ศูนย์กักกันตัวพระทำลี้ภัยโควิด-19 ฝึกจิต-อาชีพประหยัดงบประมาณรัฐ : ดร.มหาสำราญ สมพงษ์ สาขาสันติศึกษา รายงาน
วิธีป้องกันรักษาจากการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เดินทางกลับจากต่างประเทศนั้น ต้องผ่านกระบวนการคือ กรอก กรอง กัก และกัน ได้แก่ กรอกก็คือให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง 14 วันเพื่อดูอาการ ด้วยการกักบริเวณ และต้องกันไม่ให้มีการใกล้ชิดกันและกัน
สำหรับการกักกันนั้นก็แบ่งเป็นสถานที่ที่รัฐกำหนด (State/ Local Quarantine) และที่กระทรวงมหาดไทยจัด Local/ Home Quarantine อย่างเช่นโรงเบียร์เยอรมัน-ฮอลแลนด์ ถนนพระราม 2 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 สถานี ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม บริษัทขนส่ง จำกัด( บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเป็นสถานีขนส่ง ศปภ.ชั่วคราว เพื่อให้บริการผู้ประสบภัยที่จะเดินทางไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวในเขตต่างจังหวัดเพื่อรองรับผู้ประสบภัย
ศูนย์พักพิงชั่วคราวนี้จะมีกาารให้บริการช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ถุงยังชีพ การช่วยเหลือให้เข้าอยู่ในศูนย์พักพิง โดยมีศูนย์พักพิงพร้อมรับประชาชนที่เดือดร้อนเข้าพัก จำนวน 370 ศูนย์ ใน 23 จังหวัด รองรับได้ 273,057 คน มีบริการโรงครัวและสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ พร้อมจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้แก่ กิจกรรมนันทนาการผ่อนคลายความเครียด กิจกรรม 3 ส. กิจกรรมคาราวานเสริมสร้างเด็ก การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น การให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น
หรืออย่างเช่นศูนย์พักพิงชั่วคราวจังหวัดขอนแก่นตั้งภายในอาคารหอประชุมอเนกประสงค์ ณ พุทธมณฑลอีสาน บ้านเต่านอ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยได้จัดให้มีสถานที่นอน 40 เตียง มีมุ้งครอบ และของใช้ส่วนตัวติดอยู่ที่เตียงมีระยะห่างแต่ละเตียง 2 เมตร พร้อมมีเครื่องเสียง โทรทัศน์ ห้องน้ำโดยเฉพาะและแพทย์พยาบาล เพื่อให้เป็นระบบคัดกรอง ติดตาม สำหรับบุคคลที่มีอาคารข้างเคียงที่ไม่แน่ใจว่าเป็นโควิด19 หรือไม่ ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
สำหรับการตั้งศูนย์กักกันของภาครัฐนั้นก็ต้องมีงบประมาณดำเนินการ โดยวันที่ 14 เมษายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/ 2563 เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. อธิบดี ผู้บริหารกระทรวง และองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมหารือ ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกคนจะต้องกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State/ Local Quarantine) เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ สธ.ร่วมกับกระทรวงกลาโหมจัด State Quarantine และร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัด Local/ Home Quarantine ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อฯได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการวางระบบการกักกันตัวผู้เดินทาง ซึ่งถือเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19
“รวมถึงกรอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อาทิ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ค่าพาหนะเดินทาง ค่าห้องพัก เป็นต้น เพื่อเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุน โดยให้กรมควบคุมโรคซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ปรับรายละเอียดกรอบค่าใช้จ่ายตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เพื่อเสนอศูนย์บริหารจัดการโควิด-19 (ศบค.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป” นายอนุทิน กล่าว
นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้ให้ความเห็นชอบการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นระบบการดำเนินงานเพื่อให้การค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็ว ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ โดยมอบฝ่ายเลขานุการจัดทำรายละเอียดและแนวทางการเบิกค่าใช้จ่ายเสนอต่อ ศบค. หรือ ครม.พิจารณาต่อไป
นั้นแสดงว่าศูนย์กักกันของภาครัฐนั้นจะต้องจัดงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น
แต่ศูนย์กักกัน Localกระทรวงมหาดไทยจัดนั้นได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้ประหยัดงบประมาณดำเนินการได้มาก อย่างเช่นผู้พักพิงชั่วคราวที่วัดป่าโมกข์ธรรมาราม ภายใต้การดำเนินการของคณะสงฆ์อำเภออรัญประเทศโดยเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบทุกตำบล เจ้าอาวาสทุกวัด เพื่อสาธารณะสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนดูแลศูนย์พักพิงผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ กรณีโรคระบาดโควิด-19 พื้นที่อำเภออรัญประเทศจำนวน 15 ศูนย์ 340 คน
จากการติดตามทางเพจ”องค์ม่อนธรรมะอารมณ์ดี”ที่ได้รายงานกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีบุคคลหลายภาคส่วนเดินทางไปบริจาคอย่างเช่นวันนี้ 14 เม.ย.นี้ พระมหาสมบูรณ์ วรญาโณ วัดมหาพฤฒาราม เป็นเจ้าภาพภัตตาหารเพล และอาหารกลางวัน สำหรับผู้พักพิงชั่วคราว ข้าวเหนียว ส้มตำไก่ทอด ผลไม้ คณะเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศ ถวายผัก ไข่ไก่ อาหารสด ครั้งที่ 2 สมทบโรงทานคณะสงฆ์อำเภออรัญประเทศ นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดสระแก้ว เขต 3 ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจและมอบน้ำดื่ม นม กาแฟ สมทบ
ก่อนหน้านี้ได้โพสต์ข้อความว่า ได้ออกถวายภัตตาหารเพลพระ 200 กล่อง วัดที่ไม่ได้ออกบิณฑบาตและอยู่ห่างจากชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ในเขตพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จ.สระแก้ว โครงการสังฆประชาปันสุข กิจกรรมคณะสงฆ์เพื่อสาธารณะสงเคราะห์ เพื่อร่วมปันสุขผู้ป่วยติดเตียงเพื่อร่วมปันสุข ปันกำลังใจแด่ผู้ประสบปัญหาวิกฤตโรคไวรัสอุบัติใหม่ Covid-19 และบุคคลากรทางการแพทย์ส่วนงานของอำเภออรัญประเทศ พร้อมเปิดช่องทางร่วมปันบุญปันสุขจากบุคคลทั่วไป
ผ่านไปแล้ว 5 วัน 79 ชีวิต บรรยากาศศูนย์พักพิงชั่วคราว จากคนอื่นสู่ความเป็นครอบครัวเดียวกัน ผ่านไปแล้ว 5 วัน สำหรับ 79 ชีวิตในศูนย์พักพิงชั่วคราว สำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 1 ใน 13 ศูนย์ฯ ของอำเภออรัญประเทศ ในการพักพิงชั่วคราวของคนอรัญประเทศที่กลับจากกัมพูชา
ที่ผ่านมา คณะสงฆ์อำเภออรัญประเทศ นายอำเภออรัญประเทศ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.หนองสังข์ รพ.สต.หนองสังข์ และทุกๆท่านที่ร่วมบริจาคอาหารน้ำดื่ม และส่งกำลังใจให้พวกเรา พวกเราได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดีในการดูแลพี่น้องที่มาพักพิง แม้ด้วยข้อจำกัด เราอาจไม่ใช่สถานที่ทีดี 100 % แต่เราพยายามดูแลให้ดีที่สุด ตามระเบียบของทางสาธารณสุข
บรรยากาศที่นี่ ไม่ใช่ศูนย์พักพิง เราทำให้บรรยากาศมันคือบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง มันคือการมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ดูจิตใจ ดูแลร่างกาย ของตัวเอง 14 วัน ทุกคนช่วยกันดูแลที่พัก ห้องน้ำ ลานวัด และร่วมกันสวดมนต์ นั่งสมาธิ ช่วงสั้นๆ ในทุกคืน ก่อนแยกย้าย มีชั่วโมงเรียน “วิชาชีวิต” ผ่านการฟังธรรม ตื่นเช้ามา ทุกคนต่างทำหน้าที่ เหมือนอยู่บ้าน กวาดถูศาลา ซักผ้า อาบน้ำ ทานกาแฟ ทานอาหาร 3 มื้อ เราหวังว่า พวกเราจะผ่านมันไปได้ และผ่านไปด้วยกัน พร้อมกันนี้มีการฝึกอาชีพอย่างเช่นการดูแลสวนเกษตร หัดทำไม้กวาด ธง เป็นต้น
ดังนั้น การต่อสู้กับสงครามโควิด-19 ทุกภาคส่วนจะต้องสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วย ภายใต้แนวทางที่มีอยู่แล้วคือแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถึงจะเป็นทางรอดไม่กลับมาวิกฤติอีก และไม่ควรที่จะอาศัยโอกาสนี้แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองภายใต้คราบน้ำตาของคนหมู่มาก
Leave a Reply