มุสลิมชายแดนใต้เสนอรัฐบาลให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ -ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ

     นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอข้อเรียกร้องต่อ พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้จากการรับฟังข้อเสนอจากผู้เห็นต่าง มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 4 ด้าน คือ

     1.ขอรัฐบาลไฟเขียว”วันศุกร์”เป็นวันหยุดราชการ ให้สอดคล้องกับเพื่อนบ้าน

     2.แนะทำป้ายหมู่บ้าน – ส่วนราชการ 3 ภาษา คือ ไทย มลายู ภาษาอังกฤษ

     3.ขอให้เพิ่ม ภาษามลายู เป็นภาษาราชการ

     4.เสนอตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อรองรับ พื้นที่พิเศษ-พ.ร.บ.กระจายอำนาจ, พ.ร.บ.การปกครองรูปแบบพิเศษ

1.ด้านศาสนา

          เรื่องการบริหารกิจการฮัจญ์ โดยขอให้ใช้บุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจ อย่างเช่น สมาพันธ์ฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการบริหารจัดการ และเสนอให้มีคณะทำงานร่างกฎหมายอิสลาม ในพื้นที่ 4 จชต. โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว และมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต

         อกจากนี้ เสนอให้ ถ่ายโอนภารกิจของ ตาดีกา ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอิสลาม ให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการอิสลาม หรือผู้นำศาสนา

2.ด้านเศรษฐกิจและสังคม

        เสนอให้มีการจัดระเบียบสังคม ให้สอดคล้องกับศาสนาและวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและผู้นำศาสนาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม การบริหารศูนย์กลางอาหารฮาลาล จะต้องยกระดับให้เห็นผลอย่างจริงจัง โดยประสานความร่วมมือของผู้นำศาสนา ภาครัฐ และภาคเอกชน ภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์มีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

3. ด้านการสร้างสภาวะแวดล้อม พหุวัฒนธรรม ที่เหมาะต่อสังคมและอัตลักษณ์ของพื้นที่

         เสนอให้รัฐบาล พิจารณา เรื่องการให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับเพื่อนบ้าน จัดให้มีป้ายหมู่บ้าน และส่วนราชการ 3 ภาษา คือ ไทย มลายู (ถิ่น,กลาง) และภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดประตูสู่อาเซียน

       อีกทั้งยกระดับภาษามลายูให้เป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง

         นอกจากนี้ เสนอให้มีการระบุอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ที่มีการยอมรับเป็นทางการ เช่น เชื้อชาติไทย, เชื้อชาติจีน ,เชื้อชาติมลายู , สัญชาติไทย ศาสนาอิสลาม เป็นต้น

4. ด้านการปกครอง

         เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ และมี พ.ร.บ.กระจายอำนาจ, พ.ร.บ.การปกครองรูปแบบพิเศษอยู่มากมาย

         จึงควรตั้ง คณะกรรมการร่วมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อนำกฎหมายที่มีอยู่มาศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกัน

*************************

เพจ -ข้อมูล ศูนย์ข่าว 3 จังหวัดชายแดนใต้

Leave a Reply