใจ”

ภาพวิถีปฎิบัติของฆรวาสที่มีต่อพระสงฆ์ วิถีร่วมแรงร่วมใจ “ช่วยงานวัด” ของชาวพุทธแบบนี้  “ผู้เขียน” เคยเจอที่ประเทศพม่าและประเทศศรีลังกา

สำหรับประเทศไทยทั้งก่อนไปและกลับมาพวกเราชาวพุทธแม้ใกล้จะถึงวันสำคัญทางทางพระพุทธศาสนา “หมอปลา” ก็ยังร้อนแรงไม่หยุด โชคคราวนี้ “กรรมติดจรวด”  กรรมมันทำหน้าที่ได้เร็ว ๆ “โป๊ะแตก” ว่า สิ่งที่หมอปลาทำกับ “หลวงปู่แสง” มีการเขียนบทไว้ล่วงหน้า มีนักแสดง นักจัดฉาก นักการตลาด ร่วมทั้ง ช่องทางประชาสัมพันธ์ เพื่อเรียก “เรตติ้ง” แล้วดูดเม็ดเงินจากสปอตโฆษณาไว้เรียบร้อย

ซ้ำ! มีข้าราชการสำนักงานพุทธ,นายอำเภอ ตำรวจ “ตกเป็นเครื่องมือ” เข้าไปด้วย

บทเรียนจากการเสพสื่อจากการเขียนบทของหมอปลาเป็น “อุทาหรณ์” ให้ชาวพุทธและพระสงฆ์เราได้ว่า “ภาพที่เห็น” อาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด

ส่วนงานวิสาขบูชาโลกในไทย “เงียบสนิท” เพราะถูกกระแสหมอปลากลบหมด  แต่ในความเงียบมีสาระสำคัญหลายเรื่องปีนี้ ทั้งเรื่อง การจัดทำพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ และการได้ฟังปาฐกถาของ “พระพรหมบัณฑิต” และ “วิษณุ เครืองาม” ทั้งคู่คือ “ปราชญ์แท้” ในทางพระพุทธศาสนา

ไม่ว่าการคิด การพูด น้ำเสียงที่เข้มเต็มไปด้วย “หลักธรรม” ที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ทั้งคู่พูดด้วย “หน้าตาอิ่มเอมเบิกบานใจ” ที่ประเทศไทยเรามีพุทธศาสนา แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าไว้เป็น “ศาสนาประจำชาติ”ก็ตามที แต่ทั่วโลกรู้กันหมดว่าประเทศไทยมี ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

“ผู้เขียน” ไปร่วมสัมมนาที่อาคารสหประชาชาติด้วยก็อดปลื้มใจกับสิ่งที่ได้เห็น ได้รับฟังด้วยไม่ได้  ความจริง “หลักธรรม” พระพุทธศาสนามีของดีมากมาย เพียงแต่ สังคมไทย คนไทย ไม่ใคร่อยากรู้ ไม่ใคร่อยากศึกษา

“พรุ่งนี้” วันวิสาขบูชา ตื่นแต่เช้าตรู่ เดินทางไปร่วมงานวิสาขบูชาโลกกับคณะสงฆ์วัดธรรรมกายเช่นเดิม ที่ประเทศอินโดนีเซีย ทุกปีประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดแห่งนี้จัด “วันวิสาบูชาโลก” ขึ้น ณ บุโรพุทโธ  หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหรรศจรรย์ของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของเกาะชวา ห่างจากยอกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1293 – 1393 โดยบุโรพุทโธเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถ้าไม่นับนครวัดของกัมพูชาซึ่งเป็นทั้งศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและ ศาสนาพุทธ บุโรพุทโธจะเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีพ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลก

“บุโรพุทโธ”  เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ นิกายมหายาน มีความเก่าแก่และความศรัทธาของชาวชวา จนทุกวันนี้หากใครเดินทางมาอินโดนีเซียก็ต้องมาเยือนพุทธสถานบุโรพุทโธ ซึ่งแกะสลักมาจากหินภูเขาไฟขนาดใหญ่มหึมา สูงประมาณ 15 เมตร ภายนอกเป็นรูปทรงดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา

ประเทศอินโดนีเซียมีประชากรประมาณ 270 ล้านคน กลุ่มชาติพันธุ์  มากกว่า 1,300 กลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาถิ่น มากกว่า 700 ภาษา กระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ประมาณ 17,000 เกาะ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีเกาะมากที่สุดในโลก ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม

ตัวตั้งตัวตีการรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียชื่อ “ พระชินะรักขิตะ” ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งได้รับการบวชมาจากประเทศพม่า มีความสัมพันธ์สนิทชิดเชื้อกับ “พระพิมลธรรม” หรือ “หลวงพ่ออาจ อาสภเถระ” ของไทยเป็นอย่างดี เพราะเคยปฎิบัติธรรมที่พม่าร่วมกัน  เป็นเพื่อนสนิทกันมากถึงขั้นที่ว่าเมื่อพระชินะรักขิตะ กลับอินโดนีเซียไป ท่านได้สร้างวัดแรกขึ้นที่เมืองบันดุง ตั้งชื่อวัดว่า “วิหารวิมละธรรม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เพื่อนเก่า  ไม่เฉพาะแค่นี้พระชินะรักขิตะ ยังมีความคุ้นเคยกับ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร” เป็นอย่างดี เมื่อปีพุทธศักราช 2511 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เมื่อครองสมณศักดิ์ที่ “พระศาสนโสภณ” ได้เสด็จเยี่ยมชาวพุทธในประเทศอินโดนีเซีย มีสัญญาใจกับ “พระชินะรักขิตะ” ว่า หากการดำเนินการโครงการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศสำเร็จจะส่งพระสงฆ์ไทยมาเผยแผ่พุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียด้วย ซึ่งพระชินะรักขิตะรับปากว่า จะดูแลพระสงฆ์เหล่านั้นเป็นอย่างดีทั้งที่พักและเรื่องอาหารที่พัก พระธรรมทูตไทยสายธรรมยุตไปเผยแผ่ศาสนาในอินโดนีเซียครั้งแรก ๆ เผยแผ่ศาสนาในชุมชนชาวจีนและพักอยู่ตามศาลเจ้า

ในปีพุทธศักราช 2512 พระธรรมทูตไทยเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ 4 รูป แบ่งออกเป็น ธรรมยุตินิกาย 2 รูป มหานิกาย 2 รูป มีวัดบวรนิเวศ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน วัดยานนาวาและวัดระฆังโฆสิตาราม

ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียมีวัดอยู่ประมาณ 150 วัด แบ่งออกเป็นวัดมหายาน 100 วัด วัดเถรวาท 50 วัด มีชาวพุทธประมาณ 1,500,000 คน

นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่น ๆนอกจากศาสนาอิสลามแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างของศาสนาพุทธที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้การสนับสนุนการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาและทั้งยังได้ประกาศยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันหยุดแห่งชาติ”  ด้วย

รวมทั้ง “บางปี” ประธานาธิบดีอินโดนีเซียซึ่งเป็นคนมุสลิมให้เกียรติชาวพุทธเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานวิสาขบูชาโลกด้วยตนเอง

ส่วนประเทศไทย…ไม่รู้ ไม่รู้!!

Leave a Reply