ปลัด มท. จับมือร่วมภาคีเครือข่ายมุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยยั่งยืน ย้ำ มท. พร้อมเดินหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งสร้าง “หมู่บ้านยั่งยืน” ตามพระดำริ “พระองค์หญิง” สร้างพื้นที่แห่งความสุขน่าอยู่สำหรับปัจจุบันสู่ลูกหลานในอนาคตอย่างยั่งยืน
วันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนาความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม Agricultur e Solar Solutions เพื่อโครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model to Sufficiency Economy Development Zones for Human Stability & Sustainable Development) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท AMARENCO และมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ โดยได้รับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระมงคลวชิรากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระปลัดสาธิต สุจิณฺโณ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอแหลมสิงห์ พระมหาสุภาพ พุทฺธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช เจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) เข้าร่วม โดยมี หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา Mr. Alain Desvigne ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท AMARENCO นางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย Mr.Adam Cogan ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นางสาวนวรัตน์ เฉลิมเผ่า และนางสาวมาริสา ปัณยาชีวะ ผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านที่ให้ความสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันด้วยกลไกองคาพยพในพื้นที่ขับเคลื่อนนำนโยบายไปปฏิบัติ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัดผู้มีความมุ่งมั่นทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 โดยมีคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้ง 2 ท่านได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมและให้กำลังใจการดำเนินการน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาในพื้นที่หมู่บ้านตัวอย่างความสำเร็จที่ อบต.โก่งธนู จ.ลพบุรี ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ที่การรวมตัวกันดูแลกันและกันในชุมชนและในครอบครัว เพื่อ Change for Good ไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนของโลกใบเดียวของเรา
“สิ่งสำคัญของการสร้างความยั่งยืน คือ ความต่อเนื่อง ความต่อเนื่อง คือ พลัง ฉะนั้น ปัจจัยความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งคือ “หุ้นส่วนการมีส่วนร่วม (Partnership) ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยมีหุ้นส่วนการมีส่วนร่วมที่เป็นพันธมิตรในการศึกษาและต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นา ภายใต้การนำของภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความใกล้ชิดกับทางกระทรวงมหาดไทยมายาวนานที่จะช่วยให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนเป็นไปตามเป้าหมายร่วมกันได้ โดยมีอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่น่าชื่นชมและน่าอนุโมทนายิ่ง โดยพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺเตโช วัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย เป็นต้นแบบของพระที่นำชาวบ้านลุกขึ้นมาดูแลฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลาย จนปัจจุบันสามารถนำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ดอยอินทรีย์ได้ หลักการสำคัญ คือ ความเพียรพยายามอย่างขยันขันแข็งในการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง อารยเกษตร ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความรักและความหวงแหนในพื้นที่ป่า โดยชาวบ้านที่ จ.เชียงราย ต่างเห็นพ้องต่อการทำศึกกับการจุดไฟเผาป่า ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนที่ดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอีกหนึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีตัวอย่างน่าชื่นชมอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี หรือ เมืองหลวงของโคก หนอง นา นำโดยพระพิพัฒน์วชิโรภาส ซึ่งเป็นต้นแบบของการนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปใช้และขยายผลในหมู่บ้าน ในวัด และครัวเรือนของญาติโยมที่ จ.อุบลราชธานี เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร จนเป็นที่ยอมรับ มีนักธุรกิจจำนวนมากรวมตัวกันทำนิคมอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากเรื่องของพืชผักผลไม้สมุนไพร รวมถึงต่อยอดผลผลิตที่ได้สู่อาหารที่ปลอดภัย” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า และประการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในวันนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้รับเกียรติจาก Mr. Alain Desvigne ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท AMARENCO ที่เดินทางมาจากประเทศฝรั่งเศส ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ทำให้กระทรวงมหาดไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ข้อที่ 17 Partnership for the goals และรู้สึกปลาบปลื้มใจ และมีกำลังใจในการขยายผลสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เฉกเช่นกับที่คุณกีตาร์ ซับบระวาล หัวหน้าผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย เคยกล่าวว่า สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนความยั่งยืนทั้ง 76 จังหวัด เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หมายถึง ไม่ทิ้งคนที่มีโอกาสน้อยในสังคมไว้ข้างหลัง เป้าหมายของวันนี้เป็นเป้าหมายเมื่อครั้งผมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 ได้ร่วมกับคณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ไปช่วยทำให้พี่น้องที่ทุกข์ยากได้รับการยกระดับสู่ความพอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และกลไกการทำงานของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และนายอำเภออีก 878 อำเภอ ขยายผลสู่การทำบุญ แบ่งปัน เก็บไว้ใช้ นำไปขายและสร้างเครือข่าย ตามหลักบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) ตนได้แวะไปเยี่ยมชมติดตามให้กำลังใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ที่สมัครเข้าร่วมโครงการในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไม่ได้เพียงสอนให้คนแค่สมถะ แต่สอนคนให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ต้องพอมี พอกินก่อน แล้วจึงจะช่วยเหลือสังคมคนที่เดือดร้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น มีไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด COVID-19 ก็มีพืชผักไปมีอาหารการกินแบ่งปันในพื้นที่ต่างชุมชน” ปลัด มท. กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมสัมมนาทางวิชาการในวันนี้โดยภาควิชาการและตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนของประเทศฝรั่งเศส จะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า ภาคราชการสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดี ๆ ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสทำในสิ่งดี ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีฐานะมั่งคั่งมั่นคงได้มีโอกาสมาแบ่งปัน นำกำไร เงินทุนงบประมาณ มาช่วยกระจายกันเป็นหุ้นส่วนสำคัญ สร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับสู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืนต่อเนื่องกันเป็นลำดับขั้นอย่างเป็นรูปธรรม ผมหวังว่าพวกเราจะใช้ช่วงเวลาที่สำคัญในวันนี้ร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ให้เป็นวันที่เราได้หารือกันเพื่อสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนในชุมชน ทำให้เกิดพื้นที่ชุมชน “หมู่บ้านยั่งยืน” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตั้งแต่สิ่งที่สามารถจับต้องได้อย่างง่าย ๆ คือ การน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” การดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กและลูกหลานคลอดออกมาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก การได้รับวัคซีนเพื่อสร้างหลักประกันทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริในภาพรวมว่าหมู่บ้านยั่งยืน ต้องประกอบไปด้วยความมั่นคงด้านอาหาร มีน้ำดื่ม มีความสะอาด รู้จักคัดแยกขยะ มีบ้านที่ถูกสุขลักษณะ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข รวมถึงการมีความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นงานที่ยาก แต่เรามั่นใจว่าจะสำเร็จได้ เพราะเรามีหุ้นส่วนภาคีเครือข่ายที่มีเป้าหมายเดียวกันที่จะให้พวกเราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะมุ่งมั่นร่วมกันทำให้โลกใบนี้ของเราเต็มไปด้วยความสุข ทำให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ทั้งในปัจจุบัน และสำหรับลูกหลานมวลมนุษยชาติในอนาคตอย่างยั่งยืน
Leave a Reply