“โมที” นายกฯอินเดีย เตือนชาวพุทธอย่าติดบ่วงแค่ “ปริยัติ”

นายกรัฐมนตรีอินเดียเตือนสาวกพระพุทธเจ้าบนเวทีประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ เดินไปให้สุดทางปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ อย่าเน้นปริยัติอย่างเดียว

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่โรงแรมอโศก เมืองเดลลี ประเทศอินเดีย พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ (หรรษา ธมฺมหาโส) ป.ธ.6,ศ.,ดร.) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสนตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า รับนิมนต์จากองค์กร International Buddhist Conference เดินทางมานำเสนอบทเรียนการทำงานด้านสันติภาพ งานประชุมนานาชาติ Global Buddhist Summit หัวข้อ Responses to Contemporary Challenges: Philosophy to Praxis โดยมีนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวปาฐกถาโดยได้ย้ำเป็นภาษาบาลีว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ พร้อมกล่าวเตือนว่า ขอให้สาวกของพระพุทธเจ้า เดินไปให้สุดทางของสัทธรรม อย่าหยุดที่การเรียนรู้ปริยัติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจะทำให้ธรรมไม่เกิดผลในที่สุด

พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ช่วงบ่ายเป็นการเชิญทั้งนักวิชาการ และนักปฏิบัติการที่ทำงานด้านสันติภาพนำบทเรียนการทำงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเวที ในหัวข้อพุทธธรรมกับสันติภาพ (Buddha Dhamma and Peace) ในฐานะที่ได้รับนิมนต์เป็นวิทยากร (Speaker) ในครั้งนี้ด้วย จึงได้นำบทเรียนการทำงานเกี่ยวกับหัวข้อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีสติเป็นฐาน หรือ Mindfulness Based Mediation ที่ผ่านการทำงานวิจัย และการปฏิบัติจริงในศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน และการทำงานในศาลต่างมานำเสนอต่อเวทีการสัมมนานานาชาติครั้งนี้

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยที่มีสติเป็นฐาน Mindfulness Based Mediation: the Tool to Built Sustainable Peace มีรายละเอียดที่เป็นแนวคิด และประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้ การไกล่เกลี่ยเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือก {Altrenative Dispute Resolution:ADR} ที่คู่ความสามารถขอเข้ารับการไกล่เกลี่ยจากศูนย์ไกล่เกลี่ย {Mediation Centre} ในกรณีไม่สามารถตกลง หรือเจรจากันเองระหว่างคู่ขัดแย้ง {Negotiation} ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของการไกล่เกลี่ย คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคู่ความ จนนำไปสู่การให้อภัย และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยทำหน้าที่ในการสนับสนุน {facilitate} เพื่ออำนวยการให้คู่ความสามารถเข้าถึง และค้นพบความการที่แท้จริงได้

การไกล่เกลี่ยที่สามารถนำคู่ความเข้าถึงความการที่แท้จริงได้นั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางจัดการความขัดแย้ง ทั้งภายในใจและภายนอกของคู่พิพาท กระบวนการนี้จึงเริ่มจากการให้ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถไกล่เกลี่ยกับกิเลสที่อยู่ในใจ แล้วจึงไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยผู้อื่นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระตุ้นให้คู่ความจัดการความขัดแย้งในใจ ก่อนที่จะช่วยกันดับไฟในใจของผู้อื่น

จากเหตุผลข้างต้น จึงเป็นที่มาของการออกแบบนวัตกรรมการกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อนำไปจัดการข้อพิพาทในศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน และศูนย์ไกล่เกลี่ยนานาชาติ ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 โดยนวัตกรรมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ ชื่อว่า “กระบวนการไกล่เกลี่ยที่มีสติเป็นฐาน” โดยออกแบบเป็นใช้บันได 9 ขั้นในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

บันได 9 ขั้นนั้น ประกอบด้วย {1} Mindfulness {2} Emotional Mamagement {3} Deep Listening {4} Issues Analysis {5} Attitude Equation {6} Trust {7} Interests {8} Options {9} New Relationship จะเห็นว่า รากฐานสำคัญในการไกล่เกลี่ยนั้น จะต้องเริ่มต้นจากบ่มเพาะสติให้เกิดขึ้นในเรือนใจ จนจิตใจสงบเย็น และจัดการกับรัก ความโกรธ ความเกลียด ความหลง และอคติในใจในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อนั้น คู่ความจึงจะมีความพร้อมในการเปิดใจรับฟังประเด็น ความคิด และความเชื่อที่แตกต่าง จนนำไปสู่ความไว้วางใจ แล้วร่วมกันค้นหาความต้องการที่แท้จริงที่เป็นความต้องการร่วมระหว่างสองฝ่าย {Collective Interest} จนได้ทางเลือกที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ แล้วนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

Leave a Reply