ราวปี พ.ศ. 2499 สังเวียร มีเผ่าพงษ์ หรือ พระมหาสังเวียร มีเผ่าพงษ์ พระสงฆ์ไทยซึ่งศึกษาอยู่ที่อินเดียรับนิมนต์ไปร่วมฉลอง ในวาระพุทธศาสนาครบรอบ 2,500 ปี ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในสมัยที่ไทยมีประกาศใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์เรียบร้อยแล้ว คณะสงฆ์เหล่านั้นไม่รู้ชะตากรรมว่าการเดินทางนี้จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล
ชีวิตของสังเวียร มีเผ่าพงษ์ ถือได้ว่าเป็นลูกผู้ชายชาวนาที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความอยู่รอดของตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรมซึ่งถูกกล่าวหาด้วยการกล่าวหาที่ไร้ข้อเท็จจริง จากที่คิดว่าจะเข้าเป็นศิษย์ตถาคต มาสู่ชีวิตฆราวาสที่ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน
พื้นเพก่อนบวชของนายสังเวียร เป็นเด็กหนุ่มในครอบครัวชาวนายากจน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2484 ตั้งแต่อายุ 13 ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2492 ศึกษาถึงชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยคในปี พ.ศ. 2498 เมื่ออายุ 25 ปี 5 พรรษา ระหว่างนั้นมีโอกาสเดินทางไปศึกษาที่สถาบันบาลีนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยที่สมัยนั้นถือเป็นพระไทยรูปแรกที่จบชั้นสูงสุดและเดินทางไปศึกษาบาลีเพิ่มในต่างประเทศ และยังสอบปาลีอาจาริยะ หลักสูตรบาลีสูงสุดของสถาบันได้เป็นที่ 1 ของบรรดาพระนักศึกษาต่างประเทศทั้งหมด
ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสังเวียร มีเผ่าพงษ์ มีเนื้อส่วนหนึ่งเล่าถึงเส้นทางชีวิตช่วงที่ยังศึกษาในอินเดีย และได้รับนิมนต์ไปฉลองครบรอบ 2,500 ปีพุทธศาสนาที่กรุงปักกิ่ง แต่เมื่อเดินทางกลับมาที่วัดกลับถูกควบคุมตัว กระบวนการสอบสวนนานถึง 4 ปี
คณะสงฆ์ไทยที่ศึกษาในอินเดียเดินทางไปจีน
เนื้อหาในหนังสือเล่าว่า ระหว่างที่พระมหาสังเวียร ศึกษาที่อินเดียก็เริ่มได้ยินข่าวคราวเรื่องความพยายามติดต่อรื้อสัมพันธ์ไทย-จีน แม้ว่าบรรยากาศการเมืองในยุคนั้นมีประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ออกมาแล้ว แต่ช่วงหลังรัฐบาลเริ่มมีท่าทีเปลี่ยนนโยบายให้เป็นสากลและเป็นกลางมากขึ้น ไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว แต่การปรับไปคบกับประเทศคอมมิวนิสต์แบบกระทันหัน อาจทำให้รัฐบาลไม่รู้กระแสว่าประชาชนจะมองอย่างไร รัฐบาลจึงสนับสนุนคณะต่างๆ ที่เดินทางไปจีนในระยะสั้นเพื่อหยั่งปฏิกิริยาประชาชนต่อท่าทีใหม่
เดือนกันยายน 2499 ผู้อำนวยการสถาบันบาลีนาลันทาได้รับโทรเลขจากพุทธสมาคมกรุงปักกิ่ง แจ้งการนิมนต์และแจ้งรายชื่อพระนักศึกษานานาชาติที่กำลังศึกษาให้เดินทางไปร่วมฉลองครบรอบ 2,500 ปีแห่งพระพุทธศาสนาที่กรุงปักกิ่ง โดยมีชื่อพระจากทั้งศรีลังกา, เนปาล, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว และมีชื่อพระไทย 4 รูป คือ พระมหามนัส พวงลำเจียก, พระมหานคร พยุงญาติ, พระมหาโอภาส เวียงเหล็ก และพระมหาสังเวียร มีเผ่าพงษ์
การเดินทางเป็นไปในนามชื่อคณะ International Buddhist Monks Delegation to China ซึ่งโดยรวมแล้วไม่น่าจะมีปัญหาทางการเมืองมาถึงประเทศต้นทางของนักศึกษา
อย่างไรก็ตาม ด้วย นโยบายของรัฐบาลไทยสมัยนั้นที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหนัก การเดินทางไปประเทศคอมมิวนิสต์ของไทยทุกคณะกลายเป็นเรื่องการเมืองไป หลายคณะถูกจับสอบสวนถึงขั้นควบคุมตัวกัน พระไทยที่เล่าเรื่องเหล่านี้ให้พระอินเดีย พระอินเดียต่างหัวเราะขบขัน เห็นว่าเป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ แต่สุดท้ายก็เกิดกับกลุ่มพระไทย
การเดินทางของคณะออกเดินทางจากนครกัลกัตตา ผ่านสหภาพพม่า อาศัยและเยี่ยมชมพม่า 3-4 วันจึงเข้าประเทศจีนทางเมืองคุนมิง แล้วเข้าปักกิ่ง
ผู้เขียนเล่าว่า ช่วงเวลานั้นมีคนไทยที่ลี้ภัยในจีนหลายคน อาทิ นายปรีดี พนมยงค์, นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ชาวไทยที่ลี้ภัยหลายรายเข้าพบคณะพระไทย เตรียมอาหารไทยมาถวาย แต่นายปรีดี ไม่เคยแวะมาหาพระไทยเลย มีผู้ไม่หวังดีนำมากล่าวหาว่าพระไทยพบนายปรีดี และร่วมกันวางแผนล้มรัฐบาลกันที่ปักกิ่ง
ถูกจับหลังกลับไทย
คณะอาศัยในจีนเดือนเศษก็เดินทางกลับอินเดีย ผ่านพม่า และเข้าอินเดียทางเมืองกัลกัตตา ระหว่างเดินทางผ่านพม่ามีผู้นำหนังสือพิมพ์ไทยมาให้อ่าน สื่อไทยตีพิมพ์เรื่องการเดินทางครั้งนี้ใหญ่โต มีทั้งคัดค้าน และเห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มองว่าจะได้รู้ความจริงว่าศาสนาในจีนแดงยังมีหรือไม่ ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่า จีนแดงเป็นอโคจร พระไม่ควรไปเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ สมควรให้คณะสงฆ์จับสึก พระจะต้องถูกล้างสมอง และอาจเลื่อมใสคอมมิวนิสต์ไปแล้วก็ได้ ผู้เขียนบันทึกว่า
“ผมต้องขอบันทึกให้ปรากฏไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ผมมีความมั่นใจในการกระทำของผมตลอดมาว่า มิได้เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองหรือสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์แต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะผมไม่เคยศึกษา ไม่เคยสนใจที่จะรู้หรือติดตามตำรับตำราว่าด้วยลัทธิดังกล่าวแต่อย่างใดเลย…”
ในช่วงที่พระมหาสังเวียร เดินทางกลับไทย เป็นสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจ และผู้บัญชาการทหารบก เมื่อกลับถึงวัดโพธิ์ที่กรุงเทพฯ ท่านเจ้าคุณอุบาลี เรียกพระมหาสังเวียร เข้าพบ แจ้งให้ทราบว่าตำรวจสันติบาลมาตามตัว จะนิมนต์ไปสอบปากคำ
รุ่งขึ้นพระเทพโสภณนำพระมหาสังเวียรเข้ามอบตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหา “บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”
ในสมัยนั้นไม่มีห้องขังพระโดยเฉพาะ สุดท้ายไปพักที่ชั้นล่างของตึกกอง 1 ที่คนเรียกกันว่า “ตึกคอมมิวนิสต์” ห้องที่จัดให้พักมีลักษณะห้องโถง นำโต๊ะทำงานของตำรวจมาเรียงกันเป็นที่นอน พักจำวัดที่ตึกนี้ประมาณเดือนเศษ แม้ตำรวจสันติบาลปฏิบัติต่อพระแบบดีที่สุด แต่ยังห้ามเยี่ยม ห้ามพูดคุยกับใคร เบิกตัวไปสอบสวนเวลาใดก็ได้
ผู้เขียนเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีนายตำรวจนอกเครื่องแบบรายหนึ่งเข้ามาในห้องมีอาการมึนเมาเล็กน้อย ทำทีว่าจะมาแวะคุยกับพ.ต.อ.จรูญ เคหะเจริญ ผู้รับผิดชอบการสอบสวน เมื่อเห็น พ.ต.อ.จรูญ สอบสวนอยู่จึงพูดขึ้นว่า “อ๋อ กำลังทำคดีนี้อยู่หรือ? อย่าสอบสวนให้เสียเวลาทำไม อ้ายพวกนี้ไม่ควรเอาไว้หรอก” จากนั้นก็วางปืนพกไว้บนโต๊ะข้างๆ พ.ต.อ.จรูญ เอ่ยขึ้นมาว่ารายนี้เกือบเรียบร้อยแล้ว นายตำรวจท่านนั้นถึงออกจากห้องไป
เวลาผ่านไปก็ได้จำพรรษา ณ สันติปาลาราม หรือกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 พรรษา โดยที่ยังไม่ทราบว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง และเจ้าของคดีก็ให้คำตอบได้ไม่ชัดเจน คำที่ตำรวจสันติบาลใช้มากที่สุดคือ “จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็แล้วแต่ผู้ใหญ่”
ถูกส่งฟ้องศาลทหารและการพิพากษา
วันหนึ่ง พ.ต.อ.จรูญ แจ้งว่า อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ หมายความว่าต้องลาสิกขาบท เพราะพระขึ้นศาลหรือเป็นจำเลยในศาลไม่ได้ พระสังเวียรร้องขอให้ลาสิกขาบทที่วัดตามธรรมเนียมประเพณีการสึกเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ทำให้ได้สึกที่วัดสามพระยา ยุติเส้นทางในวัด 20 ปีลง (เณร 8 ปี พระ 12 ปี) เมื่อสึกแล้วก็กลับมาเข้าห้องขัง
หลังจากศาลรับฟ้องแล้วก็เท่ากับกลายเป็นจำเลย ย้ายไปคุมขังที่สโมสรตำรวจ ได้พบกับผู้ต้องหาในคดีเดียวกันหลายคน ประสบการณ์ในการขึ้นศาลทหารถูกบอกเล่าไว้ว่า
“ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบทุกประตู นอกจากจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้แล้ว จำเลยยังไม่มีสิทธิ์แต่งทนายสู้คดีด้วย”
กระบวนการพิสูจน์ใช้เวลา 4 ปี 10 เดือน 14 วัน เทียบเท่ากับการเรียนปริญญาได้ 1 ใบ สำหรับวันอ่านคำพิพากษา ผู้เขียนระบุว่า ไม่สามารถจดจำได้ แต่ประเด็นสำคัญคือนาทีสุดท้ายที่ศาลพร้อมใจพิพากษายกฟ้องของโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยไป
การเลี้ยงพระรับขวัญที่ครอบครัวจัดต้อนรับครั้งนี้ แม่ของนายสังเวียร ยังต้องไปหยิบยืมเงินเพื่อนบ้าน เมื่อสภาพบ้าน ตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องในช่วงเวลานั้นไม่สู้ดีนัก ไม่มีเงินทองติดบ้าน
เส้นทางในสถานฆราวาสของนายสังเวียร ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองและฝ่ายเศรษฐกิจ โดยอดีตรองนายกรัฐมนตรี คุณบุญชู โรจนเสถียร ขอยืมตัวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาลเกือบหนึ่งปีระหว่างพ.ศ. 2523-2524
พ.ศ. 2526 มีตำแหน่งเลขานุการประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด และในขณะที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2526 มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย ประจำสำนักประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด
ที่มา : https://www.silpa-mag.com/
Leave a Reply