ภาพสะท้อน “สองพุทธกษัตริย์” ยุคปัจจุบัน

วันที่ 27 เมษายน 2568   เฟชบุ๊ค ” อำพล บุดดาสาร” ซึ่งเป็นเฟชบุ๊คส่วนตัวของ รองศาสตราจารย์ ดร.อำพล บุดดาสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้โพสต์ถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชสมัย โดยมี “ฉากหลัง” เป็นองค์พระพุทธรูปว่า ภาพที่ปรากฏสะท้อนช่วงเวลาแห่งการพบกันระหว่าง “สองพุทธกษัตริย์” ในโลกยุคปัจจุบัน คือ

1. สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แห่งราชอาณาจักรไทย

ทั้งสองพระองค์นับเป็น “พุทธกษัตริย์” ที่ทรงยึดมั่นและทรงมีบทบาทในการธำรงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง “ธรรมจักรกับจักรพรรดิ” ในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างเด่นชัด ดังนี้

1. สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งประเทศภูฏาน

ทรงเป็นพุทธมามกะโดยกำเนิด และทรงสืบทอดอำนาจแห่งราชบัลลังก์ภายใต้หลักคำสอนของวัชรยานแบบธิเบต (Vajrayāna – Nyingma/Kagyu)

ทรงให้ความสำคัญกับศีลธรรมและธรรมาภิบาลแบบพุทธ โดยใช้แนวคิด “Gross National Happiness” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของหลักธรรมในพุทธศาสนา

ทรงสนับสนุนพระสงฆ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการศึกษาพระไตรปิฎก การปฏิบัติธรรม และการปกครองคณะสงฆ์แบบอุปถัมภ์ตามขนบโบราณ

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 แห่งประเทศไทย

ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ตามราชประเพณีแห่งราชวงศ์จักรี นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงปัจจุบัน

ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งในประเทศและสากล

ทรงพระราชทานอุปถัมภ์การศึกษาพระพุทธศาสนา ผ่านการส่งเสริมสถาบันคณะสงฆ์ไทย วัดไทยในต่างประเทศ และพระนิสิตในมหาวิทยาลัยสงฆ์ เช่น มจร และ มมร

มีพระราชหัตถเลขาสนับสนุนการส่งเสริมพุทธธรรมเพื่อความเป็นปึกแผ่นของสังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน

บทสรุป

การพบกันของสองพุทธกษัตริย์นี้ คือสัญลักษณ์แห่ง “ธรรมราชา” ผู้ทรงใช้อำนาจด้วยหลักธรรม มิใช่เพียงเพื่อปกครอง แต่เพื่อ จรรโลงธรรมะในโลก ท่ามกลางยุคสมัยที่ศีลธรรมและจิตวิญญาณมนุษย์เสื่อมถอย

ในนัยเชิงพุทธปรัชญา การที่กษัตริย์ยังเป็นพุทธมามกะผู้มั่นคงในธรรม เปรียบประหนึ่ง “จักรพรรดิธรรม” (Dharmarāja) ที่จักรวาลยังมีหลักศีลธรรมค้ำจุนสังคม

Leave a Reply