หนึ่งในเหตุผลของการบวชในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือบวชเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมือง โดยใช้พระพุทธศาสนาและผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ เป็นที่พึ่งพำนักให้พ้นภัยอุปัทวันตราย
กรณีที่เป็นที่รับรู้กันมากที่สุดคือ พระเฑียรราชาทรงบวชเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมือง โดยหลังจากพระไชยราชาสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วนั้น พงศาวดารระบุว่า “…ฝ่ายพระเทียรราชาราชซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชานั้น จึ่งดำริว่า ครั้นกูอยู่ในฆราวาส บัดนี้เห็นภัยจะบังเกิดมีเป็นมั่นคง ไม่เห็นสิ่งใดที่จะเป็นที่พึ่งได้ เห็นแต่พระพุทธศาสนาและผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ จะเป็นที่พำนักพ้นภัยอุปัทวันตราย ครั้นดำริแล้วก็ออกไปอุปสมบถเป็นภิกษุภาวะอยู่ ณ (วัด) ราชประดิษฐาน”
พระองค์ทรงบวชเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมือง โดยทรงรอเวลาในการรวบรวมกำลังไพร่พลที่จะสนับสนุนพระองค์ให้พร้อม ก่อนกำจัดขุนวรวงศาธิราชแล้วครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในเวลาต่อมา พระองค์ก็ได้ทรงสละราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช พระราชโอรส แล้วทรงบวชอีกครั้ง พระองค์ทรงบวชเพื่อหนีความวุ่นวาย มีพระราชประสงค์หาความสงบ โดยมีขุนนางออกบวชตามจำนวนมาก โดยนัยหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสทางการเมืองให้ขุนนางกลุ่มใหม่ของพระราชโอรส เข้าบริหารแทนที่ขุนนางเก่าของพระองค์
อีกกรณีคือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ช่วงปลายรัชกาลก่อนที่พระองค์จะสวรรคต พระองค์ทรงถวายพระราชวังลพบุรีให้เป็นเขตพุทธาวาสและให้ขุนนางที่ใกล้ชิดบวชเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมือง เพราะทรงทราบว่า พระเพทราชากำลังวางแผนยึดราชสมบัติ จึงมีพระราชโองการให้ขุนนางที่ใกล้ชิดให้มาเข้าเฝ้า
“จึงมีพระราชดารัสให้หาบรรดาชาวที่ชาววังซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมประมาณสิบห้าคนเข้ามาเฝ้าในพระมหาปราสาทที่นั่งสุธาสวรรย์ที่เสด็จทรงพระประชวรอยู่แล้วนั้น จึงมีพระราชโองการตรัสว่า บัดนี้ อ้ายสองคนพ่อลูกมันคิดการเป็นกบฏ ฝ่ายเราก็ป่วยทุพลภาพหนักอยู่แล้ว เห็นชีวิตจะไม่ตลอดไปจนสามวัน และซึ่งท่านทั้งหลายจะอยู่ในฆราวาสนั้นเห็นว่า อ้ายกบฏพ่อลูกมันจะฆ่าเสียสิ้น อย่าอยู่เป็นคฤหัสถ์เลย จงบวชในพระบวรพุทธศาสนา เอาธงชัยพระอรหันต์เป็นที่พึ่งเถิดจะได้พ้นภัย”
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อพระองค์สวรรคต เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ทรงไม่ลาสิกขาออกมารับราชสมบัติ ตามที่พระราชพงศาวดารระบุว่า “เจ้าฟ้านเรนทรซึ่งเป็นกรมขุนสุรเรนทรพิทักษ์เป็นภิกษุภาวะ เมื่อมิได้รับซึ่งราชสมบัติ จึงมิได้ลาผนวชออก” ทั้งนี้ก็เพราะ เจ้าฟ้าพร ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้เป็นอานั้น ทรงมีพระราชอำนาจมากประการหนึ่ง มีความเหมาะสมเป็นผู้มีสิทธิครองราชสมบัติที่สุดประการหนึ่ง เจ้าฟ้านเรนทรจึงทรงบวชต่อไปเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทั้งนี้ ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์อา-หลานอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกันมากพอสมควร
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีเหตุการณ์การบวชเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมืองเช่นกัน กรณีนี้คือ เจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เรื่องนี้สืบเนื่องจากความสัมพันธ์อา-หลาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับเจ้าฟ้านเรนทร (ซึ่งทรวงบวชเป็นพระอยู่) ใกล้ชิดกันมาก จนเกิดข่าวลือว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะถวายราชสมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร
จนกระทั่งวันหนึ่ง เจ้าฟ้านเรนทรถูกเจ้าฟ้ากุ้งลอบทำร้ายถึงในพระราชวังหลวง ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพิโรธอย่างมาก กรมหลวงอภัยนุชิต ผู้ทรงเป็นพระราชมาดาของเจ้าฟ้ากุ้ง จึงทรงรีบพาเจ้าฟ้ากุ้งขึ้นไปหลบในพระวอแล้วพาออกไปยังวัดโคกแสง แล้วให้เจ้าฟ้ากุ้งทรงบวชที่วัดนั้น เพื่อไม่ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศลงพระราชอาญา
ปลายยุคกรุงศรีอยุธยามีกรณีที่คุ้นเคยกันดีคือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งในช่วงในปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงบวชเพื่อเลี่ยงการกระทบกระทั่งทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างพี่-น้อง พงศาวดารระบุว่า “จึงดำรัสสั่งเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ) ว่า จงไปบวชเสียอย่าให้กีดขวางเลย เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีมิอาจขัดพระราชโองการได้กลัวพระราชอาญาก็ต้องจำพระทัยทูลลาไปทรงผนวช”
หมายความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตั้งพระทัยมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงควรยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมดด้วยการออกบวชเสีย ครั้นต่อมา สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรครองราชสมบัติแล้ว ก็ถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แล้วทรงบวชเสด็จไปพำนัก ณ วัดประดู่ ซึ่งการออกบวชในครั้งนี้เพื่อทรงหลีกหนีความวุ่นวายทางการเมือง และใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งคุ้มกันจากภยันตราย ขณะเดียวกัน กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็จำต้องทรงบวชหลบภัยการเมืองในคราวนี้เช่นกัน จนต่อมาถูกเนรเทศไปอยู่ที่ลังกา
ภาพนี้คือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์อยุธยา (เดิมเข้าใจคาดเคลื่อนว่าเป็นภาพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ในสมุดพม่าชื่อ “นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า “เอกสารการบันทึกราชสำนัก พร้อมด้วยภาพเขียน” ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ British Library กรุงลอนดอน
ที่มา : https://www.silpa-mag.com/
Leave a Reply