เล่าเรื่อง : หันคาอำเภอนำร่องแห่งความสุข ทำ “มัน” ให้มีรอยยิ้ม  

“อำเภอหันคา”จังหวัดชัยนาทเป็นหนึ่งในสิบที่กระทรวงมหาดไทยคัดเลือกให้เป็นอำเภอนำร่องเพื่อเป็นแบบอย่างในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไทยโดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นตัวขับเคลื่อนแบบร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย

อำเภอหันคา เดิมชื่อว่า อำเภอบ้านเชี่ยน ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 ได้ย้ายมาตั้งที่แห่งใหม่ ณ ตลาดหันคา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหันคา เหตุที่เรียกว่า “หันคา” มีที่มาประการแรก คือ มีตำนานเล่าว่ามีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มาล่มขวางลำน้ำในลักษณะหันและคาตรงบริเวณท่าบ้านหลวงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอ และประการที่สองมาจากคำว่า “ลานคา” ตามลักษณะพื้นที่ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นที่ราบกว้าง มีหญ้าคาขึ้นปกคลุมโดยทั่วไป ลักษณะภูมิประเทศเกือบทั้งร้อยเป็นที่ราบลุ่ม มีเพียงเนินเขาปรากฏอยู่ไม่กี่แห่ง

 

“อำเภอหันหา” เป็นอำเภอสุดท้ายใน 10 อำเภอนำร่องที่ “ทีมข่าวพิเศษ” ลงพื้นที่พูดคุยกับนายอำเภอในฐานะ “ผู้นำแห่งการเปลี่ยน” ในระดับพื้นที่ และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีที่รวมกันเป็นพลังประเภท “ระเบิดจากภายใน” ร่วมกันขับเคลื่อนนำพาอำเภอหันคาให้เป็นอำเภอนำร่อง เป็นอำเภอแห่งความสุข ภายใต้สโลแกนว่าทำ “มัน” ให้มีรอยยิ้ม

“อดิศร เกิดโต”  นายอำเภอหันคา พร้อมกับภาคีเครือข่ายทั้งพระสงฆ์ นายก อบต.  ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชน กลุ่มหนึ่งรอนั่งคุยกับทีมงานเราอยู่ ณ ศูนย์เรียนรู้การแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งเท่าที่สังเกตแปลงแห่งนี้มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมสนับสนุน ในขณะที่นายอำเภอหันคา เล่าความเป็นมาของการเป็นอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และการทำกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ว่า

ตอนที่กระทรวงมหาดไทย มีโครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทางอำเภอก็ได้ส่งผลงานเพื่อไปคัดเลือกระดับจังหวัดและได้เป็นตัวแทนจังหวัด ในระดับเขต ซึ่งต่อมาก็ได้รับให้เป็น 1 ใน 10 อำเภอนำร่องจากกระทรวงมหาดไทย  โครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว ตอนที่ไปอบรมพร้อมกับทีมภาคีเครือข่าย 10 คน ปรึกษากันว่าอำเภอหันหามีปัญหาอะไรที่จะต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด ซึ่งเรามีความคิดตรงกันว่าคือปัญหาเรื่องรายได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งขอบเขตมันกว้าง แล้วเราจะช่วยแก้ไขในเรื่องใดก่อน เพราะระยะเวลาที่กระทรวงกำหนดไว้น้อย  จึงคิดถึงเกษตรกรก่อน เพราะผลผลิตที่เกษตรกรได้ พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาซื้อขายเลย จึงตั้งโครงการทำ “มัน” ให้มีรอยยิ้ม มันในที่นี้คือ มันสำปะหลัง จึงได้คิดวิธีการลดต้นทุนโดยการทำโครงการ ทำ “มัน” ให้มีรอยยิ้มขึ้น 4 กิจกรรม คือ

กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมให้มีการผลิตถ่านหุงต้มและถ่านอัดแท่งคุณภาพสูงจากเหง้ามันสำปะหลังและวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรอื่น ๆในพื้นที่ นอกจากจะเอาเหง้ามันมาผลิตเป็นถ่านแล้ว ยังเอาซังข้าวโพด ผักตบชวามาผลิตเป็นถ่านได้ด้วยเป็นถ่านที่ติดทนนานไม่แตกปะทุให้ไฟสม่ำเสมอไร้สารก่อมะเร็งในร่างกายซึ่งได้ทำเป็นผลลิตภัณฑ์ของอำเภอวางจำหน่ายแล้วชื่อว่า “หันคาชาร์โคลฟิล”  กิจกรรมที่ 2 เป็นการจัดตั้งแปลงปลูกข้าวต้นแบบ และปลูกมันสำปะหลังต้นแบบโดยใช้เกษตรอินทรีย์ในการลดต้นทุนการผลิตและใช้โคก หนอง นาโมเดล ในการเพิ่มผลผลิตน้อมนำหลักทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาผสมผสาน โครงการนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องเกษตรกร เราจึงทำแปลงมันสำปะหลังตัวอย่างขึ้นมาในศูนย์เรียนรู้โดยใช้เกษตรอินทรีย์ในเนื้อที่ 50 ไร่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองแปลงมันสำปะหลังอยู่ แต่แปลงข้าวเราทำสำเร็จแล้วสามารถลดต้นทุนได้จากเดิมไร่ละ 4,000-5,000 บาท เหลือไร่ละ 500 บาท และใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ของทั้ง 8 ตำบล 100 หมู่บ้าน ตอนนี้ได้แกนนำของหมู่บ้านละ 8 คน ทั้งอำเภอรวม 1,277คน กิจกรรมที่ 3 ส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยใช้ส่วนผสมจากใบมันสำปะหลังและวัตถุดิบทางการเกษตรอื่น ๆ ในพื้นที่ กิจกรรมที่ 3 นี้เป็นการร่วมมือระหว่างราชการกับเอกชนในพื้นที่ เป็นผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังที่ติดอันดับ1ใน 10 ของประเทศ ตอนนี้ในการรับซื้อหากเป็นใบตากแห้งในราคาตันละ 3,000 บาท ใบ กิ่ง ก้าน และยอดลงมา1ฟุตในราคาตันละ 600 บาท เหง้ามันสำปะหลังราคาตันละ 400 บาท และ กิจกรรมที่ 4 ส่งเสริมพัฒนาให้อำเภอหันคาเป็นอำเภอพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรอินทรีย์ภายในปี 2567 เป็นกิจกรรมที่การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของอำเภอสร้างแกนนำเครือข่ายการขับเคลื่อนและขยายผลมีการจัดตั้งธนาคารจุลินทรีย์และน้ำหมัก ดังนั้นจึงจัดตั้งธนาคารจุลินทรีย์น้ำหมักขึ้นมาและใครที่ต้องการใช้ก็สามารถมาเบิกที่นี่ไปใช้ก่อนได้ในช่วงแรกและขยายผลไปยังทุก อบต.และเทศบาล เพื่อขยายศูนย์ให้พี่น้องเกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย

“การเป็นอำเภอนำร่องผมมองว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากมีกิจกรรมเยอะ ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยขับเคลื่อน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายให้เกิดผลสำเร็จ เราได้พยายามวางแผน และจัดการประชุมติดตามทุกเดือน แต่เมื่อเป็นโครงการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขกิจกรรมอำเภอนำร่องก็ไม่ได้ทิ้ง เรานำเอาโครงการ ทำ “มัน” ให้มีรอยยิ้มเอามาอยู่ในกิจกรรม ทำหันคาให้มีรอยยิ้ม เราวางระบบขับเคลื่อนในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารายได้  พัฒนาคุณภาพชีวิต การแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด การพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน การดูแลปัญหาภัยพิบัติ การศึกษา ทุกครั้งที่เกิดปัญหาทุกคนจะดำเนินการตามระบบที่วางไว้ ”

นอกจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว “นายอำเภอ” ยังได้เล่าต่อถึงการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่โดยเฉพาะการสร้างและซ่อมแซมบ้านให้กับประชาชนที่เข้าข่ายว่ายากจนถึง 91 หลังคาเรือน และหางบประมาณในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเป็นอำเภอนำร่องร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 4 ล้านบาท โดยเฉพาะคณะสงฆ์ได้เข้ามาเติมเต็มเรื่องด้านสาธารณสงเคราะห์ได้มากโดยเฉพาะ พระมงคลกิจโกศล หรือ หลวงปู่ฤาษีตาไฟ รองเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และเจ้าอาวาส วัดเทพหิรัญย์ อำเภอหันคา  และ “เจ้าคณะอำเภอหันคา” พระมหาวิสัน จนฺทโชโต  เจ้าอาวาสวัดทับขี้เหล็ก ที่ร่วมทีมกับนายอำเภอไปอบรมที่ศูนย์ตลอด 4 คืน 5 วันด้วย

“พระมหาวิสัน จนฺทโชโต”  เจ้าคณะอำเภอหันคา  ซึ่งได้เมตตามาร่วมพูดคุยกับทีมงานด้วยเล่าว่า นายอำเภอและเครือข่ายไปหาหลายครั้ง บอกว่าจะทำโครงการที่จะช่วยเหลือประชาชน ตอนแรกก็ยังเฉย ๆ อยู่ เพราะจะทำจริงหรือไม่จริงก็ยังไม่รู้เลย สังเกตอยู่ระยะหนึ่งเห็นว่านายอำเภอและเครือข่ายได้ทุ่มเทอย่างจริงจัง สิ่งที่ได้ทำนั้นเกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริง เราในฐานะพระก็รู้สึกเห็นด้วย จึงเริ่มที่จะร่วมมือด้วย และมีโอกาสได้ไปเข้าอบรม จึงรู้เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าก็มีประโยชน์เยอะ ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยเห็นคุณค่าของธรรมชาติเหล่านี้ ทำเกษตรแต่เป็นหนี้  เนื่องจากราคาข้าวถูกลง แต่ราคาปุ๋ยและต้นทุนด้านวัสดุอุปกรณ์มีราคาสูงขึ้น รายได้ที่ได้มาก็ไม่พอใช้ จึงให้ความร่วมมือกับนายอำเภอและเครือข่ายในการประสานงาน แนะนำและพยายามเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้านให้เข้าร่วมโครงการกับนายอำเภอและเครือข่าย ในฐานะที่เป็นเจ้าคณะอำเภอก็ได้ให้ท่านเจ้าอาวาสแต่ละวัดช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่กับชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ ทางพระเราก็ช่วยแนะนำได้อย่างนี้ และพูดอยู่เสมอว่า ใครที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ถือเป็นความโชคดี เราไม่ได้ทำคนเดียว ถ้าทำคนเดียวอาจไปไม่รอด แต่หากมีเครือข่ายก็ไปรอด เพราะมีเครือข่ายที่คอยให้ความรู้ ให้คำแนะนำ หากเจอปัญหาก็มีคนคอยช่วยเหลือ คอยให้การแก้ไข

“รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน โครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จะสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ช่วยลดค่าครองชีพ เห็นประโยชน์และคุณค่าจากธรรมชาติเอามาช่วยได้ เช่น การเผาถ่าน การทำอาหารสัตว์จากใบมันสำปะหลัง สิ่งใกล้ตัวเอามาสร้างรายได้ แทนที่จะทิ้งไปเปล่าๆ กว่าจะยอมมาเข้าร่วมได้ก็ศึกษาข้อมูลมาระยะหนึ่งและเห็นว่าทั้งนายอำเภอและเครือข่ายทำจริงจังและมีความเข้มแข็ง การทำงานมีขั้นตอน ขบวนการ ช่วยให้มีชีวิตความเป้นอยู่ที่ดีขึ้น พวกชาวบ้านก็มีความภาคภูมิใจ นอกจากนี้คณะสงฆ์ในอำเภอหันคาก็ช่วยทอดผ้าป่าหาระดมทุนขั้นแรกคือช่วยสร้าง ซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ขั้นตอนที่สองคือการพัฒนาอาชีพให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ในส่วนของอาตมาและคณะสงฆ์อำเภอหันคาเข้ามาช่วยเหลือนายอำเภอเต็มที่ เพราะเห็นว่าท่านทำจริง ประชาชนได้ประโยชน์จริง สมกับเป็นนายอำเภอนำร่อง”

“ทรงศักดิ์ โภคทรัพย์เขียวขำ”  พัฒนาการอำเภอหันคาให้ข้อมูลว่าในจังหวัดชัยนาทมีแปลงโคก หนอง นา ทั้งหมด  289 แปลง ในจำนวนนี้มีทั้งแปลงขนาด 3 ไร่และ 1 ไร่ ในส่วนของอำเภอหันคา มี 62 แปลง ซึ่งคุณขวัญชัย แตงทองก็เป็นหนึ่งในจำนวน 62 แปลงที่เข้าร่วมด้วย สำหรับคุณขวัญชัย ท่านทำมานานแล้วเป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นครูพาทำให้กับกรมการพัฒนาชุมชนด้วย

“ขวัญชัย แตงทอง” หมู่ 9  ตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเท่าที่สังเกตแปลงศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนหลายหน่วยงานแสดงถึงว่าเป็นคนทำจริงและเท่าที่สังเกตดูการทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจทั่วบริเวณบนเนื้อที่ 18 ไร่ มีฐานหลายฐานทั้งฐานน้ำหมัก ฐานการเรียนรู้ดินและปุ๋ย ฐานเรียนรู้เรื่องข้าว  รางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ควบคุมด้วยระบบมือถือที่เรียกว่า “ระบบอัจฉริยะ” ในแปลงโคก หนอง นา ขนาด 1 ไร่มีการปลูกหญ้าแฝกไว้รอบ ๆ  มีการเลี้ยงปลาหลายชนิด มีทั้งสวนส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทที่กำลังออกดอกสะพรั่งในขณะที่บางต้นมีผลแล้วก็มี ตามต้นส้มโอมีขวดน้ำเปล่าแควนไว้ เพื่อล่อแมลงเต่าทองที่มาเจาะผลส้มโออ่อน พร้อมกับเดินไปคุยไปว่า

“สนใจทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมานานมากแล้วเกือบ 25ปี เห็นจะได้ ทำมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ เดิมเป็นคนสุพรรณบุรีและได้ย้ายถิ่นฐานมาอยุ่ที่นี่และทำอาชีพเกษตรมาตั้งแต่กำเนิด แต่ก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนาอย่างเดียว จำภาพจากพ่อแม่มา มีรายได้ทางเดียว ทำให้เราอยู่ไม่ได้ เราต้องหาวิธีทำอย่างไรให้เราอยู่รอด ก็คือเข้าสู่ขบวนการอบรมที่ศูนย์ของอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร  เรานำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาปรับใช้ในพื้นที่ ตามภูมิสังคม จนถึงปัจจุบันนี้ทำให้เรามีกินมีใช้ตามหลักบันได 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9  อยู่อย่างมีความสุข  ทุกวันนี้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ในเดือนหนึ่งมีคนเข้ามาดูงานไม่ต่ำกว่า 400คนเข้ามาเรียนรู้ มีฐาน 12 ฐาน ผมเป็นวิทยากรและมีเครือข่ายที่เป็นวิทยากรร่วมด้วย เป็นครูพาทำ ทาง พช. เข้ามาช่วยสนับสนุนโดยนำความรู้ทางวิชาการมาจัดกิจกรรมในการสอนขบวนการเรียนรู้  ได้เข้าร่วมอบรมกับภาคีเครือข่าย ทุกวันนี้ก็ขับเคลื่อนร่วมกับนายอำเภอ ฝึกการทำปุ๋ยหมัก การแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งการได้เป็นอำเภอนำร่องเราก็ดีใจและภูมิใจ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย..”

ก่อนกลับ “นายอำเภอ” แนะนำให้รู้จัก “น้องซน”  น.ส.มันตา วุฒิสถิตถาวร ดีกรีรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนคนสำคัญของอำเภอหันคา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท สิริสถิตถาวร หรือ ไร่อัญชนา ที่รับซื้อมันสำปะหลังจากชาวบ้านแล้วนำไปแปรรูปเป็นถ่าน พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากชาวบ้านที่นายอำเภอบอกว่าเป็นคนใจบุญมาก นอกจากช่วยเหลือชาวบ้านแล้วยังจะถวายน้ำปานะให้กับพระคุณเจ้าทุกวัน

“น้องซน”เล่าให้กับทีมงานตอนหนึ่งเมื่อถูกถามว่าเข้าร่วมเป็นทีมนายอำเภอได้อย่างไร และได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรบ้าง ว่า ตอนแรกเห็นนายอำเภอได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เห็นถึงความตั้งใจของท่าน ท่านก็ได้เข้ามาชักชวนให้เข้าอบรมโครงการอำเภอนำร่อง ตอนอบรมได้ร่วมกันทำ workshop จึงได้เห็นว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอหันคา และมันมีปัญหามากที่สุดในบรรดาปัญหาคือ หนี้ครัวเรือน  เข้ามาช่วยโดยไม่ได้มองถึงเรื่องธุรกิจเลย แต่ตอนคิดเงินให้กับเกษตรกรทำให้เห็นว่ามันติดลบเยอะ จึงอยากหาหนทางช่วยเหลือพวกเขา เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ปลูกแล้วได้ผลผลิตต่ำมาก เมื่อโครงการนี้เข้ามาก็ช่วยเรื่องเพิ่มผลผลิตด้วย เมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตได้ก็ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มันสำปะหลังนี้เป็นพืชที่พึ่งพิงกับราคานอก เราไม่สามารถกำหนดราคามันสำปะหลังได้เองในการขาย หากเราสามารถเพิ่มคุณภาพมันให้ดีขึ้น จุดนี้จะช่วยเกษตรกรได้จริง ๆ  “นอกจากรับซื้อมันสำปะหลังแล้ว ตอนนี้ก็ยังรับซื้อเหง้ามัน และใบมันสำปะหลังอีกด้วย  ตัวเหง้ามันนำไปอบทำเชื้อเพลิง และอบใบมันเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ต่อ ตลาดมีความต้องการใบมันอยู่แล้ว เนื่องจากใบมันมีโปรตีนสูง เมื่อเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากตรงนี้ก็ทำให้เรามีความสุข เพราะเราอยากช่วยให้พวกเขามีรายได้ที่มากขึ้น เหง้ามันและใบมันอาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการเพิ่มรายได้มากขึ้นนัก แต่อย่างน้อยก็พอเป็นค่าอาหารได้บ้าง.

การลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวพิเศษ” ตลอดระยะเวลา 3 เดือนในพื้นที่ครอบคลุม 11 จังหวัดซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดชัยนาท ภายใต้การอำนวยความสะดวกจาก “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน ทำให้การลงพื้นคล่องตัวยิ่งขึ้น และเมื่อได้เห็นภาพจริง ได้เห็นกระบวนการทำงานของนายอำเภอนำร่องทั้ง 10 อำเภอใน 10 จังหวัด ทำให้เห็นบทบาทและศักยภาพของคนกระทรวงมหาดไทยสมแล้วที่เป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เนื่องจากภารกิจของกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวข้องกับประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขด้วย  และยิ่งได้ผู้นำทัพ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่าง “ปลัดเก่ง” ที่พยายามปลุกกระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชาให้ตื่นตัวอยู่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับเป็นแบบอย่างในการทำงานรับใช้ใกล้ชิดประชาชนตามสโลแกน “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้ลบภาพ “เช้าชาม เย็นชาม” และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงามให้กับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้อย่างน่าทึ่ง..

 

Leave a Reply