นายณพลเดช มณีลังกา หรือพวกเราที่ทำงานด้านพระพุทธศาสนาด้วยกันรู้จักกันในนาม “ดร.ปิง” ที่ “ผู้เขียน” ตั้งฉายาให้ว่า “มือประสานสิบทิศ” หลังจากอ่าน “ฉายาพระสงฆ์ปี65” แล้วถามว่า ทำไม “Thebuddh” ไม่ตั้งฉายาคนทำงานด้านพระพุทธศาสนาฝ่ายฆราวาสบ้าง ตอบตรง ๆ ว่า คนทำงานด้านพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ทำงานด้วย “จิตอาสา” มีเป็นจำนวนมาก คิดไม่ออกว่าจะย่นย่ออย่างไรให้เหลือสักประมาณ 10 ท่าน ให้ชาวพุทธได้ร่วมกันอนุโมทนาหรือส่งเสริมบุคคลเหล่านี้ที่ถือว่าเป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” หรือกลจักร “ขับเคลื่อน” พระพุทธศาสนาตัวจริง เสียงจริง บางคนอาจมี “นัยสังคมหรือการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่เท่าที่สัมผัสหรือรู้จักคนเหล่านี้คือ มีความตั้งใจที่จะให้กิจการพระพุทธศาสนาหรือสถาบันสงฆ์ในประเทศไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน ยิ่งชาวพุทธที่เป็น “นักบุญ” บริจาคทรัพย์สินเงินทองสร้างศาสนสถาน สร้างถาวรวัตถุมีอีกเป็นจำนวนมาก “ยาก” ที่จะกล่าวถึงได้หมด
หากจะให้เอ๋ยชื่อถึงสัก 10 ท่าน โดยยึดทัศนะส่วนตัวของ “ผู้เขียน” เป็นที่ตั้ง และ “ตั้งเป้า” กลั่นกรองเลือกคัดเอาเฉพาะ คนที่คิดและทำเรื่อง “สาธารณะ” มากกว่าทำบุญโดยมี “เงิน” เป็นที่ตั้ง หรือพูดถึง “ตัวบุคคล” ที่ทำงานด้านศาสนาเพื่อ “ส่วนรวม” มากกว่า องค์ใดองค์หนึ่งหรือวัดใดวัดหนึ่งเป็นที่ตั้งแล้ว เริ่มต้นด้วยบุคคลที่อยู่ในกระแสตลอดทั้งปี 2565 คือ
1. ดร.นิยม เวชกามา
ดร.นิยม เวชกามา เปรียญธรรมประโยค 5 จากวัดไตรมิตรฯ ลูกศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ถือว่าเป็น “ดาวสภาสายพระ” เป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ในการจี้ถามรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรเกือบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมในการบริการกิจการบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับกิจการพระพุทธศาสนา ทั้งเรื่อง คดีเงินทอนวัดที่จับพระติดคุกโดยไม่ชอบด้วยพระวินัยและกฎหมายบ้านเมือง, การถอดถอนสมณศักดิ์ โดยไม่ชอบธรรม,ทั้งเรื่องปลดเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์,ทั้งเรื่องการให้เช่าศาสนสมบัติกลางที่อาจเอื้อต่อบริษัทเอกชนย่านประตูน้ำ และรวมทั้งการจี้ตามนิตยภัตพระสังฆาธิการ บางเรื่อง “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ตอบไม่ได้จนทุกวันนี้เช่น กรณีถอดถอนสมณศักดิ์ พระมหาเถระคดีเงินทอนวัด
2.ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล
ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล อดีตแกนนำคนเสื้อแดงเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อชาติ ใช้ชีวิตในผ้าเหลืองยาวนานถึง 19 พรรษา เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรถือว่าเป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” แก้ไขปัญหาเรื่องคณะสงฆ์อย่างแท้จริงโดยเฉพาะ “ที่ดินวัด” ตลอดเกือบ 4 ปี ปิดจ๊อบไปแล้ว 300 กว่าวัด สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในดินรัฐอีก 1 หมื่นกว่าแห่ง เป็นคนขยันเกาะติดและตามงานประเภทถึงลูกถึงคน ทำงาน “เข้าขา” กับพระผู้ใหญ่และสำนักงานพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล นับว่าเป็นบุคลากรที่มี “คุณค่า” ของพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ควรยกย่องอนุโมทนา
3.นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ฉายา “มือปราบตงฉินสายพระ” ที่ผ่านมาเมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ เห็นคณะสงฆ์ถูกฝ่ายการเมือง “แทรกแซง” มักยื่นมือมาช่วยและตรวจสอบเสมอทั้งเรื่อง “คดีเงินทอนวัด” หรือแม้กระทั้งการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เอกชนเช่าที่ดิน “ศาสนสมบัติกลาง” ย่านประตูน้ำที่ “อาจเข้าข่าย” เอื้อต่อบริษัทเอกชน หรือแม้กระทั้งได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการศาสนา เพื่อปลดอดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่รับเงินเดือนในฐานะเป็นที่ปรึกษาเดือนละ50,000 บาท มาตลอด 3 ปีและ “จบเกม” ลงโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่จ้างต่อ ก็ด้วยฝีมืออดีตผู้ว่า สตง.คนนี้
4.นายอัยย์ เพชรทอง
นายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อพปส.) อดีต “ศิษย์วัดพระธรรมกาย” ตอนหลังแยกตัวออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านศาสนาอิสลาม ที่กลุ่มนี้เชื่อว่าพยายามยึดประเทศไทยด้วยมาตรการทางกฎหมายและเครื่องมือต่าง ๆ จึงเคลื่อนไหวออกมาต้านแบบ “ถึงลูก ถึงคน ฟันต่อฟัน” รวมทั้งทั้งพยายามตรวจสอบ “กฎหมายฮาลาล” ด้วยการร้องเรียนตามหน่วยงานต่าง ๆ เนื่องจากมองว่ากฎหมายฉบับนี้ “เอาเปรียบ” ชาวพุทธ ซ้ำตอนหลังถูกดำเนินคดี “ฟ้องร้อง” จนศาลตัดสินจำคุก แต่ให้รอลงอาญา
5.ดร.วิษณุ เครืองาม
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปีนี้นักข่าวสายทำเนียบตั้งฉายาให้ว่า “เครื่องจักรซักล้าง” บางปีก็ได้รับฉายาว่า “เนติบริกร” นอกจากเชี่ยวชาญกฎหมายระดับ “ปรมาจารย์” เรื่องการ “คณะสงฆ์” ก็ไม่เป็นสองรองใคร เป็นลูกศิษย์สายพระหลายสมเด็จ สายสำนัก กรณี “อดีตพระพรหมสิทธิ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ถูกกล่าวหา “คดีเงินทอน” สังคมเชื่อว่า “เนติบริกร” คนนี้รู้ลึกและรู้จริงทั้งหมดว่า “เกิดอะไรขึ้น” และล่าสุดรองวิษณุ ก็เข้าไป “แก้กรรม” เป็นที่ปรึกษาหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ที่เขียนโดยคณะพระมหาเถระวัดสระเกศที่ถูกกล่าวหาคดีเงินทอนวัด และทั้งนำคณะพระมหาเถระชุดนี้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยที่มหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยพระมหาเถระที่ “ดร.วิษณุ” คุ้นเคยนั่นเองได้แต่มองตา “ปริบๆ” เนื่องจากมหาเถรสมาคมชุดนี้นี่แหละ เคยลงมติว่าพระมหาเถระเหล่านี้ “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” และซ้ำ “มติมหาเถรสมาคม” ทุกวันนี้ก็ยังค้างคาอยู่ท่ามกลางมีกระแสข่าวเกิด “ศึกสมเด็จ” ระหว่าง 2 นิกาย อันเนื่องจากมติมหาเถรสมาคมฉบับนี้
6.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น “ศิษย์และไวยาวัจกร” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามอันเป็นที่สถิตของ “สมเด็จพระสังฆราช” รูปปัจจุบัน ปี 2565 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ยกย่องให้เป็น “ข้าราชการสายธรรมะ” เนื่องจากช่วยเหลือกิจการคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนามาต่อเนื่อง ทั้งการแต่งตั้งให้พระภิกษุสองรูปเป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่มีเคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์กระทรวงมหาดไทย ทั้งจับมือเซ็นต์ “MOU” กับ “มหาเถรสมาคม” ร่วมกันขับเคลื่อนสาธารณะสงเคราะห์,การอบรมประชาชน,การสร้างอาชีพให้ประชาชน,โครงการประชารัฐสร้างสุข และทั้งอุปถัมภ์การสร้างวัดและมอบทุนการศึกษาและรับเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพลให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมหลายแห่ง เนื่องจากมี “ภรรยา” อยู่ในฐานะมหาเศรษฐีของเมืองไทย
7.นายอนันต์ชัย ไชยเดช
จากกรณี หมอปลา มือปราบสัมภเวสี มีการส่งนักข่าวสาวเข้าไปถ่ายคลิปร่วมพิสูจน์กรณี หลวงปู่แสง ญาณวโร กระทั่งเกิดกระแสต่อต้านทั้งประเทศที่ “หมอปลา” ไปทำกับพระเถระที่มีอายุกว่า 90 ปีแบบนั้น
ต่อมานายอนันต์ชัย ไชยเดช ซึ่งเป็น “ทนายความ” ได้รับอาสาเป็นทนายความเอาผิดคณะหมอปลา และได้ประกาศเป็น “ทนายกองทัพธรรม” เพื่อช่วยเหลือวัดต่างๆ และพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ทนายอนันต์ชัยยังได้ตั้งเพจชื่อ “ทนายกองทัพธรรม” โดยมีตนเองเป็นแม่ทัพ และมีทนายความทั่วประเทศ ผู้มีความรู้ด้านศาสนาเป็นทหารของกองทัพ เพื่อช่วยเหลือคณะสงฆ์และวัดทั่วประเทศอีกด้วย
8.นายกรณ์ มีดี
นายกรณ์ มีดี หัวหน้าพรรคแผ่นดินธรรม เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย อดีตนักบวช ทำงานการเมืองมาหลายปีแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะเข้าไปนั่งในสภา ขับเคลื่อนช่วยเหลือคณะสงฆ์และชาวพุทธมาต่อเนื่อง แต่ในชีวิตจริงยังไม่ถึง “ดวงดาว” ถือว่าเป็นบุคคลด้านพระพุทธศาสนาอีกคนหนึ่งที่ “น่ายกย่อง” ในความตั้งใจที่เข้ามาช่วยงานกิจการพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ต่อเนื่องและยาวนาน
9.นายจตุรงค์ จงอาษา
นายจตุรงค์ จงอาษา ถือว่าเป็น “นักเคลื่อนไหวด้านพระพุทธศาสนา” อีกคนหนึ่ง ด้วยความที่เป็นคนพูดตรงไปตรงมา ไม่เห็นแต่หน้า “อินทร์หน้าพรหม” เวลามีประเด็นทาง “คณะสงฆ์” มักปรากฏตามสื่อสารมวลชนอยู่เสมอ ๆ นับตั้งแต่ถูก “เจ้าหน้าที่รัฐ” เชิญตัวไปคุย เนื่องจากช่วงนั้นไปพาดพิง “พระสมเด็จ” รูปหนึ่ง กรณีการให้เอกชนเช่าศาสนสมบัติกลาง “ตลาดเฉลิมโลก” ย่านประตูน้ำ จนมีกระแสข่าวว่า “ถูกสั่งสอน” หลังจากนั้นบทบาทการเคลื่อนไหวด้านศาสนาของ จตุรงค์ จงอาษา ก็เงียบหายไป ไม่ค่อยปรากฎต่อหน้าสื่อหรือสาธารณะถี่เหมือนที่เคยเป็นมา
Leave a Reply