เอกอัครราชทูต EU ประจำประเทศไทยเข้าพบ “ปลัดมหาดไทย” หารือมาตรการดูแล “ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา”

วันที่ 25 พ.ค. 65 เวลา 14:00 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าหารือการดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวที่พำนักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ โดยมี ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ ผภร. ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสหภาพยุโรป ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ ผภร. ที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ทั้ง 9 แห่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 รวมเป็นเวลากว่า 27 ปี ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สุขาภิบาลน้ำ การฝึกอาชีพ การคุ้มครองผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนพิการ และการป้องกันและรักษาโควิด-19

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินงานด้านผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ จำนวน 9 แห่ง มีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ประมาณ 77,000 คน และชื่นชมสหภาพยุโรปที่ได้สนับสนุนการฝึกทักษะวิชาชีพ และการเสริมทักษะที่จำเป็นอื่น ๆ ให้แก่ ผภร. ก่อนการเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจ และก่อนการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สาม สำหรับการทำงานภายนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ผภร. ควรเดินทางกลับประเทศต้นทางก่อนเพื่อจัดทำเอกสารประจำตัว และเข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้ MOU ระหว่างประเทศทั้งสอง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียน (ผภสม.) ที่อพยพเข้ามาในห้วงตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ให้ความข่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่กลุ่มดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยมีการบูรณาการในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร และพลเรือน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลด้านความปลอดภัย ด้านที่อยู่อาศัย อาหารการกิน สุขภาพอนามัย โดยขอยืนยันว่าการดูแลคนทั้งสองกลุ่มนั้น รัฐบาลไทยและกระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายการผลักดันกลับประเทศต้นทางโดยไม่สมัครใจ

 “กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการบริหารจัดการดูแลพื้นที่และให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ทั้ง 9 แห่ง ให้ได้มีคุณภาพชีวิตทีดีตามหลักมนุษยธรรม และขอขอบคุณสหภาพยุโรปที่ได้ให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯได้รับโอกาสด้านการพัฒนาทั้งด้านการศึกษา ภาษา และทักษะชีวิต เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองของโลกต่อไป โดยขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประเทศที่สาม และประเทศที่ประสงค์จะรับ ผภร. เปิดรับ ผภร. ไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มเติม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply