แนะใช้ Active learningสร้างนวัตกรรมการศึกษาระยอง 25 ร.ร.กล้าเปลี่ยน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ณ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โดยนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ กับตัวแทนภาคีร่วมขับเคลื่อนในจังหวัด และภาคีการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยานนั้น

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเพื่อรับใช้สังคม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดระยองและศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการมุ่งหวังที่จะเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างรอบด้าน ทั้งทัศนคติ ทักษะ ความรู้ เพื่อให้เด็กไทยมีคุณภาพ มีสมรรถนะความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 โดยในส่วนของจังหวัดระยองได้ทดลองปฏิบัติการ “โรงเรียนกล้าเปลี่ยน” ในโรงเรียนต้นแบบจำนวน 25 โรงเรียนในปีแรก ภายใต้หลักการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน (4.0 Whole School Transform) เพื่อสร้าง Smart Schools โดยปรับพื้นฐานระบบการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนเจ็ดด้านให้แก่ผู้อำนวยการ ครู เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ถึงคุณค่าและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ประกอบด้วย

* การเปลี่ยนแนวคิดวิสัยทัศน์และสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษาจากระบบปิดไปสู่ระบบเปิด คือ ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริงและมีความหมายต่อชีวิต
* เสริมสร้างวิสัยทัศน์ผู้อำนวยการโรงเรียนให้สนใจด้านวิชาการเพิ่มขึ้น
* ปรับบทบาทผู้อำนวยการให้เป็นโค้ชหรือครูของครู
* ปรับบทบาทและท่าทีของครูให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้
* ปรับหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนจากการบอกสอนให้เป็น Active learning
* จัดพื้นที่การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้
* ปรับระบบการวัดและประเมินผลให้เป็นไปเพื่อการพัฒนามากกว่าการตัดสินผู้เรียน

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้นวัตกรรมหลักสูตรฝึกอบรมปฏิบัติการผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนต้นแบบกล้าเปลี่ยน (Mini M.Ed. in Holistic Education) ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณได้พัฒนาขึ้น ขณะเดียวกันโครงการวิจัยได้เติมนวัตกรรมพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และบูรณาการ พร้อมทั้งติดตั้งระบบประเมินในระดับห้องเรียนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน เริ่มจากประถมหนึ่ง ประถมสี่ และมัธยมหนึ่งในปีการศึกษา 2562 และขยายการดำเนินการไปทีละชั้นในปีถัดไป เพื่อผลลัพธ์คือการสร้าง Smart Kids และขยายผลสู่ Smart People ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดต่อไป

cr.เพจ สกว.

Leave a Reply