ส.ส.นิยม เวชกามา “กัดไม่ปล่อย” คดีเงินทอนวัด ซัดนายกรัฐมนตรีอาจผิด ม.157 พร้อมตั้งคำถามอีก 33 วัดฟ้องเมื่อไร??

วันที่ 25 กันยายน 2564   เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายนที่ผ่านมา นายนิยม  เวชกามา  ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถึงเรื่องที่มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๑๕ ข ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่องถอดถอนสมณศักดิ์ ของพระเถระทั้ง ๗ รูป เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคสอง ทำให้ไม่มีผลบังคับตามความในมาตรา ๕ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และยังเข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติมาตรา ๑๖๐ (๕) ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดของกระทู้ถามดังนี้
“ด้วยปรากฏหลักฐานอันเป็นที่แจ้งประจักษ์ชัดเจนว่า ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๑๕ ข ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องถอดถอนสมณศักดิ์ ของพระเถระทั้ง ๗ รูป ประกอบด้วย
                  ๑.  พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร 
                 ๒.  พระพรหมเมธี (จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม 
                 ๓.  พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา 
                 ๔.  พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิม คือ พระเมธีสุทธิกร) 
(สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร 
                 ๕.  พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิม คือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) 
(เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร 
                 ๖.  พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา 
                 ๗.  พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คำมา) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร 

การกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๒๙ วรรคสอง  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีข้อความดังนี้ “ด้วยปรากฏว่า มีกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่า กระทำการทุจริตและถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต” และความในวรรคท้ายยังระบุอีกว่า “ซึ่งเป็นวันที่ถูกจับกุมและสละสมณเพศ” ความดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นเอกสารสามารถยืนยันความเป็นพระภิกษุของพระเถระทั้ง ๗ รูป สรุปได้ดังนี้
  ๑) พระเถระตามรายนามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว มิได้ลาสิกขา  (สละสมณเพศ) และไม่เคยมีใครบังคับให้ลาสิกขาทั้งตามพระธรรมวินัยและตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น โดยที่นายกรัฐมนตรีสามารถตรวจสอบหลักฐานได้จากเอกสารรายงานกระบวนพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง, เอกสารราชการของนายฐิติพันธุ์ มนูจันทรัถ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายควบคุมผู้ต้องขังประจำศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งรับรองว่า พระเถระทั้งหมด มิได้กล่าวคำลาสิกขาและได้ประพฤติตนตามพระธรรมวินัยเช่นพระสงฆ์ปกติตามหลักพระพุทธศาสนาโดยเคร่งครัด, จากเอกสารคำเบิกความพยานโจทก์ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งพนักงานสอบสวน คือ พ.ต.ท.ภคพล สุชล, พ.ต.ท.ก่อเกียรติ วุฒิจำนงค์, พ.ต.ท.สมเดช สาระบรรณ์, พ.ต.ท.สัณห์เพชร หนูทอง และ ร.ต.อ.หญิงพรพิมล ดอกไม้ ได้เบิกความไว้ต่อศาลว่า พระเถระทั้งหมด มิได้ลาสิกขาแต่อย่างใด และจากเอกสารคำเบิกความของพระเมธีสุทธิกรและพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง บันทึกสถานภาพว่า ยังคงครองสมณเพศในระหว่างการพิจารณาของศาล
๒) ประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ซึ่งพระเถระตามรายนามทุกรูป ยังมีสถานภาพเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนเท่านั้น แล้วเหตุไฉน จึงได้มีการประกาศถอดถอนสมณศักดิ์ในทันทีซึ่งเป็นการกระทำที่เปรียบเสมือนการลงโทษในคดีถึงที่สุดแล้ว เรื่องอย่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจคือพนักงานสอบสวนน่าจะรู้ดีที่สุดว่า เวลาที่ข้าราชการตำรวจหรือข้าราชการทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นยศใด  เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในขณะที่เป็นเพียงผู้ต้องหาจะไม่มีการประกาศให้ถอดยศใด ๆ ทั้งสิ้น กรณีการกล่าวหาพระเถระตามกระทู้ถามนี้ จึงส่องแสดงให้เห็นถึงการจงใจที่มีเจตนา จะฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคสอง ซึ่งได้บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ” การกระทำของนายกรัฐมนตรีที่มีเจตนากระทำการอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ อาจเป็นผลทำให้ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๑๖๐ (๕)  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้ง เป็นผลทำให้ประกาศฉบับดังกล่าวไม่สามารถใช้บังคับได้ ตามความในมาตรา ๕ วรรคแรก ที่ได้บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือ การกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
 ๓) ปรากฏประเด็นข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารหลักฐานสำคัญว่า การกล่าวหา  พระเถระของวัดสามพระยา วรวิหาร, วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นการกล่าวหาที่เลือกปฏิบัติเอาเฉพาะกับพระเถระทั้ง ๓ วัดนี้ อย่างแจ้งชัด  เพราะเมื่อตรวจสอบเอกสารด้านการใช้จ่ายงบอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอย่างถ้วนทั่วแล้ว ปรากฏว่า มีวัดต่าง ๆ ที่รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกับทั้ง ๓ วัด ดังกล่าวข้างต้นดังนี้ คือ
 ๓.๑) รายชื่อวัดที่รับเงินอุดหนุนจากโครงการสนับสนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ตามเอกสารที่นายณรงค์ ทรงอารมณ์  แจ้งต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.๒๐๕/๒๕๖๑ ประกอบด้วย  ๑. วัดพิชยญาติการาม จำนวน ๑๐ ล้านบาท, ๒.วัดเทพศิรินทราวาส จำนวน ๑๐ ล้านบาท, ๓.วัดสุทัศนเทพวราราม จำนวน ๑๐ ล้านบาท, ๔.วัดเทวราชกุญชร จำนวน ๑๐ ล้านบาท, ๕.วัดบวรนิเวศวิหาร จำนวน ๕ ล้านบาท, ๖.วัดสามพระยา วรวิหาร จำนวน ๕ ล้านบาท, ๗.วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร จำนวน ๒ ล้านบาท, ๘. วัดอรุณราชวราราม จำนวน ๑๐ ล้านบาท
๙. วัดกวิศราราม จังหวัดลพบุรี จำนวน ๓๐ ล้านบาท, ๑๐. วัดราชโอรสาราม จำนวน ๕ ล้านบาท,  ๑๑.วัดตรีทศเทพวรวิหาร จำนวน ๕ ล้านบาท,  ๑๒. วัดโบสถ์ จังหวัดปทุมธานี จำนวน ๕ ล้านบาท, ๑๓.วัดร่ำเปิ่ง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๕ ล้านบาท, ๑๔.วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๕ ล้านบาท, ๑๕.วัดแคทราย จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๕ ล้านบาท, ๑๖.วัดโคกขาม จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๕ ล้านบาท

 ๓.๒) รายชื่อวัดที่รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท.๒๐๕/๒๕๖๑ ประกอบด้วย ๑.วัดพิชยญาติการาม จำนวน ๓ ล้านบาท, ๒.วัดยานนาวา จำนวน ๒ ล้านบาท, ๓.วัดสุวรรณาราม จำนวน ๑๒ ล้านบาท, ๔.สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วัดสระเกศ จำนวน ๑๐ ล้านบาท, ๕.สำนักงานเจ้าคณะภาค ๙ วัดอรุณราชวราราม จำนวน ๔ แสนบาท, ๖.วัดสุริยาราม จังหวัดสงขลา จำนวน ๔ ล้านบาท, ๗.วัดไตรมิตรวิทยาราม จำนวน ๑ ล้านบาท, ๘.สำนักงานเลขานุการ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญจำนวน ๑ ล้านบาท, ๙.วัดสระเกศ จำนวน ๓ ล้าน ๑ แสนบาท, ๑๐.สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๐ วัดสระเกศ จำนวน ๑ ล้านบาท
 ๓.๓) รายชื่อวัดที่รับเงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  คดีหมายเลขดำที่ อท.๒๕๗/๒๕๖๑ ประกอบไปด้วยวัดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้  ๑.วัดพิชยญาติการาม เขตคลองสาน จำนวน ๑ ล้านบาท, ๒. วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน ๔ แสนบาท, ๓.วัดสัมพันธวงศาราม เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน ๑ ล้านบาท, ๔.วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี จำนวน ๑ ล้าน ๕ แสนบาท, ๕.วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน จำนวน ๒ แสนบาท, ๖.วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน ๒ แสนบาท, ๗.วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี จำนวน ๒ แสนบาท, ๘.วัดสุทัศนเทพวราราม เขตพระนคร จำนวน ๒ แสนบาท, ๙.วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ จำนวน ๒ แสนบาท, ๑๐. วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร เขตดุสิต จำนวน ๒ แสนบาท, ๑๑.  วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ จำนวน ๒ แสนบาท  ๑๒.วัดนิมมานรดี เขตบางแค จำนวน ๒ แสนบาท, ๑๓.วัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย จำนวน ๓ แสนบาท, ๑๔.วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ จำนวน ๒ แสนบาท, ๑๕.วัดชิโนรสาราม เขตบางกอกน้อย จำนวน ๒ แสนบาท, ๑๖.วัดธรรมปัญญาราม บางม่วง จังหวัดนครปฐม จำนวน ๒ แสนบาท, ๑๗.วัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร จำนวน ๕ แสนบาท, ๑๘.วัดหนองน้ำเพชร อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน ๕ แสนบาท, ๑๙.วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน ๒ แสนบาท, ๒๐.วัดกลาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๒ แสนบาท, ๒๑.วัดหนองกุง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๑ แสนบาท, ๒๒.วัดศรีบุญเรือง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย จำนวน ๑ แสนบาท

     รายชื่อวัดดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นรายชื่อวัดที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ วัด 
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารในสำนวนคดีของศาลฯ เป็นดังนี้ จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า มีการเลือกปฏิบัติโดยจงใจที่จะดำเนินคดีกับทั้ง ๓ วัดนี้เท่านั้น และเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีกับวัดอื่น ๆ อย่างชัดเจน
นายนิยม จึงได้ตั้งกระทู้ถามว่า
   ๑) นายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวนี้ กระทำไปด้วยเจตนาอย่างไร และมีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด 
 ๒) นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับใช้ตามมาตรา ๕ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และหากทราบแล้ว จะเร่งรีบแก้ไขด้วยวิธีใด ขอทราบรายละเอียด 
 ๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีวัดอื่น ๆ ที่รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เช่นเดียวกับทั้ง ๓ วัดที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามที่กฎหมายกำหนด จะสั่งการให้มีการดำเนินคดีกับวัดที่เหลืออีก ๓๓ วัดได้เมื่อใด ขอทราบระยะเวลาในการดำเนินคดี ก่อนคดีหมดอายุความ 
๔) นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า ได้เกิดกรณีพระเถระในวัดกัลยาณมิตร ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลตัดสินให้ลงโทษจำคุก โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ แล้วเหตุไฉน นายกรัฐมนตรีจึงมิได้ออกประกาศ ถอดถอนสมณศักดิ์  เช่นเดียวกับพระเถระวัดสามพระยา วรวิหาร, วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร การกระทำเยี่ยงนี้จึงเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างแจ้งชัดของนายกรัฐมนตรีที่อาจเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ 
๕) นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า การกระทำของตนที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคสอง อาจมีผลทำให้ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๑๖๐ (๕) ของรัฐธรรมนูญ และขาดคุณสมบัติของความเป็นนายกรัฐมนตรีตามไปด้วย  เพราะนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นตัวอย่างต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ในการกระทำที่จะต้องเคร่งครัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรม”
    ในตอนท้ายของกระทู้ถามยังระบุว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ถามดังกล่าวนี้ในราชกิจจานุเบกษาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๒ ข้อ ๑๖๒ ข้อ ๑๖๓ วรรคสอง และ ข้อ ๑๖๕ 

Leave a Reply