‘สุวิทย์’มอบ สกสว.ถอดรหัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่ภาคปฏิบัติเป็นฐานคิดนำพาประเทศไปข้างหน้า

วันที่ 14 ส.ค.2562 ที่โรงแรมสุโกศล พญาไท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเวทีสาธารณะ “Wisdom Movement : ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวเปิดงานและนำเสนอนโยบาย “การวางรากฐานประเทศไทยสู่อนาคตด้วยงานวิจัย” ตอนหนึ่งว่า

ขณะนี้ประเทศไทยจะต้องกล้าคิดและก้าวต่อไป โดยการปรับเปลี่ยนประเทศด้วยภูมิปัญญาของฐานราก คือ ในทศวรรษที่ 3 ของการวิจัยท้องถิ่นมาถึงจุดที่จะต้องคิดถึงการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ซึ่งในอนาคตที่ผ่านมาประเทศไทยติดกับดักมากมายทั้งเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ รายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ตนคิดว่าหัวใจสำคัญของปัญหาอยู่ที่ความไม่สมดุล ระหว่าง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีกินดีทางสังคม สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย และการปิดกั้นภูมิปัญญามนุษย์ เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยจึงอยู่ในยุคที่พยายามทำให้ประเทศทันสมัย

จากนี้ ตนคิดว่าเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่เน้นความทันสมัย เป็นประเทศที่เน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ สร้างความสมดุลในทุกภาคส่วนทั้งระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับเทคโนโลยี โดยเราจะต้องมีกรอบทางความคิดที่จะทำให้นำพาประเทศและโลกไปข้างหน้าได้ ซึ่งประเทศเรามีอยู่แล้ว คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเชื่อมโยงกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติได้อย่างลงตัวและพอดี ดังนั้นหน้าที่สำคัญของ สกสว. คือ การถอดรหัสเรื่องนี้ออกมาให้ได้ เพื่อนำไปสู่เรื่องการบริหารจัดการ และการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับเงื่อนไขจำเป็นที่จะทำให้เราไปสู่โลกที่ต้องการ คือ การเปลี่ยนแนวคิดของสังคมไทยจาก ME Society ให้เป็น WE Society แทนที่จะมองแต่เรื่องของตัวเอง แต่จะต้องมองสังคมในองค์รวม สร้างบรรยากาศของการเติบโตเพื่อให้ปัญญาของมนุษย์เกิดขึ้นมา ระบบงานวิจัยก็ต้องเปลี่ยนจากการให้สิ่งจูงใจ เป็นการให้แรงบันดาลใจให้คนคิดที่จะทำสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ให้เป็นภูมิปัญญามหาชน เป็นภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งหากเปลี่ยนได้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เกิดโครงสร้างสังคมทางปัญญาอย่างแท้จริง เพราะการที่ท้องถิ่นจะเติบโตได้ หรือประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยพลังจากคน แม้แต่มหาวิทยาลัยก็จะต้องลงไปทำงานที่ตอบโจทย์สังคม ประเทศ ไม่ใช่ตอบโจทย์ตัวเอง ดังนั้นตนคิดว่าเรื่องเหล่านี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าโจทย์การวิจัยของทศวรรษจากนี้ไป คือ การเปลี่ยนให้เป็นสังคมของเราให้ได้ ถ้าหากเราไม่สามารถเอาชนะเงื่อนไขนี้ได้ โอกาสที่เราจะทำงานวิจัยในท้องถิ่นในลักษณะที่เป็นกลุ่มๆ แบบเดิมก็มีพลัง แต่ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ก็ยังคงอยู่ ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันตอบโจทย์นี้ อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่อในการองค์รวม พลังของการถักทอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ แม้ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง แต่เราภาพที่อยู่ตรงกลางที่ชัดเจนอยู่แล้ว ใน 4 รูปแบบ ที่สอดคล้องกันในการตอบโจทย์ประเทศและโลก ได้แก่ การวิจัยเพื่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจฐานราก การวิจัยเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และสถาบันองค์ความรู้ และการวิจัยตอบโจทย์ประเด็นท้าทาย”รมว.อว.กล่าว

ทางด้านศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. ขึ้นกล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมเผยข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) มีบทบาทและภารกิจใหม่ จาก สกว. ปรับเปลี่ยนบทบาทจากองค์การที่ทำหน้าที่ “การบริหารจัดการการให้ทุน” (Funding Agency) ไปสู่องค์กรที่ทำหน้าที่ “การบริหารนโยบายและการจัดสรรทุน” (Policy Deployment and Budget Allocation) ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับ สกว. ในการทำงานรับใช้ประเทศในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาด้านระบบวิจัยที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ในขณะนี้ นับเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันด้านสถานการณ์ของประเทศที่ผ่านมา รัฐบาลมีเป้าหมายด้านการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งนับเป็นเป้าหมายหลักของการสนับสนุนการวิจัยและการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ สำหรับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มาโดยตลอด คือ การใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นสามารถจัดการกับปัญหาของตนเอง และมีทักษะและเครื่องมือที่สามารถพัฒนาตนเองและชุมชนได้อย่างต่อเนื่องก่อเกิดเป็นวัตกรรมการจัดการชุมชนท้องถิ่น สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และต่อชุมชนได้ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีความต่อเนื่อง วาระครบรอบ 20 ปีของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้ร่วมกับเครือข่ายผู้ประสานงาน และนักวิจัยชาวบ้าน นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีองค์กรหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จึงได้จัดให้มีการประชุม (Forum) งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 20 ปี ระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษที่ 3 ในระบบวิจัยใหม่ ขึ้นเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน ภายใต้ concept : wisdom movement โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิด “ระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทศวรรษที่ 3 ในการพัฒนาประเทศ”

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ มากมาย อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการ “20ปี งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” , การนำเสนอข้อสรุป 20 ปี จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน, การเสวนากระบวนการสร้างคน สร้างความรู้ สู่นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น, และการปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยงานวันนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมมากกว่า 300 คน

Cr.เพจสกสว.

Leave a Reply