โดย.. นายสัจจวาที
ทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมือง สังคมหรือภัยพิบัติต่าง ๆ พระภิกษุสงฆ์ในพม่าเข้าถึงประชาชนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนทุกครั้ง อย่างเช่น ที่มัณฑะเลย์ วัดบางวัดมีรถดับเพลิงเป็นของตนเอง ยามไฟใหม้บ้านหรือชุมชนใด ๆ ในตัวเมืองมัณฑะเล พระสงฆ์ถึงก่อนภาครัฐทุกครั้ง ความไว้วางใจของประชาชนระหว่างคณะสงฆ์กับภาครัฐ ประชาชนไว้วางใจพระภิกษุสงฆ์มากกว่า คือ เรียกฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการอิดออด เตรียมพร้อมตลอดเวลา
เฉกเช่นเดียวกันปัจจุบันในรัฐมอญ รัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม ดินจากภูเขาถล่ม ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตเกือบ 100 รายในขณะนี้ วัดคือศูนย์กลางอย่างแท้จริง อันดับแรก วัดเปิดศาลาให้ประชาชนเข้ามาพักอาศัย สอง วัดตั้งโรงครัวทำอาหารเลี้ยง สาม วัดจัดกำลังคนในชุมชนตระเวนออกไปช่วยเหลือชาวบ้านและกู้ซากบ้านที่ถูกดินถล่ม พร้อมกับเร่งหาชีวิตผู้สูญหาย สี่ วัดประสานภาครัฐให้เร่งรัดเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในชุมชนโดยไว และห้า วัดกำลังระดมทุนทุกภาคส่วนเพื่อเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
พระพุทธศาสนาในพม่าเป็นสายเถรวาทเหมือนบ้านเรา และความจริงประเทศไทยรับพระพุทธศาสนามาจากรามัญด้วยซ้ำไป แต่บทบาทของคณะสงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในอดีตพระสงฆ์ไทยในชุมชนมีบทบาทอย่างน้อย 3 ประการ คือ หนึ่ง เป็นผู้ไกล่เกลียความขัดแย้งในชุมชน สอง เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สะพาน สถานที่รักษาโรค และสามเป็นผู้ประสานงานระหว่างภาครัฐกับชุมชน วัดและพระสงฆ์จึงกลายเป็น “ศูนย์กลางของชุมชน” อย่างแท้จริง
ปัจจุบันบทบาทเหล่านี้แม้คณะสงฆ์พยายามจะรื้อฟื้นกลับมา แต่ก็ยากที่จะเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะชุมชนล้ำหน้ากว่าพระภิกษุทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และองค์ความรู้ ชุมชนส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่จึงคิดว่าวัดและพระสงฆ์ ไม่มีความจำเป็นที่ชุมชนจะต้องพึ่งพาเหมือนสมัยก่อน และภาครัฐไทยเอง ก็ได้พยายามเข้าไปมีบทบาทแทนเกือบหมดแล้ว แต่ถึงอย่างไรเสียด้านการช่วยเหลือชาวบ้าน ให้เข้าถึงชุมชนคณะสงฆ์ไทยก็ยังไม่ลดละ เลิกเสียทีเดียว อย่างน้อยมีความพยายามที่จะทำเห็นได้จาก 2 โครงการใหญ่ ๆ คือ มหาเถรสมาคม มีมติมอบให้พระพรหมวชิรญาณ (ปัจจุบันสมเด็จพระมหาธีราจารย์) เป็นประธานด้านสาธารณสงเคราะห์ ช่วยเหลือวัด ชุมชน และประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ และคิลานุปัฎฐาก พระอาสาสมัครประจำวัด ประจำตำบล เพื่อดูแลพระสงฆ์ด้วยกันเอง ในขณะเดียวกันเพื่อออกไปเยี่ยมเยียนผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง
ภาพที่เราเห็นได้ชัดบทบาทคณะสงฆ์ในประเทศพม่าที่เข้าถึงประชาชนและได้จริง ๆ ก็คือ หลังเกิดวิกฤติการณ์ดินถล่ม น้ำท่วมคราวนี้ที่มีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบชีวิต บ้านเรือนพังทลาย ทรัพย์สูญหาย เสียหายเป็นจำนวน อันนี้ยังไม่นับพืชผลทางเกษตรที่เสียหายเกือบหมดสิ้น
Leave a Reply