คณะสงฆ์ “ควรจำกัดที่พักสงฆ์” หรือไม่!!

วันที่ 7 มีนาคม  2567  เฟชบุ๊ค Ch Kitti Kittitharangkoon ซึ่งเป็นเฟชบุ๊คส่วนตัวของ นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี ได้ตั้งคำถามว่า “คณะสงฆ์ : ควรจำกัดที่พักสงฆ์ หรือไม่!! “ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ที่พักสงฆ์ หมายถึงสถานที่พำนักพักพิงชั่วคราวของพระภิกษุสามเณร ซึ่งยังมิได้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ที่พักสงฆ์ มิใช่เป็นสำนักสงฆ์หรือวัดซึ่งได้รับการอนุญาตตั้งเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เป็นแต่เพียงที่พักชั่วคราวเท่านั้น และไม่มีสิทธิใช้คำว่า “ วัด” หรือ “ สำนักสงฆ์” นำหน้าสถานที่ ใช้ไปก็ไม่ถูกต้อง

ที่พักสงฆ์ หากดำเนินการขอสร้างวัดและขอตั้งวัดไปตาม “กฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พ.ศ. 2559 ” เมื่อได้รับอนุญาตให้สร้างวัดและอนุญาตการตั้งวัดถูกต้องตามลำดับแล้ว แม้จะไม่มีวิสุงคามสีมาหรือโบสถ์ ก็จัดเป็นสำนักสงฆ์หรือวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ทีนี้มากล่าวถึงเรื่อง คณะสงฆ์ควรจำกัดที่พักสงฆ์ หรือไม่?

ที่ผู้เขียนตั้งประโยคคำถามขึ้นมาข้างต้น ไม่ได้มีเจตนาที่ ไม่อยากให้ชาวพุทธสร้างและตั้งวัดแต่อย่างใด ให้แยกประเด็นนะครับ อย่าเพิ่งดราม่า แต่ที่ยกขึ้นมา เพราะในปัจจุบัน มีที่พักสงฆ์ที่คณะสงฆ์ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นที่พักสงฆ์ และหรือประกาศเป็นที่พักสงฆ์แล้ว ปรากฎมีพระภิกษุละเมิดพระวินัยและหรือไม่เอื้อเฟื้อต่อกฎมหาเถรสมาคม มติ ประกาศ คำสั่ง หรือระเบียบมหาเถรสมาคม ตลอดจนไม่เอื้อเฟื้อต่อกฎหมายบ้านเมือง อยู่เนืองๆ อีกทั้งบางแห่งไม่ปรากฎว่ามีหัวหน้าที่พักสงฆ์กำกับดูแลแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

จนผู้เขียนเกิดความรู้สึกว่า คณะสงฆ์ควรจำกัดการมีขึ้นของที่พักสงฆ์ ที่ไม่ได้มีเจตจำนงค์ว่า “จะสร้างวัดขึ้นมาในอนาคต” ดีกว่ามั้ย

“แหล่งข่าว” จากคณะอนุกรรมาธิการศาสนาท่านหนึ่งระบุว่า ปัจจุบัน ที่พักสงฆ์เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ สวนทางกับจำนวนพระภิกษุที่ลดลง โดยเฉพาะการเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ที่ดินของรัฐ โดยไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับอนุญาตของพระสงฆ์  รัฐบาลหลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา แต่ปัญหามันแก้ไม่จบไม่สิ้น จากข้อมูลของภาครัฐระบุว่าตอนนี้มีที่พักสงฆ์ทั่วประเทศมากกว่า 1 หมื่นแห่ง แต่เท่าที่เรามีข้อมูลปัจจุบันมีที่พักสงฆ์อยู่ในเขตที่ดินของรัฐ เช่น เขตอุทยาน เขตป่าไม้ สปก. เป็นต้น ประมาณ 8 พันแห่ง ซึ่งการเข้าไปอาศัยอยู่แบบนี้ ส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย  ทางคณะอนุกรรมาธิการศาสนาก็พยายามช่วยเจรจาให้หน่วยงานภาครัฐขอขึ้นทะเบียนแล้วขออนุโลมให้อยู่ได้ 15 ไร่  ซึ่งทางหน่วยงานรัฐท่านก็ยอมให้ เพียงแต่ว่าหากจะสร้างอะไรเพิ่มเติมต้องบอกเขาด้วย

“ตอนนี้เท่าที่ทราบที่พักสงฆ์จากจากเกือบ 8 พันแห่ง  ยังแก้ปัญหาได้ไม่ถึง 3  พันแห่ง อันนี้เรายังไม่ได้นับรวม สำนักสงฆ์หรือวัดที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินรัฐ ที่ร้องมาที่คณะอนุกรรมาธิการศาสนา ขอให้แก้ปัญหาซึ่งมีทุกสัปดาห์อีกด้วย การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสกลนคร ที่สั่งการว่าจะแก้ปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ ตอนนี้ กำลังรอดูว่าทางรัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไร เพราะปัญหาที่ดินวัด สำนักสงฆ์ หรือ ที่พักสงฆ์ กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของคณะสงฆ์ไปแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งแก้ปัญหา ไม่ให้บานปลายในอนาคต..”

Leave a Reply