จิ๊บๆ! 2พส.ไลฟ์สดชม 2 แสน ยก”เจ้าคุณว.”ยอดใช้สื่อออนไลน์เด่นเพจ 6 ล้านสร้างสังคมสันติสุข

เนื่องจากสังคมไทยขณะนี้ ตกอยู่ในสภาพ “หิวแสง” เมื่อมีผู้มีแสงอุบัติขึ้นทางสื่อออนไลน์ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนต้องต้องมีวิถีชีวิตใหม่หรือ “นิวนอร์มัล” ทำให้เหล่า “หิวแสง” ทั้งสื่อกระแสหลักรอง สื่อทีวี ยูทูบเปอร์ ดารา นักร้อง นักการเมือง เข้ามาคอลแลปส์ วิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นทั้งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

บุคคลที่ “มีแสง” ในที่นี้คือ 2 พส.(พระสงฆ์) คือพระชื่อดัง 2 รูป ได้แก่ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” พระประจำวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร ที่มักไลฟ์สอนธรรมะผ่านเฟซบุ๊กเพจ ด้วยศัพท์วัยรุ่น สนุกสนานถูกใจชาวโซเชียลเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ขายขำเพิ่มความบันเทิง คำคม วลีเด็ดโดนใจวัยรุ่นเท่านั้น แต่การโพสต์และไลพ์สดแต่ละครั้งยังคงควบคู่ไปกับการสอดแทรกธรรมะและนำกระแสต่าง ๆ มาวิเคราะห์ในเชิงพุทธศาสนาให้ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าใจง่ายอีกด้วย อีกรูปหนึ่งคือพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ชื่อดัง ที่เป็นพระรุ่นพี่ร่วมวัดสร้อยทองด้วยกัน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา 2 พส.ได้ไลฟ์สดร่วมกัน ภายใต้หัวข้อ ว่า”…ดังนั้นจะมาเป็น พส.เหมือนกันไม่ได้ ไม่ใครก็ใครจะต้องสู่ขิต” คำว่า พส.นั้นเป็นคำติดปากของวัยรุ่นที่หมายถึง “พี่สาว” หรือ “เพื่อนสาว” แต่ในกรณีนี้จะหมายถึง “พระสงฆ์” แต่ปรากฏการณ์เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 ก.ย.2564ดังกล่าว ได้มีผู้เข้าชมสดในเพจพระมหาสมปองหลายหมื่นคน และเพจพระมหาไพรวัลย์มีผู้ชมมากถึง 1.8 แสนคน รวมกันแล้วมีผู้ชมสดๆ มากกว่า 2 แสนคน

จากการไลฟ์สดของ 2 พส.ดังกล่าวทำให้เกิดทัวร์ลงทั้งที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ฝ่ายเห็นด้วยก็มองว่า พระสงฆ์ของพระสงฆ์ทั้งสองรูปมีความรู้ดี เปลี่ยนภาพลักษณ์การแสดงธรรมแนวใหม่ โดยใช้คำร่วมสมัยพาดหัวเรื่อง คำคมเสริมวลีเด็ดสอดแทรกธรรมะและนำกระแสต่าง ๆ มาวิเคราะห์ในเชิงพุทธศาสนา ส่งผลให้มีคนชมวันละกว่า 2 แสนคน ถือว่ามีประโยชน์มากกว่าเสีย เพราะช่วยดึงคนรุ่นใหม่เข้าหาธรรม แม้จะสนุกสนาน ขายขำเพิ่มความบันเทิงมุขตลกหรือแก๊กอยู่บ้างนับเป็นบุคลิกส่วนบุคคล ไม่ถือว่าไม่ผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงเป็นเพียงต้องอาบัติเล็กๆน้อยๆ ไม่ได้ขาดจากการเป็นพระเป็นสงฆ์แต่อย่างใดปรับปรุงกันไปให้เกิดความพอดี และพระสงฆ์แบบนี้ควรมีไว้ให้เข้ากันได้กับยุคสมัย

ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มองว่า เป็นอลัชชีไม่สำรวมให้เหมาะกับสมณสารูป ใช้ห้คำส่อเสียดแขวะรัฐบาลด้อยค่าวัคซีน รีวิวขายอาหารเสริม มุ่งบันเทิงมุขตลกขายขำ นับว่าไม่ยึดพระธรรมวินัย เป็นกิจของคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคมที่จะดำเนินการ

อย่างไรก็ตามขณะที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นกระแสอยู่นั้น พระเมธีวชิโรดมร่ายกลอนยก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นปราชญ์แท้ ผ่านเพจพระเมธีวชิโรดม – ว.วชิรเมธี ได้โพสต์ข้อความว่า “ปราชญ์แท้”

สมณะสง่างามยามสงบ
ทรงไว้ครบซึ่งพระไตรสิกขา
เอกอุดมคมชัดด้วยปรัชญา
ปฏิปทารู้ระวังทั้งอินทรีย์

ครองชีวิตง่ายงามตามอย่างพระ
อาจาระชุบชูใจให้สุขี
ทุกคำที่โอษฐ์เอ่ยเผยพจี
ล้วนธรรมดีจริงชัดชะงัดนัก

ไม่คะนองครองตนบนศีลสัตย์
รู้ระมัดปาฏิโมกข์เป็นโลกหลัก
ถึงอยู่ป่าแต่ทันเมืองปราดเปรื่องนัก
เป็นประจักษ์ปราชญ์แท้แผ่พระธรรม

ยามวิกฤติศรัทธามารานรุก
พระปลอบปลุกด้วยปรีชาพาดื่มด่ำ
งามทั้งต้นทั้งกลางอย่างเลิศล้ำ
คือสงฆ์ค้ำแผ่นดินถิ่นเมืองไทย

(กวีนิพนธ์ : ว.วชิรเมธี)

พร้อมกันนี้ข้าพเจ้า ดร.สำราญ สมพงษ์ พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เขียนกลอนเตือนสติสังคมว่า

ยามรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน
ยามนานไปที่หวานกลายขม
เป็นมนุษย์จงอย่าหลงคำคม
ตรอมตรมที่หลงปากกาลวง

พส.ไพรวัลย์สมปองเครือข่ายเด่น
ดังเดือนเพ็ญทักษะสื่อสมสมัย
องค์ความรู้เพิ่มอีกนิดคงสุขใจ
ทัศนคติสำรวมบ้างทุกฝ่ายคงสมใจ

อย่าทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่
บางเรื่องเจรจาภายในจะได้ผล
กวนน้ำเหลือในส้วมจะอับจน
เกิดเป็นคนควรมั่นพินิจตรอง

เพราะภายในใจไม่มีอะไรใส่
ไม่ใส่ใจมากใครเป็นอะไร
ขอปล่อยให้สัตว์โลกเป็นไป
เรื่องของใครก็เรื่องของใคร

(กวีนิพนธ์ : ดร.สำราญ สมพงษ์)

ยก “เจ้าคุณว.” ยอดใช้สื่อออนไลน์เด่นเพจ 6 ล้านสร้างสังคมสันติสุข

การไลฟ์สดของ 2 พส.นับได้ว่าเป็นธรรมชาติของการสื่อสารออนไลน์ในยุคปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์และโทษอย่างมหาศาล ถูกยกให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศไทยสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์อาชา เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรกเรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ส่งสารที่เรียกว่า “สื่อมวลชน” หรือ “นักข่าวพลเมือง” ในสื่อกระแสหลักหรือสื่อใหม่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ยังขาดทัศนคติที่ดีในการทำหน้าที่ขัดแย้งย้อนแย้งต่อจริยธรรมจรรยาบรรณ เนื้อหายังเจือด้วยความเท็จ เฟกนิวส์ เสียดสีสร้างความเกลียดชัง ด่าทอ และเน้นความบันเทิงไร้ประโยชน์

ขณะที่การสื่อสารออนไลน์ของพระสงฆ์ไทยยังมีสภาพที่ไม่แตกต่างจากฆราวาสวิสัย จากการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการทำให้ทราบสาเหตุคือยังขาดทัศนคติ ขาดความรู้ในทฤษฎีการสื่อสารที่ดี ทักษะในการสื่อสารตามที่กำหนดในทักษะศตวรรษที่ 21 พร้อมกันนี้ยังมีสภาพขาดการหลอมรวมเป็นทีมงานทำหน้าที่ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ยังมีลักษณะเป็นเอกเทศเครือขายก็ยังน้อย จึงมีความจำเป็นที่พระสงฆ์ไทยต้องแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการสื่อสารออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อส่งเสริมสันติภาพผ่านทฤษฎีการสื่อสารพื้นฐานSMCRของ เดวิด เค. เบอร์โลบูรณาการกับทฤษฎีการสื่อสารเพื่อสันติภาพของ โยฮัล กันตุง และทฤษฎีการสื่อสารเพื่อสันติของ มาร์แชล โรเซนเบิร์กพบว่า มีหลักธรรมว่าด้วยสันติภาพ กรุณา ขันติธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ส่งสารผ่านเฟซบุ๊ก ใช้หลักการวิเคราะห์สังเกตก่อนตัดสินข้อมูลตามข้อเท็จริง ตามความรู้สึกเกิดประโยชน์ตรงตามความต้องการหรือไม่ แล้วประกอบสารมีเนื้อหาที่จริง ประสานประโยชน์ ตามลักษณณะ“4N” การสื่อสารเพื่อสันติภาพ และ “NVC” คือ การสื่อสารเพื่อสันติ สามารถสร้างสติสุขให้กับผู้รับสาร หลังจากนั้นส่งสารในช่องทางคือเฟซบุ๊กในเวลาที่เหมาะสม และทุกขั้นตอนไร้อคติ ถึงจะเกิดสติสุขสากลต่อสังคม

รวมถึงต้อมีพระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) เป็นพระผู้เป็นต้นแบบพระสงฆ์สร้างเครือข่ายสงฆ์ส่งสารสื่อสติสุขสากล เนื่องจากเป็นพระสงฆ์ที่มีสติเป็นฐานแห่งเมตตาและปัญญาในการทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมสื่อสันติภาพเป็นที่ประจักษ์ มีผู้เลื่อมใสศรัทธาติมตามผลงานในฐานที่เป็นนักเขียน นักเผยแพร่ นักสันติภาพผ่านทางเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามเพจ”พระเมธีวชิโรดม – ว.วชิรเมธี” มากถึง 6,169,658 ราย นับได้ว่าเป็นพระที่มีความรู้ ทักษะในการสื่อสารออนไลน์ทำให้ธรรมะติดปีกเพราะรู้ประโยชน์ของเทคโนโลยีระดับสูงและเข้าใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มีทีมงานและเครือข่ายดี

Leave a Reply