กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงรับเป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำพระไตรปิฏกฉบับภาษาอังกฤษ

วันที่ 23 สิงหาคม 65 พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ ว่า

ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำพระไตรปิฏก ฉบับภาษาอังกฤษนั้น

บัดนี้ ทรงรับเชิญทรงเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. ในฐานะประธานอนุกรรมการโครงการจัดทำพระไตรปิฏก ฉบับภาษาอังกฤษ ได้เมตตาว่าให้สามารถเผยแพร่เอกสารที่เป็นมงคลฉบับนี้ได้

โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ เป็นการดำเนินการเป็นครั้งแรก ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และศูนย์พหุภาษาการแปลและล่ามแห่งอาเซียน โดยนำพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐพระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย 45 เล่ม แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่เป็นต้นฉบับในการแปล และเทียบเคียงเนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับอื่นเพื่อให้เนื้อหาถูกต้อง สมบูรณ์ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานสรรหาผู้แปลทั้งไทยและต่างประเทศและคณะทำงานกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานในการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ
โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ไทย หากดำเนินการสำเร็จไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่แปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษครบทั้ง 45 เล่ม

ดังนั้น เพื่อถวายพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และในปี พ.ศ. 2565 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมการศาสนา (ศน.) ได้กำหนดกรอบและเป้าหมายการดำเนินงานแปลพระไตรปิฎกฯ เป็นภาษาอังกฤษให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและทั่วโลกได้รับทราบผลสำเร็จของการดำเนินงานอันสำคัญในครั้งนี้

สาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา บูรณาการร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ โดยใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฐเป็นต้นฉบับในการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และขอให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการในการดำเนินโครงการในนามรัฐบาล
2. ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 มีมติเห็นชอบตามที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เสนอโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) เพื่อถวายพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย และประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย และเพื่อเป็นการเผยแผ่และสืบทอดพระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก รวมทั้งเห็นชอบตั้งแต่คณะกรรมการอำนวยการจัดทำโครงการฯ โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

3.ขั้นตอนการดำเนินงานระหว่าง มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย

(1) เดือนมิถุนายน 2562 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เสนอขออนุมัติโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบดำเนินโครงการในนามรัฐบาล(2) พ.ศ. 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดทำโครงการฯ รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ โดยคณะกรรมการที่ผ่านการเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เพื่อวางแผน เร่งเตรียมการและดำเนินงานในระยะเริ่มต้น
(3) พ.ศ. 2563 – 2564 ดำเนินการแปลพระไตรปิฎก ภาษาบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฐเป็นภาษาอังกฤษ โดยคณะกรรมการที่ผ่านการเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
(4) พ.ศ. 2564 – 2565 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์พระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ

Leave a Reply