อัตถชีวประวัติของเทพเจ้าแห่งความเมตตาของชาวราษฎร์นิยม
“พระครูประชาธรรมนาถ (แฉ่ง ฐานังกโร)”
อดีตเจ้าคณะตำบลสวนใหญ่ อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยม (ธรรมยุต) ต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี
หลวงปู่แฉ่ง ฐานังกโร หรือท่านพระครูประชาธรรมนาถ ท่านมีนามเดิมว่า แฉ่ง นามสกุล ห้อยฤทัย เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ณ ต.ท่าข้าม อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี (เรียกตามเขตการปกครองในขณะนั้น) เป็นบุตรชายคนที่ ๗ ในจำนวนพี่น้องจำนวน ๘ คน ของโยมพ่อโด๊ด ห้อยฤทัย และโยมแม่ฮะเหริ่ง ห้อยฤทัย ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวมอญทุ่งคลอง ๑๗ ในวัยเด็กท่านได้เข้าเรียนสายสามัญที่โรงเรียนวัดรามัญ คลอง ๑๗ จนสำเร็จการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นการศึกษาสูงสุดในขณะนั้น โยมพ่อของท่านจึงพาท่านไปฝากตัวกับสมภารวัดรามัญ คลอง ๑๗ และได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อท่านได้บวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านจึงได้เรียนพระปริยัติธรรม จนสอบไล่ได้ นักธรรมตรี-โท-เอก ตามลำดับ และท่านยังได้เรียนรู้มูลกัจจายนสูตรมอญจากสมภารวัดรามัญ คลอง ๑๗ ได้อย่างแตกฉาน จนท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำวัดรามัญ คลอง ๑๗ ตั้งแต่ในขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ และต่อมาท่านได้ย้ายมาเรียนในสำนักวัดโคก จ.ปทุมธานี กระทั่งเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโคก อ.เมือง จ.ปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมี พระมหาอินทร์ วัดโคก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาหยวก วัดโคก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการพวง วัดราษฎร์นิยม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูวิมลศาสนกิจ)
เมื่อท่านบวชแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดโคก จ.ปทุมธานี มาตามลำดับ ในช่วงนี้ท่านได้ไปศึกษาวิชาอาคมเวทย์กับพระคณาจารย์รามัญธรรมยุติสายฝั่งแม่น้ำเมืองปทุมธานี ต่อมาท่านพระอธิการพวง วัดราษฎร์นิยม ได้ชักชวนท่านมาจำพรรษาที่วัดราษฎร์นิยม เนื่องจากสมัยนั้นที่วัดราษฎร์นิยมมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาน้อย ท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดราษฎร์นิยมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้ช่วยพระอาจารย์พวง ดูแลวัดและช่วยสอนนักธรรมให้กับพระสงฆ์ภายในวัด จนกระทั้งพระอาจารย์พวง มรณะภาพ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ในยุคที่พระอาจารย์แฉ่ง ฐานังกโร เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยมนั้น ท่านได้เริ่มพัฒนาวัดราษฎร์นิยมอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รวบรวมศรัทธาชาวบ้านร่วมกันสร้างถาวรวัตถุภายในวัด และท่านยังได้รวบรวมทุนทรัพย์จากชาวบ้านที่ร่วมบริจาคถวายท่านเพื่อซื้อที่ดินเป็นของวัด รวมทั้งหมด ๑๕๐ ไร่ ท่านได้จัดสรรปันส่วนให้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่หน่วยงาน ราชการ ต่างๆ ทำให้วัดราษฎร์นิยมและตำบลราษฎร์นิยมพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในยุคของท่าน ท่านเป็นพระนักพัฒนา เป็นพระนักปกครอง เป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาจนได้รับแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆตามลำดับ ดังนี้
♦ พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
♦ พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี
ที่พระครูประชาธรรมนาถ
♦ พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท
ที่ราชทินนามเดิม
♦ พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก
ที่ราชทินนามเดิม
♦ พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอาราม
หลวงชั้นโท ที่ราชทินนามเดิม
♦ พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสวนใหญ่ ที่วัดราษฎร์นิยม
หลวงปู่แฉ่ง ฐานังกโร ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีพรรษายุกาลมาก เป็นที่เคารพ เป็นที่พึ่ง ของพระสังฆาธิการที่ท่านปกครองและศิษยานุศิษย์ตลอดจนสาธุชนทั่วไป ท่านเป็นพระที่มีอัธยาศัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจริยวัตรงดงาม เป็นพระที่เคร่งครัดในพระวินัยเป็นอย่างมาก ท่านเป็นพระที่พูดน้อย แต่ท่านมักจะปรารภว่า “ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” ท่านได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อใช้แจกให้เหล่าศิษยานุศิษย์ไว้หลายอย่าง อาทิเช่น พระเหรียญพระพุทธ , พระเหรียญรูปเหมือนตัวท่าน , พระสมเด็จฯ , ตะกรุด , ผ้ายันต์ เป็นต้น
หลวงปู่แฉ่ง ฐานังกโร ท่านเป็นพระที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ด้วยอายุของท่านที่เข้าสู่วัยชรา ท่านได้อาพาธโดยมีอาการปวดท้อง ท่านได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล คุณหมอวินิจฉัยว่าหลวงปู่อาพาธด้วยโรคมะเร็งลำไส้ คณะแพทย์ได้แจ้งหลวงปู่ให้ทราบว่าจะต้องผ่าตัดเป็นการด่วน โดยเมื่อผ่าตัดเสร็จ หลวงปู่ยังรู้สึกตัวดี มีสติอยู่ตลอด อีกทั้งสภาพร่างกายหลวงปู่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความแปลกใจแก่คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาเป็นอย่างมาก คุณหมอเจ้าของไข้จึงอนุญาตให้หลวงปู่กลับมาพักรักษาตัวที่วัดได้ สร้างความปราบปลื้มยินดีแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก จึงพร้อมใจกันจัดงานทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคลให้กับหลวงปู่อย่างยิ่งใหญ่ จนเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ หลวงปู่ต้องเข้ารับการรักษาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ก่อนเดินทางออกจากวัด หลวงปู่ได้พูดว่า “เราไปคราวนี้ คงไม่ได้กลับมาอีกแล้ว…” คำพูดนี้เสมือนเป็นปัจฉิมวาจาของหลวงปู่ เป็นเหตุให้เหล่าศิษยานุศิษย์ที่ได้รับฟัง รู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ขณะที่รักษาตัวอยู่นั้นอาการหลวงปู่ได้ทรุดลงต่อเนื่องตามลำดับ โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และในที่สุดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของชาววัดราษฎร์นิยมก็ได้บังเกิดขึ้น เมื่อได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่แฉ่ง ฐานังกโร ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยของศิษยานุศิษย์ที่มาเฝ้าไข้ และสาธุชนทั่วไป สิริรวมอายุท่านได้ ๘๐ ปี ๑๑ เดือน ๑๕ วัน พรรษา ๖๐
เมื่อหลวงปู่แฉ่ง ฐานังกโร ได้ถึงกาลละสังขารแล้ว คณะศิษย์จึงได้นำสรีระสังขารของหลวงปู่ มาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ ศาลาการเปรียญวัดราษฏร์นิยม โดยจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมศพถึง ๑๐๐ คืน แล้วนำสรีระสังขารของท่านย้ายไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่หอสวดมนต์ของวัดราษฏร์นิยม โดยจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมศพในทุกวันพระ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากประชาชนทั่วสารทิศรับเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมศพทุกคืน กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ทางวัดราษฏร์นิยม จึงจัดงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูประชาธรรมนาถ(แฉ่ง ฐานังกโร) ขึ้น ณ เมรุลอยชั่วคราว ทรงปราสาท ๙ ยอด โดยในงานนี้ได้มีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์มาร่วมในพิธีกันอย่างคับคลั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า หลวงปู่แฉ่ง ฐานังกโร ท่านเป็นพระเถระที่ประชาชนให้การเคารพนับถือเป็นอย่างมาก สมดั่งคำที่ว่า..
” ดินจะกลบ ลบกลาย วายสังขาร
ไฟจะผลาญ ชีพให้ มลายสูญ
แต่ความดี ที่ทำไว้ ได้ค้ำคูณ
ย่อมเทิดทูล แทนซาก ที่จากไป ”
//////////////////////////////////////////////////
Leave a Reply