วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ได้ร่วมงานครบรอบวันสถาปนา ๑๓๔ ปี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผ่านระบบออนไลน์ โดยในภาคเช้าพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำทำวัตรสวดมนต์เจริญปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จากนั้นพระสุวรรณเมธาภรณ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร กล่าวถวายรายงานในการจัดงานครบ ๑๓๔ ปีเพื่อน้อมระลึกกตัญญูต่อบูรพาจารย์และความสมัครสมานสามัคคีของชาวมหาจุฬา โดยมีร่วมงาน ๓๐,๐๐๐ รูปคนจากทั่วโลกซึ่งเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันรวมถึงสมาคมชาวมหาจุฬา ได้รับความเมตตายิ่งจากพระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวนำบูชาพระรัตนตรัยเป็นประธานเปิดงานครอบรอบวันสถาปนา ๑๓๔ ปี พัฒนาปัญญาและคุณธรรมนำสังคมสันติสุข
พระธรรมปัญญาบดี กล่าวประเด็นสำคัญว่า เมืองไทยมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในพระพุทธศาสนาทำให้เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธจากทั่วโลก มหาจุฬามีความเจริญงอกงามอย่างยาวนานถึงแม้จะมีสถานการณ์ของโควิดอันไม่ปกติ จึงขอให้กำลังใจอำนวยพรให้ชาวมหาจุฬาทุกรูปท่าน ในนามนายกสภาวิทยาลัยขอร่วมตั้งกองทุนพัฒนามหาจุฬาจำนวนหนึ่งล้านบาทขอให้ทุกท่านอนุโมทนาบุญร่วมกัน
พระพรหมบัณฑิต,ศาสตราจารย์ ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มหาจุฬาฯ กับการพัฒนาปัญญาและคุณธรรม” กล่าวประเด็นสำคัญว่า จุดมุ่งหมายของสถาปนามหาจุฬาคือศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงซึ่งจะสอดรับกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดกลุ่มของมหาวิทยาลัย โดยมีพันธกิจประกอบด้วย ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมซึ่งเหมือนกันทุกมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปจะมีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย กฎกระทรวงจึงมีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๔ ประกอบด้วย ๑) กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ๒)กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ๓)กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่นๆ ๔)กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา ๕)กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ โดยมองถึงจุดมุ่งหมายของการสถาปนา พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และผลดำเนินการที่ผ่านมาของสถาบันอุดมศึกษา คำถามคือมหาจุฬาจะอยู่ในกลุ่มใดที่มีความเหมาะสม โดยกลุ่มที่ ๔ มหาจุฬามีความพร้อมเป็นอย่างมากคือกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา เพราะมีความพร้อมเป็นอย่างมาก
กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนาผสานกับหลักวิชาการ ซึ่งมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้มีสติ ปัญญา และคุณธรรม ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่ผสานหลักศาสนากับหลักวิชาการ โดยมีการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา (หลักศาสนา) บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ (หลักวิชาการ) และพัฒนาจิตใจและสังคม โดยทุกสาขา หลักสูตร คณะ ทุกวิทยาเขต สงฆ์ของมหาจุฬาจะต้องมีบูรณาการ “มิใช่สร้างดาวคนละดวง” จะต้องบูรณาการร่วมกันโดยบูรณาการหลักศาสนากับหลักวิชาการเป็นเนื้อเดียวกันเป็นองค์ความรู้ใหม่คือ นวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมโดยยึดหลักศาสนา ปรับใช้หลักศาสนาให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไปและสร้างหลักวิชาการที่สอดคล้องกับหลักศาสนาเป็นทางเลือกคู่กับหลักวิชาการของประเทศตะวันตก และนำหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ มาชี้นำสังคมโดยมุ่งพัฒนาจิตใจ สติ ปัญญาและพฤติกรรมของประชาชนเพื่อเกิดสันติสุขและความสามัคคีของคนในชาติ
โดยมีนวัตกรรมถือว่าเป็นความคิดใหม่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่หรือพัฒนาต่อยอดจากของเดิมเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของตลาดหรือสังคม โดยยกตัวอย่าง หลักสูตรสันติศึกษา เป็นต้นแบบของหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์สังคม สามารถออกแบบนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ของสังคมให้สังคมเกิดสันติสุข โดยนวัตกรรมประกอบด้วย ๔ ประการ คือ ๑)ด้านการผลิตและบริการ จะต้องพัฒนาบัณฑิตที่ดีและเก่ง สามารถบริการมีธรรมะในรูปแบบใหม่ๆ เป็นการบริการสังคม ๒)ด้านกระบวนการผลิตบัณฑิต เช่น ปฏิบัติศาสนกิจ นิสิตอาสา วิปัสสนากรรมฐาน ๓)ด้านการตลาด เป็นการประชาสัมพันธ์ในคนทั่วโลกมาเรียนมหาจุฬาผ่านกิจกรรมต่างๆ มีการใช้สื่อต่างๆ เช่น สาขาพุทธนวัตกรรมการสื่อสารหรือธรรมเทศ ๔)ด้านการจัดการ ประเด็นการจัดการเชิงพุทธนำมาใช้จริงในบริหารจัดการ ต่อไปจะต้องมีการบูรณาการอย่างจริงจังมิใช่ต่างคนต่างทำ
จึงทำให้สอดรับกับจิตตปัญญาศึกษาเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา ด้วยการ ๑)การเรียนรู้อย่างใคร่ครวญ โดยใช้สติเป็นฐานในการเรียนรู้ Mindfulness based learning ๒)การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยจะต้องยกเป็นมหาวิทยาลัยวิถีพุทธ ๓)การเรียนรู้แบบองค์รวม เป็นการบูรณาการเป็นการมุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา“พระผู้มีพระภาคเป็นผู้พัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา” ผ่านภาวนา ๔ ในทางพระพุทธศาสนา หรือ จิตตปัญญาศึกษา คือ จิตตภาวนาพัฒนาจิต (EQ) และปัญญาภาวนาคือพัฒนาปัญญา (IQ) โดยบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาจุฬา จำนวน ๙ ประการ แตกต่างจากบัณฑิตทางโลก ที่ต้องได้ประโยชน์ทางโลกและประโยชน์ทางธรรม บัณฑิตของมหาจุฬาจะต้องมีดวงตาสองดวง คือ ทางโลกและทางธรรม หรือ มีความฉลาดทางวิชาการและความฉลาดทางอารมณ์ สามารถตระหนักรู้ในตนเองและเข้าใจรู้ทันอารมณ์คนอื่น มีสติภายในรู้ในตน สติเป็นตัวสร้างปัญญา ไม่เป็นบุคคลตาบอด โดยประเภทของปัญญาสามารถแบ่งออก ๓ ประการคือ ๑)สชาติปัญญา ความรอบรู้ที่มีมาตั้งแต่เกิด ๒)ปาริหาริยปัญญา ความรอบรู้ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ๓)วิปัสสนาปัญญา ความรอบรู้สัจธรรมของชีวิต ปัญญาจึงเด่นกว่าทุกอย่างประเสริฐสุด ดุจพระจันทร์ประเสริฐกว่าดวงดาว
ในอริยมรรค ๘ จะเริ่มด้วยปัญญา เริ่มด้วยสัมมาทิฐิเพราะถ้าเห็นผิดทุกอย่างจะจบสิ้น ปัญญาจะสูงกว่าความรู้ เพราะความรู้เพียงการสะสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า เป็นเพียงจิ๊กซอร์ จึงต้องนำความรู้ไปบูรณาการใช้ในชีวิต ความรู้จึงควรเรียนทุกอย่างคือ ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง ควรรู้ความหมายของสิ่งที่เรียนทั้งหมดแต่ว่าไม่ควรใช้ความรู้ทุกอย่าง แต่ปัญญาเป็นความรอบรู้ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและ ปัญญาคือความรู้ลึก “ปัญญามีการแทงตลอดสภาวะเป็นลักษณะเหมือนการแทงของลูกศรที่ยิงไป” มีความรู้ลึกถึงไตรลักษณ์ ปัญญาจึงเป็นแสงสว่างในโลก รอบรู้ในอริยสัจ ทำให้บัณฑิตของมหาจุฬาจะต้องมีสมรรถนะคือความเก่ง คือ ปัญญา มีคุณภาพคือ ดี มีคุณธรรม มีสุขภาพคือมีสุข ปัญญา เพราะการได้ปัญญานำสุขมาให้
พระปราโมทย์ สรุปว่า ดังนั้น อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงย้ำว่า ขอให้ชาวมหาจุฬาสร้างดาวร่วมกันไม่สร้างดาวคนละดวงผ่านการบูรณาการ ยกระดับมาตฐานเป็นมหาวิทยาลัยวิถีพุทธ เป็นต้นแบบของการปฏิบัติ โดยบูรณาการหลักศาสนาและวิชาการพัฒนามหาจุฬา โดยยกให้มหาจุฬาเข้ากลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนาผสานกับหลักวิชาการเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป
Leave a Reply