ก่อนเกิดเหตุการณ์ “โจรใต้” กราดยิงพระภิกษุและสามเณรในขณะที่เตรียมตัวจะออกโปรดสัตว์บิณฑบาตร จนเป็นเหตุให้สามเณรมรณภาพ 1 รูปมีพระภิกษุและสามเณรบาดเจ็บ 5 รูปนั้น
ไม่นานมานี้ มีพระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ที่เป็นชาวพุทธ “หยิบมือหนึ่ง” นั่งสนทนากันถึงสถานการณ์พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ในประเทศไทยกับบทบาทที่หายไป
ชาวพุทธกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ก็ประเภท “คนแก่เล่าความหลัง” แต่มีความห่วงใยต่อพระพุทธศาสนาและจุดยืนของคณะสงฆ์บ้านเรา ที่เกี่ยวข้องกับมติทางศาสนาและศีลธรรม เช่น สถานการณ์คณะสงฆ์ภาคใต้ เรื่องบ่อนกาสิโน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่ยื่นมาแล้วนับสิบรอบ แต่ไปไม่รอดสักรอบ!!
มีท่านหนึ่งที่ประชุมพูดน่าคิดว่า การที่พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์บ้านเราไม่มีอะไรต่อรองกับ “นักการเมือง” หรือ “ข้าราชการ” สาเหตุหลักคือ ขาดองค์กรเคลื่อนไหวทางพระพุทธศาสนาที่มีอุดมการณ์และจุดยืน และมีองค์ความรู้ โดยองค์กรดังกล่าวต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่ที่ผ่านมามีพระสงฆ์และคฤหัสถ์บางคนหลงไหลไปกับกลิ่นการเมืองและผลประโยชน์ที่เขายื่นให้
“ผู้เขียน” จึงบอกเสมอว่า “เสียดายโอกาส” เมื่อปี 2558 คณะรัฐมนตรีมี มติเห็นชอบตามมหาเถรสมาคมเสนอให้ “ปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสน 6 ด้าน” พร้อมกับการปรับปรุงให้ “พุทธมณฑล” เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
ปฎิรูปพระพุทธศาสน อีท่าไหนไม่รู้ สุดท้าย“รัฐ” จำกัดบทบาทพระสงฆ์ที่เคยมีในอดีตไปเกือบหมดสิ้น และรวมทั้ง “มหาเถรสมาคม” ก็โดน “ริบอำนาจ” ไปด้วย
ทุกวันนี้คณะสงฆ์นอกจาก “นั่งประชุม-เฝ้าวัด” รอกิจนิมนต์ “สวดมนต์-เจิมบ้าน” แล้ว แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย ที่เป็นไปเพื่อความเจริญและความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธ “บางคน” ก็ดักดาล ไม่เคยออกจากถ้ำ ไม่เข้าใจ “บริบทสังคมไทย” ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและวิธีคิดของชาวพุทธส่วนใหญ่ ที่เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว มุ่งเป้าให้พระปฎิบัติตนให้ “หลุดพ้น” อย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่เคยบอกแล้วว่า บทบาทพระภิกษุไทยในประเทศไทย มีทั้งพระสายป่า พระเมือง และพระกรุง
“ผู้เขียน” ตอนเรียนปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์” โดยศึกษากรณี พระพิมลธรรม เป็นโมเดล พบว่า “กลุ่มยุวสงฆ์” ยุคก่อนมีบทบาท “เข้มข้น” ในการต่อสู้เพื่ออุมดมการณ์และจุดยืน
แต่ก่อนต่อสู้ยุคนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่าง “มหานิกาย” และ “ธรรมยุต” เป็นหลัก เช่น การเคลื่อนไหวในปี 2477 ของพระสงฆ์มหานิกายกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนา” ประมาณ 300 รูป ลุกขึ้นต่อสู้เเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจาก “พระมหานิกาย” มองว่า พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ล้าหลัง คณะสงฆ์มหานิกายถูกเอาเปรียบเพราะธรรมยุตปกครองมหานิกายได้ แต่มหานิกายปกครองธรรมยุตไม่ได้ ทั้งการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ล้าหลัง ไม่ทันยุคสมัย
การลุกขึ้นต่อสู้ของ “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนา” โดยคณะสงฆ์มหานิกายนี่เอง จึงได้มา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ที่แยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ชัดเจน
แต่สุดท้าย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ก็ถูก “ยกเลิก” เนื่องจากคณะสงฆ์ธรรมยุตมองว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ผิดหลักพระธรรมวินัย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอีกสาเหตุประการหนึ่ง คือ อดีตพระพิมลธรรม หรือ “หลวงพ่ออาจ อาสภเถระ” เป็นหัวหอกต่อต้าน พระศาสนโสภณ (จวน อุฎฐายี) ขึ้นเป็น “สังฆนายก” จึงมีคนไป “เป่าหู” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าพระพิมลธรรมฝักใฝ่การเมือง เป็นคอมมิวนิสต์ อยู่ “ขั้วตรงข้าม” กับจอมพลสฤษฎิ์ จนเกิดความ “วุ่นวาย” ขึ้นในคณะสงฆ์
ยุคนั้น “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ต้องการสร้างความั่นคงให้กับประเทศชาติ ภายใต้สโลแกน “ข้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว” ยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 จับพระพิมลธรรม “ใส่คุก” ตอนหลังใกล้ตายแม้ต้องการจะไปขอขมา..ก็ไม่ทันกาล
“กลุ่มยุวสงฆ์” เกิดขึ้น ณ “ลานอโศก” วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ คือ เวทีเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “พระพิมลธรรม” กลุ่มพิราบเหลือง เกิดขึ้นภายใน “มจร” แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งอยู่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “พระพิมลธรรม” มิใช่เรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารกิจการคณะสงฆ์เหมือน “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนา”
หลัง “พระพิมลธรรม” ออกจากคุกบทบาทของ “กลุ่มยุวสงฆ์” แผ่วเบาลงและเลือนหายไปในที่สุด ในห้วงการเมืองช่วง 6 ตุลาคม 2519 พระภิกษุสงฆ์พอมีบทบาทบ้าง เช่น “พระกิตติวุฑโฒ” เจ้าของวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือต่อมาห้วงเวลาปี 2535 “พฤษภาทมิฬ” เป็นบทบาทของกลุ่ม “สันติอโศก”
“ผู้เขียน” เคยได้รับฟังแบบเรื่องเล่าจาก “นายทหาร” คนหนึ่งว่า หลังจากยุวสงฆ์ลานอโศก ลดบทบาทลง มีพระสงฆ์และกลุ่มชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง นำโดย “เจ้าคุณระแบบ” พระธรรมเมธาภรณ์ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ อดีตประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เป็น “หัวหน้าทีม” ก็ “จับกลุ่ม” คุยกับบ้าง แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ ในกลุ่มประกอบด้วย “พระมหาเถระ-พระรุ่นใหม่” และ “กลุ่มฆราวาส” ซึ่งประกอบด้วยนายทหาร นักวิชาการและอดีตนักบวชลาพรต โดยเฉพาะเป็นคณาจารย์และอนุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กลุ่มนี้เดิมพูดคุยเพราะเห็นภัยจากศาสนาคริสต์ ที่กำลังคุกคามเผยแพร่คำสอนอย่างได้มรรคได้ผล และทั้งกลุ่มดังกล่าวเห็นภัยคุกคามอื่น ๆ ในห้วงจังหวะที่ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2527 ด้วย จึงเกิดการรวมตัวกันในนาม “ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์” ซึ่งต่อมาศูนย์แห่งนี้ดำเนินการทางวิชาการเป็นส่วนใหญ่ เช่นออกหนังสือ ออกเทป และจัดงานเสวนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นในห้วงปี 2544 ถือว่าเป็นการต่อยอดจากศูนย์ส่งเสริม ฯ ศูนย์แห่งนี้เคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องแบบ “เข้มข้น” ยิ่งใน “ยุครัฐบาลทักษิณ” พรรคไทยรักไทย “ก่อม๊อบ” นำชาวพุทธและคณะสงฆ์ ปักหลักค้างคืน “หน้ารัฐสภา” เรียกร้อง “กระทรวงพระพุทธศาสนา” ยังเอาจริงเอาจัง จนเป็นที่มาของ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”
แม้ในห้วงหลัง ๆ ประมาณปี 2548 “ทักษิณ ชินวัตร” พยายามนำศาสนสมบัติกลางไปแปลงเป็นทุน ศูนย์พิทักษ์ฯ ก็มีบทบาท “คัดค้าน” มิใช้น้อย
หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ถูกรัฐประหารโดย “พล.อ.สนธิ บุณยกลิน” ในปี 2549 กลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธที่เคย “จับกลุ่ม” เริ่มแตกคอ ตัวละครมีใครบ้าง สาเหตุหลักฝักใฝ่ไปเข้าร่วมกับ “พล.อ.สนธิ บุณยกลิน” เกิดจากประการใด
“ผู้เขียน” จะไม่ขอลงรายละเอียด
จนกระทั้งเกิด “กลุ่มเสื้อแดง” หรือ นปช. มีพระภิกษุสงฆ์และนักวิชาการหลุ่มหนึ่ง แยกตัวออกมาร่วมด้วย เช่น “เจ้าคุณประสาร” ปัจจุบันคือ พระเทพวัชรสารบัณฑิต “เจ้าคุณโชว์” พระสุธีวีรบัณฑิต ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ หรือ ดร.เสถียร วิพรมหา เป็นต้น
ในห้วงเวลาต่อมามี “พระสงฆ์ -นักวิชาการ” ส่วนหนึ่งฝักใฝ่ “พรรคการเมือง” เอนเอียงเข้าไปหา “นักการเมือง” ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนและอุดมการณ์เพื่อพระพุทธศาสนาอันเป็นส่วนรวมหรือเพื่อ “ตัวเอง” กันแน่ ทั้งหลายรูป หลายคน ถูกฝ่ายตรงข้าม “คุมคาม” และต้องคดี ทั้งถูก “อำนาจรัฐ” บีบ จนต้องถอยอยู่ที่ตั้ง “ทบทวน” บาทบาทตนเอง ซึ่งมองไปรอบข้าง “เพื่อน ๆ “ ที่อยู่เป็น เจริญเติบโตทางตำแหน่งหน้าที่และสมณศักดิ์กันหมดแล้ว หลายรูป หลายคนต้องเก็บอุดมการณ์ไว้ “ใต้ลิ้นชัก”
หรือต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ มี “กลุ่มยุวสงฆ์” เล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า “แกนนำยุวสงฆ์ปลดแอก” หรือเชื่อเต็มว่า “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” ออกไปร่วมชุมนุมกับพรรคการเมือง สุดท้ายก็ต้องคดี บางรูปต้องลาสิกขาไปในที่สุด กลุ่มนี้สุดท้ายก็ “ล่มสลาย”
ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จากเดิมมีเป้าหมายต่อสู้และเรียกร้องเพื่อพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ตั้งแต่ปี 2549 เริ่มเห็น “รอยผลิ” อันเนื่องมาจากความเห็นไม่สอดคล้องกันทางการเมือง บางคน บางคนจึงแยกตัวออกไปเคลื่อนไหวอิสระ ระยะหลังจึงมุ่งเป้าไปช่วยเหลือวัดและพระภิกษุสงฆ์ในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่
ต่อมาแม้ “พระธรรมกิตติเมธี” ซึ่งเป็นพระนักต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ผู้รับมรดกสืบทอด “อุดมการณ์-จุดยืน” จาก “เจ้าคุณระแบบ” เป็นพระภิกษุที่ตรงไปตรงมา ประเภท “ยอมหักไม่ยอมงอ” ยอม “ตำแหน่ง” มากกว่าเสีย “อุดมการณ์และจุดยืน” เข้ารับตำแหน่งประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โดยมี “เจ้าคุณประสาร” พระนักเคลื่อนไหวทางสังคมชื่อดังเป็นเลขาธิการศูนย์พิทักษ์ ฯ และ “พระครูปลัดธีรวิทย์”เป็นผู้ช่วยเลขาฯ ก็ไม่สามารถนำพาศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ฝ่ามรสุมเชี่ยวกราก จากการ “ถูกกดดัน” ทั้งจากผู้มีอำนาจทาง “คณะสงฆ์และการเมือง” ได้ จึงต้องปิดตัวลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา
หลังศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย “ปิดฉาก” พระภิกษุที่อยู่ในตำแหน่งในหน้าที่ในศูนย์พิทักษ์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น “พระธรรมกิตติเมธี” ล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 17-18 “เจ้าคุณประสาร” ได้รับสมณศักดิ์ที่ “พระเทพวัชรสารบัณฑิต” ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร ขณะที่ “พระครูปลัดธีรวิทย์” ได้รับตำแหน่ง “รองอธิการบดี มมร” และได้รับโปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์ที่ “พระวัฒนวชิรเมธี”
ปิดฉาก..พระนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีอิทธิพลและมีพลังต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของชาวพุทธเหลือแต่ตำนานเล่าขานไม่รู้จบ!!
หมายเหตุ..ข้อเขียนนี้ไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการรองรับ จะไปอ้างอิงทางหนึ่งทางใดไม่ได้
Leave a Reply