“หลักสูตรสันติศึกษา มจร” เผยวิจัยพัฒนา ยุวชนสันติภาพต้นแบบใต้-อีสาน เน้นสันติกรุณาและผู้นำยุวชนจิตอาสา
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ยุวชนมีบทบาทสำคัญต่อสร้างชุมชนและสังคมโลกให้มีความร่มเย็นเป็นสุข กระบวนการในการส่งเสริมและพัฒนายุวชน จึงมีคุณค่าและความสำคัญต่อการพัฒนายุวชนในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แกนหลักที่เป็นหัวใจของการพัฒนาหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุจึงได้ย้ำเตือนว่า ศีลธรรมของยุวชนคือสันติภาพของโลก
ตัวแปรและปัจจัยเหล่านั้น ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้หลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้สร้างชุมชนต้นแบบสันติภาพ หรือ Peace Lab ขึ้นมา โดยใช้งานวิจัยเป็นฐานในการออกแบบเครื่องมือเพื่อพัฒนายุวชนต้นแบบทั้งภาคใต้และภาคอีสาน เน้นให้ผู้นำยุวชนมีสันติกรุณา และมีจิตอาสาเพื่อทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ในสังคมโลก
จากแนวทางและทิศทางดังกล่าว พระมหาธีระยุทธ์ จิตฺตปญฺโญ พระนิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มจร ได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาผู้นำเยาวชนจิตอาสาต้นแบบ โดยใช้กลุ่มเป้าหมายจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดตรัง จำนวน 10 โรงเรียน ขณะที่นางสาวนรารัตน์ สงวนทรัพย์ นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มจร ได้วิจัยและพัฒนายุวนารีสันติภาพเพื่อให้เกิดสันติกรุณา โดยเน้นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่อำเภอปรางค์กู่ จำนวน 4 โรงเรียน
งานวิจัยทั้งสองเรื่อง เป็นการลงพื้นที่ทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างผู้เยาวชนจิตอาสาต้นแบบสันติภาพ และยุวนารีสันติภาพต้นแบบ หลังจากพัฒนาแล้ว ยุวชนทั้งสองภาคจะนำองค์ความรู้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติจริงเพื่อทดสอบเครื่องมือที่ได้จากการพัฒนาว่าเหมาะสมต่อการใช้งานจริงหรือไม่อย่างไร ก่อนที่ผู้วิจัยจะได้ปรับใช้เครื่องมือเพื่อเป็นองค์ความรู้ใหม่ต่อไป
“หลักสูตรสันติศึกษา มจร มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้นิสิตปริญญาเอก วางบทบาทของตัวเองให้เป็น “วิศวกรสันติภาพ” เพื่อเน้นให้ “นำธรรมไปทำ” โดยนำสันติภาพลงดิน และทำสันติภาพให้กินได้ ด้วยการนำงานวิจัยลงสู่การปฏิบัติจริงในชุมชน ครอบครัว โรงเรียน โรงพยายาบาล บริษัท องค์กรต่างๆ รวมถึงการช่วยฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” พระมหาหรรษา กล่าว
Leave a Reply