เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565 คณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาของจังหวัดเชียงรายโดยร่วมประชุมกับคณะสงฆ์และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม วัดห้วยปลากั้ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นำโดยนายสุชาติ อุสาหะประธานคณะกรรมาธิการนายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธาน นายรงค์ บุญสวยขวัญ รองประธาน นายทองแดงเบญจะปัก โฆษกคณะกรรมาธิการ นางสาวละออง ติยะไพรัช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ พร้อมทั้งอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาฯ และศิลปะและวัฒนธรรม ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้า โดยพระไพศาลประชาทร วิ. พระอาจารย์พบโชค เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง พระเมธีวชิโรดม หรือเจ้าคุณ ว.วชิรเมธี แห่งไร่เชิญตะวัน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เชียงราย รวมทั้งกรรมการวัดและตัวแทนชาวบ้าน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1 การขอตั้งวัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว (ครูบาบุญชุ่ม) ขณะนี้เรื่องการขออนุญาตผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบชื่อวัดแล้ว จะบรรจุวาระเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมในวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อตั้งวัดตามกฎหมายต่อไป
2 การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนเพื่อสร้างมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ และสร้างวัดไร่เชิญตะวัน ของมูลนิธิวิมุตตยาลัยลัย ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย
ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ชี้แจงว่าที่ดินทั้งหมดประมาณ 140 ไร่ แยกเป็น 15 ไร่ขอตั้งวัดตามกฎหมาย ส่วน 113 ไร่ มูลนิธิขอใช้ประโยชน์อนุญาตครั้งละ 30 ปี ขณะนี้เอกสารครบถ้วนแล้ว รอการพิจารณาของอนุกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงฯ ซึ่งจะเข้าพิจารณาประมาณวัน ที่ 23 ธันวาคม หลังจากนั้นเข้าประชุมพิจารณาในคณะกรรมการชุดใหญ่มีปลัดกระทรวงเป็นประธาน คาดว่าประมาณเดือนมกราคม 2566 จะผ่านการพิจารณา ในส่วนของจำนวน 12 ไร่ ตั้งอยู่ในโซน C เอกชนโดยมูลนิธิไม่สามารถเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ได้มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นผู้แทนเพื่อสร้างเป็นอุทยานธรรมะ
พระเมธีวชิโรดม ได้กล่าวว่าคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมมีหัวใจเป็นพระโพธิสัตว์ ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และในวันที่ 29 มกราคม 2566 อาตมาจะมีอายุครบ 5 ทศวรรษ อายุครบ 50 ปีมจะขอเชิญคณะกรรมาธิการมาร่วมติดตามผลการดำเนินงานอีกครั้งหนึ่ง
3.การขออนุญาตใช้พื้นที่ของทางราชการเพื่อสร้างเสนาสนะของวัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย โดยที่ประชุมพิจารณาว่าวัดได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ใบอนุญาตใบแรกขอตั้งวัด จำนวน 15 ไร่ ใบที่ 2 จำนวน 35 ไร่ ใบที่ 3 จำนวน 14 ไร่เศษ ได้ขออนุญาตตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและโรงพยาบาล
ใบอนุญาตทั้ง 3 ใบไม่สามารถออกรวมเป็นใบเดียวกันได้ เนื่องจากใช้กฎหมายบังคับคนละฉบับกัน ดังนั้น ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินที่จะหมดอายุในปี 2567 จำนวน 35 ไร่นั้น ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เชียงราย สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย และผู้แทนของวัดห้วยปลากั้ง จะร่วมกันสำรวจแนวเขตที่ดินใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นติ่งอยู่ต่อจากที่ดินเดิมให้ถูกต้อง จึงทำให้ได้รับใบอนุญาตมีที่ดินจำนวนเพิ่มขึ้นตามข้อมูลของวัด
หลังจากนั้น พระอาจารย์พบโชคได้นำคณะกรรมาธิการเยี่ยมชมการสังคมสงเคราะห์ให้การศึกษาแก่เด็กชนเผ่าที่กำพร้า โดยจัดที่พัก จัดให้ได้รับการศึกษา และให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อให้เด็กและเยาวชนนั้นเติบโตเป็นคนดีและคนเก่งของประเทศต่อไป
ต่อมาวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 คณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง จารีตประเพณีท้องถิ่นกับวิถีชุมชน ณ โรงเรียนแม่จันวิทยาคม ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยนายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธาน นางสาวละออง ติยะไพรัช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายทองแดง เบญจะปัก โฆษกคณะกรรมาธิการ พร้อมทั้งอนุกรรมาธิการด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ และศิลปะและวัฒนธรรม ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยวิทยากรให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
Leave a Reply