ในหลวงโปรดเกล้าให้ “ประธานองคมนตรี” ถวายทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยจำนวน ๓๕๐ รูป

วันที่  ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ วานนี้ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการถวายทุนการศึกษาพระราชทานของโครงการ ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๗ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ เวลา ๑๔.๐๐ น ซึ่งมีพระภิกษุสามเณร ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับการถวายทุนการศึกษาพระราชทาน ดังนี้

๑. พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในนามผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม พระนักเทศน์ ทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๕

๒. พระธรรมวชิรเมธี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษา พุทธโฆส นครปฐม ในนามผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๕

๓. พระธรรมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ในนามผู้รับผิดชอบ โครงการฝึกอบรมพระธรรมจาริกทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๕

๔. พระธรรมวชิรจินดาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในนามผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมพระธรรมกถิกาจารย์ทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๒ และโครงการฝึกอบรมพระคณาจารย์ด้านกรรมฐาน ทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๒

๕. พระนิสิตทุนระดับอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย รวมจำนวน ๓๕๐ ทุน ดังนี้

– ระดับปริญญาเอก จำนวน ๔๖ รูป

– ระปริญญาโท จำนวน ๑๐๙ รูป

-ระดับปริญญาตรี จำนวน ๑๙๕ รูป

๖. พระนิสิตทุนศึกษาบาลีชั้นสูง กองบาลีสนามหลวง ในระดับเปรียญธรรม ๖ ประโยค จำนวน ๔๙ รูป

การนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายชัชพล ไชยพร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนา (นักวิชาการศาสนาเชี่ยวชาญ) และ นายภาณุพงศ์ คงเชื้อจีน ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา ร่วมพิธี พร้อมด้วย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมปฏิบัติงานพิธีฯ

โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งขึ้น ด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการสนับสนุนพระสงฆ์ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาพุทธธรรมชั้นสูง ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้ด้วยตนเอง และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องจนแตกฉานในพระธรรม แล้วนำไปสั่งสอนพุทธบริษัทต่อไปได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน การบำรุงพระสงฆ์ด้วยวิธีการนี้จะเป็นทางสำคัญที่จะช่วยจรรโลง และเผยแผ่ พระสัทธรรมได้ถูกต้องตามพระไตรปิฎกสืบต่อไป ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชกรณียกิจนี้สืบต่อมา เพื่อพัฒนาความรู้ และคุณภาพพระสงฆ์ ให้เป็นหลักทางใจของประชาชน ให้พระสงฆ์เป็นประโยชน์ในสังคมไทยสืบไป

Leave a Reply