เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยนายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และนางนภัค เทียนชัย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมประชุมพระสังฆาธิการจังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุต) ประจำปี 2565 ระดับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล และพระเลขานุการ ณ หอพระปริยัติธรรมสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดศรีอุบลรัตนาราม พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมวิสุทธาจารย์ เจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานในการประชุมฯ
ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวปฏิสันถาร และบรรยายพิเศษถวายพระสังฆาธิการจังหวัดอุบลราชธานี (ธ)ถึงผลการดำเนินงานตามแนวทาง “บวร” บ้าน วัด ราชการ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งหนุนเสริม “เสาหลักของ ประเทศชาติ” คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ วัดพระเชตุพน วิมลมังคลารามฯ กรุงเทพมหานคร
โดยในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระราชธรรมสุธี รักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุต) พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม (ธรรมยุต) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมการขับเคลื่อน MOU กับส่วนราชการในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการขับเคลื่อนในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ โดยให้อำเภอ ดำเนินการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ส่วนราชการ ร่วมบูรณาการการขับเคลื่อน และให้วัดที่สมัครใจ และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนใน 25 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยการนำของเจ้าอาวาส ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูนักเรียน อสม. และภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมตามที่กำหนด
นายชลธี กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงของจังหวัดอุบลราชธานีในเวลานี้ คือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น “โนรู” ทำให้มีฝนตกหนัก ติดต่อกันในพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ในส่วนของวัดและที่พักสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบทราบว่าประมาณ 25 แห่ง จึงขอให้วัดหรือที่พักสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในตอนนี้ ระมัดระวังในเรื่องของไฟฟ้า สัตว์มีพิษที่มากับน้ำท่วม โรคน้ำกัดเท้า หากต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการขนย้าย หรืออื่น ๆ ให้ประสานผู้นำท้องที่ หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กSompetch Sroisraku
Leave a Reply