“พระเทพปวรเมธี”รองอธิการบดี “มจร” ย้ำการฟ้องร้องต้นเหตุแห่งความทุกข์ สร้างความขัดแย้งกันเป็นกับดักการเจริญเติบโตรุ่งเรือง ยันมุ่งยกระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเชิงพุทธสันติวิธี
เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2564 พระเทพปวรเมธี,รองศาสตราจารย์ ดร.รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นประธานเปิดการสนทนากลุ่มเฉพาะเรื่องรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยพุทธสันติวิธี ซึ่งจัดโดยหลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมกับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศาสตราจารย์,ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร กล่าวถวายรายงานในการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเครือข่ายด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในยุติธรรมกระแสหลักและยุติธรรมทางเลือกร่วมเป็นจำนวนมาก
พระเทพปวรเมธี กล่าวว่า หลักสูตรสันติศึกษาจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มีผู้เข้ามาศึกษาจำนวนมาก เป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพมีผู้บริหารระดับสูงเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร โดยศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ซึ่งจะครบ 1 ปี มีการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจำนวน 3 รุ่น ที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง โดยศูนย์ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาในมิติกระบวนการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งบูรณาการรูปแบบที่มีความหลากหลายแต่จำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
เราควรจะกำหนดรูปแบบอย่างไร หลักสูตรสันติศึกษาใช้เครื่องมือพุทธสันติวิธีมาบูรณาการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จึงต้องมอง 1)คุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยเฉพาะคุณธรรมของผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคุณสมบัติเฉพาะ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีความรู้ความเข้าใจในมิติกฎหมาย เป็นที่ยอมรับ พื้นฐานของผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีพรหมวิหารธรรมมีความรักความปรารถนาดี เพราะการฟ้องร้องกันทำให้มีแต่ความทุกข์ การไกล่เกลี่ยจะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ โดยมีความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย โดยมุ่งหลักสาราณียธรรมด้วยการคิดพูดธรรมด้วยความเมตตา รวมถึงสาธารณโภคี มีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เกิดความพอใจยุติธรรม ยอมรับ มีความเห็นตรงกัน ทำอย่างไรจะพัฒนาจะพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยให้มีความรู้ด้านกฎหมาย มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ เป็นที่ยอมรับของคู่กรณี
2)กระบวนการของการไกล่เกลี่ยให้สามารถบรรลุเป้าหมาย โดยหารูปแบบวิธีการที่มีความเหมาะสม หรือ อาจจะหาหลากหลายรูปแบบเพื่อยุติข้อพิพาท มีเป้าหมายเดียวกันคือยุติ แต่วิธีการที่มีความหลากหลาย โดยผู้ทรงคุณวุฒิช่วยวิพากษ์เติมเต็ม ซึ่งในอนาคตพัฒนาหลักสูตรให้มีการต่อยอดอย่างไร โดยพัฒนาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรโดยใช้ระยะเวลา มีการมอบหมายให้ลงไปทำจริงเป็นภาวนามยปัญญา มีการทดลองใช้จริง จะต้องลงทำจริงสามารถขยายผลไปส่วนภูมิภาคของ มจร และภาคีเครือข่ายในการทำงานด้านไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พร้อมศึกษาแต่ละกรณีเพราะรูปแบบเดียวอาจจะใช้ทุกกรณีไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีรูปแบบ
3) พัฒนาเป็นหลักสูตร ขยายผลไปส่วนภูมิภาคให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ยกระดับเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร เพราะการแก้ปัญหาต้องพุดคุยกันเท่านั้นใช้เพียงกฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะการฟ้องร้องเป็นกับดักในการเจริญเติบโตจะต้องหันหน้ามาคุยกัน เราจึงมาร่วมหารูปแบบที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาสังคมต่อไป ประเด็นคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดข้อพิพาท แต่ถ้าเกิดแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขอย่างไร ให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้เป็นอย่างดี
Leave a Reply