เมื่อวานนี้เล่าตอนแรกว่าแบบ “ปูพื้น” เล่าความหลังชีวิตตนเองที่เข้าไปพัวพันกับชาติพันธุ์มอญได้อย่างไร และทำไมจึงอาสาไปช่วยเหลือคณะสงฆ์มอญ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกื้อกูลชีวิตตนเองแม้แต่นิดเดียว ซึ่งประเด็นนี้หากพูดให้สวยหรู ดูดีก็ต้องบอกว่า ทำ เพื่อตอบแทน “คุณบรรพบุรุษมอญ” และตอบแทน “คุณพระพุทธศาสนา-ผ้าเหลือง” เพราะ คณะสงฆ์ในฐานะกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อน พระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พระไทย พระพม่า พระเขมรหรือพระมอญ หากบุคลากรทางศาสนาเหล่านี้มีคุณภาพ มีความรู้ มีความศักยภาพ พระพุทธศาสนา ก็จะเจริญรุ่งเรืองไปในตัว และพยายามปลอบใจคณะสงฆ์มอญมาต่อตลอดว่า อย่าได้เกรงใจคณะสงฆ์ไทย มีอะไรให้ท่านช่วยบอกผ่านข้าพเจ้าได้ เพราะทุกรูปคือ “ลูกของพระพุทธเจ้า” เหมือนกัน เราคือ “พี่น้องกัน”
วันนี้เขียนเป็นตอนที่ 2 พอเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย อ่านเพื่อความบันเทิงผสมไปในตัวด้วย แต่ทุกตัวอักษรที่บรรจงเล่าคือ “ความจริง” ทั้งหมด
หลังจากคณะสงฆ์รามัญนิกายกลับประเทศไปแล้ว ข้าพเจ้าในฐานะผู้ประสานงานระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้ขอคำปรึกษาหารือกับ พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บ่อยครั้ง สิ่งที่ท่านมักถามย้ำอยู่เสมอ ๆ คือ หลักสูตรที่คณะสงฆ์รามัญนิกายศึกษาอยู่นั่นมหาเถรสมาคมพม่ารับรองแล้วหรือไม่ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ที่ตั้งขึ้นมานั่นรัฐบาลพม่ารับรองแล้วหรือไม่ หากมีให้แปลหลักสูตรที่คณะสงฆ์รามัญนิกายเรียนเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งของเอกสารที่รัฐบาลพม่ารับรองสถานภาพของ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ เพื่อท่านจะได้เสนอผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามระบบต่อไป จนกระทั้งขอให้ทางข้าพเจ้าตั้งทีมงานทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมดสิ่งที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต้องการมากที่สุด คือ จดหมายขอความอนุเคราะห์จากคณะสงฆ์รามัญนิกาย
ข้าพเจ้าในฐานะผู้ประสานงานระหว่างคณะสงฆ์รามัญนิกาย มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกครั้งที่เจอ พระโสภณวชิราภรณ์ ท่านจะถามถึงจดหมายของความร่วมมือจากคณะสงฆ์รามัญนิกายเป็นประจำ ในขณะที่คณะสงฆ์รามัญนิกาย ก็ไม่มีใครร่างจดหมายให้ หรือถึงจะมีก็กล้า ๆ กลัว บนฐานของความไม่พร้อมของ มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ ทั้งประเด็น หลักฐาน,บุคลากร,และรวมทั้งหลักสูตร เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น
กว่าจะได้หนังสือจดหมายจากคณะสงฆ์รามัญนิกายล่วงเลยมาได้เกือบ 3 ปี คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 และต่อมาพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็อนุมัติตามที่ รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสนอไปคือมอบให้ รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ดำเนินการและตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้
(เรื่องจดหมายนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ร่างภาษาไทยเอง แล้วจ้างให้คนแปล โดยเนื้อความก็สรุปจากการพูดคุยกันครั้งแรก แล้วส่งให้ผู้บริหารรามัญรัฎฐะ กลั่นกรอง เนื่องจากหากไม่ทำเยี่ยงนี้ ยิ่งล้าช้า ยิ่งเสียโอกาส )
หลังจากนั้นจดหมายฉบับนี้ พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มจร ก็ดำเนินการส่งเข้าขบวนการของระบบของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สุดเรื่องนี้ก็เงียบหายไปแต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงมีปัญหาด้านเอกสารทั้งหนังสือรับรองการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์รามัญนิกายจากมหาเถรสมาคมพม่า และหนังสือรับรองการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ของคณะสงฆ์รามัญนิกาย ตามที่ท่านเจ้าคุณพระโสภณวชิราภรณ์ ร้องขอแต่ข้าพเจ้าไม่สามารถหามาให้ได้ เนื่องจาก “ไม่มี”
หลังจากนั่นเรื่องจดหมายของความร่วมมือจากคณะสงฆ์รามัญนิกายก็เงียบหายไป ทราบแต่ว่าอยู่ที่ฝ่ายแผนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อมาเมื่อต้นปี 2561 ข้าพเจ้าได้และคณะมูลนิธิรามัญรักษ์ ไปถวายผ้าไตรแด่พระคณาจารย์สอนบาลีช่วงสอบบาลีของคณะสงฆ์รามัญนิกาย ข้าพเจ้าได้สอบถามเรื่องนี้จาก Ven.Silacara (หลวงพ่อวัดอุปโค,อดีตรองประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายและอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ) ท่านกล่าวว่า ในประเทศเมียนมานี้ รัฐบาลเมียนมา ไม่เคยรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ไหนเลยสักแห่ง แต่ยินดีให้คณะสงฆ์เปิดมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ และท่านยังพูดแบบเล่น ๆ ว่า ในชีวิตของท่านไม่เคยคิดมาก่อนว่า มอญจะมีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเอง คณะสงฆ์มอญทำอะไรไม่เป็น บริหารจัดการไม่เป็น แต่หากเป็นสำนักเรียนบาลีของวัด ท่านถนัดเพราะทำมาทั้งชีวิต จึงฝากให้ข้าพเจ้าช่วยประสานให้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาช่วยสนับสนุนด้วยเพราะท่านอยากเห็นคณะสงฆ์รามัญนิกายมีมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นของตัวเองเหมือนคณะสงฆ์ไทย สุดท้ายความฝันของท่านก็ไม่เกิดขึ้นช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ (ปัจจุบันท่านมรณภาพไปแล้ว)
หลังจากกลับประเทศไทย ก็ยังไม่ได้ทำอะไรมาก จนกระทั้งข้าพเจ้าและทีมงานมูลนิธิรามัญรักษ์ได้ไปเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญอีกครั้ง เนื่องจากนำอาหารแห้งไปบริจาคให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ข้าพเจ้าและ Ven. Ashin Poke Pha พระนิสิตมอญ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็น “ประธานชมรมพระนิสิตมอญ” ด้วยได้ปรึกษาหารือเรื่องนี้กับ Ven.Khemasara (พระอาจารย์เขมา) ซึ่งเปรียบเสมือนผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ อย่างจริงจังและขอให้ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ทำหนังสือขึ้นอีกฉบับหนึ่งเพื่อติดตามความคืบหน้า
ท่านแจ้งว่าเรื่องนี้ขอให้ข้าพเจ้าและ Ven Ashin Poke Pha ไปปรึกษาอธิการบดีคนใหม่ คือ Ven. Silacara (พระอาจารย์ปาละ) ด้วย เมื่อเราไปกราบนมัสการพระอาจารย์ปาละ ท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์เขมาเป็นคนร่างหนังสือ สุดท้ายหนังสือฉบับนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากพระอาจารย์เขมา ต้องไปปฎิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่นและท่านกล่าวว่า หลังจากกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นท่านจะแวะพักในประเทศไทย หากมีโอกาสขอให้ข้าพเจ้าพาไปพบ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในสมัยนั้น ด้วย
เมื่อพระอาจารย์เขมากลับมาจากประเทศญี่ปุ่นแวะเข้ามาพักในประเทศไทย ท่านติดต่อมาหาข้าพเจ้าเพื่อประสานงานขอเข้าพบ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในขณะนั้น และเมื่อข้าพเจ้าได้รับความเมตตาจากท่าน กำหนดวันเวลาให้เข้าพบที่ศาลาทรงไทย ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แจ้งให้พระอาจารย์เขมาทราบ ท่านตอบกลับมาว่า ตอนนี้ท่านอยู่ด้วยกับ “พระอาจารย์แหมะ” ผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ อยู่กับท่าน และให้ข้าพเจ้าคุยกับพระอาจารย์แหมะ เพื่อนิมนต์ไปด้วยกัน ท่านตอบรับตามวันและเวลาที่พระพรหมบัณฑิต กำหนดให้ไว้
ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าวันที่เข้าพบนั้น พระพรหมบัณฑิต เป็นวันเดือนอะไร แต่ทราบว่าช่วงนั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษาแล้ว ก่อนที่จะเข้าไปพบ พระพรหมบัณฑิต นั้น ข้าพเข้าได้ปรึกษากับพระอาจารย์แหมะกับพระอาจารย์เขมาว่า วันนี้จะขอความอนุเคราะห์จาก พระพรหมบัณฑิต 2 เรื่องด้วยกันคือ
หนึ่ง ขอให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สนับสนุนและส่งเสริมการจัดโครงสร้าง การบริหารจัดการแบบมหาวิทยาลัยและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแก่ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ
สอง ขอให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรของ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ทั้งพระภิกษุและฆราวาส พร้อมกับอบรมและเรียนหลักสูตรระยะสั้น
หลังจากข้าพเจ้าเสนอหัวข้อที่จะขอความอนุเคราะห์ทั้ง 2 ประเด็น ท่าทีพระอาจารย์แหมะท่านดูจะเกรงใจ และหวั่นวิตกถึงความไม่พร้อมของ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ แต่ข้าพเจ้าแจ้งกับท่านว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อพุทธศักราช 2430 ตั้งมาแล้ว 130 กว่าปี เพิ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบเมื่อปี 2540 นี้เอง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เองก็ไม่พร้อมมาตั้งแต่ต้น และข้าพเจ้าเชื่อว่า
“พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านเป็นพระนักปราชญ์ที่ทั่วโลกยอมรับ มีเมตตาสูง และด้วยประสบการณ์ของท่านที่บริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาตลอด 20 ปีท่านคงไม่มองเรื่องปลีกย่อยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ความพร้อมหรือความไม่พร้อมของ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญและความรุ่งเรืองในการพัฒนาศักยภาพของพระภิกษุ-สามเณร เพราะไม่ว่าคณะสงฆ์นิกายใด ๆ ในโลกนี้ หากมีคุณภาพมีความสามารถนั่นหมายถึง พระพุทธศาสนาจะเจริญและมั่นคงในระยะยาวด้วย”
เมื่อคณะเราเข้าไปกราบนมัสการ พระพรหมบัณฑิต ท่านถามความเป็นอยู่และการศึกษาของคณะสงฆ์รามัญนิกายด้วยความสนใจโดยทางคณะได้เตรียมภาพนิ่งอาคารต่าง ๆ ภายใน มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ให้ท่านดู โดยมีพระอาจารย์เขมา เป็นผู้บรรยายและตอบเป็นภาษาอังกฤษ พระพรหมบัณฑิต สนทนาด้วยความสนใจ เมตตาและชื่นชมคณะสงฆ์รามัญนิกาย ตะกะกุ้นแหม่ะ ที่ทำได้ขนาดนี้ พูดคุยเกือบ 2 ชั่วโมง เนื่องจากในวงสนทนาคุยกันด้วยภาษาอังกฤษข้าพเจ้าฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง และ พระพรหมบัณฑิต คงทราบว่าข้าพเจ้าฟังไม่ออก ก่อนจบท่านได้หันมาถามข้าพเจ้าว่า
“ต้องการให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าไปช่วยอะไรบ้าง”
ข้าพเจ้าแจ้งไปทั้ง 2 ประเด็นที่คุยกับพระอาจารย์แหมะกับพระอาจารย์เขมาก่อนหน้านี้แล้ว พระพรหมบัณฑิต ได้พูดถึง 2 หน่วยงานที่ต้องการให้ดูแลเรื่องนี้ แต่ข้าพเจ้าตอบท่านว่าขอเป็น พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ( International Buddhist Studies College : IBSC ) ท่านจึงเรียก “น้องตอง” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ IBSC ที่มารอพบท่านอยู่ข้างนอกอยู่แล้ว ว่า ให้ไปแจ้ง พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ( International Buddhist Studies College : IBSC ) ตามที่ข้าพเจ้าต้องการ
หลังจากพระพรหมบัณฑิต ตอบรับและมอบหมายให้ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ( International Buddhist Studies College : IBSC ) เป็นผู้ประสานและดำเนินการต่อไป พร้อมกับฝาก มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ว่า “อย่าทิ้งการศึกษาบาลีภาษามอญและวัฒนธรรมมอญ เพราะภาษาและวัฒนธรรม ประเพณีมอญ คือรากเหง้าฐานสำคัญของวัฒนธรรมหลายประเทศในภูมิภาคนี้”
นี่เป็นครั้งแรกที่เป็น “จุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยรามัญรัฐฎะ” หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี
จากนั้น ข้าพเจ้าได้ไปพบ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเคยร่วมมือกันหลายครั้งหลายวาระด้วยกัน ทั้งมีความเชื่อมั่นในความเก่ง ความเอาใจใส่ประเภท “ถึงลูกถึงคน” จับงานแล้วไม่เคยปล่อยเชื่อมือได้ โดยมีผลงานจากการจัดงาน “วิสาขบูชาโลก” เป็นเครื่องยืนยัน “กล้าคิดนอกกรอบ” และไม่ติดอยู่ใน “ระบบราชการ” จนงานมันเดินไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา
ที่เชื่อมั่นเนื่องจากก่อหน้านี้ข้าพเจ้าเคยประสานให้ คณะสงฆ์รามัญนิกาย มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ เคยส่งพระภิกษุ-ฆรวาสมาอบรมจำนวน 15 คนกับท่านมาแล้ว ตลอด 40 วันโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง
สิ่งที่ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ หรือ IBSC ต้องการเหมือนเดิม คือ จดหมายขอความอนุเคราะห์ 2 ประเด็นที่ได้คุยกับ พระพรหมบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะคนประสานงานคิดว่าน่าจะรู้เรื่องดีที่สุด จึงร่างจดหมายเป็นภาษาไทยขึ้นมาฉบับหนึ่ง แล้วส่งให้ คุณสุนทร ศรีปานเงิน ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญเหมือนข้าพเจ้า ไปเป็นคนแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ หลังจาก คุณสุนทร ศรีปานเงิน แปลเรียบร้อย ข้าพเจ้าส่งให้ คุณสุมิตร ปุณณะการี ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญเหมือนกันเชี่ยวชาญเรื่องภาษาอังกฤษที่เป็นทางการขัดเกลาสำนวนอีกรอบ แล้วจึงส่งให้พระอาจาย์เขมา เพื่อดูสำนวน คัดเกลา ส่งให้พระอาจารย์ปาละ ซึ่งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ลงนาม
สุดท้าย เมื่อได้หนังสือมาแล้วข้าพเจ้าไปเดินทางไป วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ อีกรอบเพื่อเข้าพบ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส หลังจากอ่านจดหมายแล้ว ท่านถามมาคำหนึ่งว่า
“สิ่งที่อาจารย์อุทัยกำลังพยายามทำอยู่นี้ คณะสงฆ์มอญต้องการ หรืออาจารย์อุทัยต้องการ”
ข้าพเจ้าตอบทันทีว่า “คณะสงฆ์มอญต้องการ เพราะหากคณะสงฆ์มอญ ไม่ต้องการ คงไม่เซ็นหนังสือขอความอนุเคราะห์มา”
ท่านยิ้มแล้วจึงตอบว่า “งั้นอาตมาจะช่วยตามนโยบายพระพรหมบัณฑิต เพราะพวกเราคือพี่น้องกัน ไทยกับมอญ ใช่อื่นไกล ประเทศไทยมีทุกคนวันนี้ เพราะในอดีตคณะสงฆ์มอญช่วยไว้ไม่ใช่น้อย”
จากนั้นท่านจึงมอบหมายให้พระเจ้าหน้าที่รับหนังสือเสนออธิการบดีเพื่อลงนามเป็นลำดับต่อไป สัปดาห์ต่อมาพระเจ้าหน้าที่แจ้งมาว่า พระราชปริยัติกวี (ปัจจุบัน พระธรรมวัชรบัณฑิต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยลงนามแล้ว พร้อมกับถ่ายรูปมาให้ ข้าพเจ้าจึงส่งต่อไปให้พระอาจารย์เขมา และพระอาจารย์ปาละ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะทราบ เพื่อขอให้มาประชุมและจัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันระหว่าง วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ กับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
แต่..ข้าพเจ้ายังไม่ลดความพยามยามช่วงวันวิสาขบูชาโลกปี 2562 ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายและคณะมาประชุมที่ประเทศไทย ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ประธานคณะสงฆ์รามัญนิกายรูปใหม่ (ปัจจุบันอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ) ว่า มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ มีจดหมายขอความอนุเคราะห์เรื่องการพัฒนาการศึกษา “ค้างอยู่” ที่ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ฉบับหนึ่ง อยากให้ท่านช่วยตามงานให้ด้วย ตอนหลังทราบว่ามีการประชุมและมีการพูดเรื่องนี้ที่ประชุมแต่เรื่องก็ยังไม่มีความคืบหน้า
จนสุดท้ายข้าพเจ้าได้ไปหา Ven. Ashin Poke Pha พระนิสิตมอญที่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แจ้งให้ท่านทราบว่า
“ท่านในฐานะประธานชมรมพระนิสิตมอญ มจร ช่วยประสานเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าหน่อย เพราะอยากเห็นชมรมพระนิสิตและพระนิสิตมอญ ดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากมีความสนินสนมกับคณะสงฆ์รามัญนิกายด้วยกัน ภาษาในการสื่อสารก็คล่องกว่าข้าพเจ้า การทำงานน่าจะราบรื่นกว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจพระนิสิตมอญ สำหรับคณะสงฆ์รามัญนิกายน่าจะไว้วางใจกว่าข้าพเจ้า”
แต่ลึก ๆ ความจริงสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการ คือ อยากเห็นพระนิสิตมอญทำงานแล้วรู้จักสัมพันธ์กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเป็นเครือข่ายในอนาคตและทั้งอยากเห็นมีการเชื่อมโยงระหว่างพระนิสิตมอญใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ประจวบกับช่วงนั้น ข้าพเจ้าได้มีการพูดคุยกับ Phra Weerasak Jayadhammo (PhaAjahn Tah) พระเจ้าหน้าที่ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ PhaAjahn Tah อยากได้พระนิสิตมอญจาก มหาวิทยาลัยรามัญญรัฎฐะ มาศึกษาต่อที่ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ข้าพเจ้าจึงแจ้งไปยัง Ven. Ashin Poke Pha ประธานชมรมพระนิสิตมอญ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเข้าพบ PhaAjahn Tah และให้มีการประชุมร่วมกัน ที่ประชุมตอนนั้น PhaAjahn Tah แจ้งว่าประสงค์ต้องการให้ผู้บริหาร วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ไปเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ รบกวนให้ประธานชมรมพระนิสิตมอญช่วยติดต่อให้ด้วย
หลังจากนั้นไม่นานข้าพเจ้าได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จาก Dr.Thet Naing (Sain Non Ju) หรือข้าพเจ้าเรียกแบบกันเองว่า ดร.สุมมะ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เพิ่งไปทำงานที่กับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ว่า คณะผู้บริหารกับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ มาประชุมที่ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ เพื่อจะปรึกษาหารือในการที่พัฒนาการศึกษาร่วมกัน
นับตั้งแต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้อนุมัติมอบหมายให้ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ ไปดำเนินการตามที่ มหาวิทยาลัยรามัญญรัฎฐะ ขอความอนุเคราะห์มา 2 ประเด็นเป็น เวลา 1 ปีเต็ม ๆ การประชุมอันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกระหว่างสองสถาบันคือ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย กับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ของคณะสงฆ์รามัญนิกาย จึงเกิดขึ้น
การประชุมอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ นอกจากมีการพูดคุย ความเป็นมาของ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ หัวข้อการเจรจาหลักของ “ฝ่ายตัวแทน มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ คณะสงฆ์รามัญนิกาย” มี 4 ประการด้วยกัน คือ
1.มหาวิทยาลัยรามัญญรัฎฐะ ขอสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อส่งพระนิสิตทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสมาศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2.มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ จะขอทำข้อตกลงร่วม (MOU) กับ วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
3.คณะสงฆ์รามัญนิกาย มีพระภิกษุอยู่ประมาณ 10,000 รูป ต้องการให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับพิจารณามอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ทางคณะสงฆ์รามัญนิกายด้วย
4.เนื่องจากคณะสงฆ์รามัญนิกายได้รับเกียรติจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้มาร่วมในฐานะผู้สังเกตุการณ์งานวิสาขบูชาโลกมาหลายปีแล้ว ต้องการอยากมีบทบาทบนเวทีนี้ด้วย
ทั้ง 4 เรื่องที่ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ คณะสงฆ์รามัญนิกายร้องขอ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติในฐานะเป็นตัวแทนการประชุมของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับเรื่องไว้พิจารณา บางเรื่องที่ทำได้จะขอทำเลยนั่นคือ การทำข้อตกลงร่วมหรือเซ็น MOU ร่วมกัน วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ กับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ส่วนบางเรื่องที่อยู่นอกอำนาจการตัดสินใจของท่านต้องเสนอผู้บริหารอนุมัติต่อไป ซึ่งท่านก็ตอบทิ้งท้ายไว้ว่า “น่าจะทำได้ทุกเรื่องที่ขอมา ไม่น่ามีปัญหาหรือตัดขัดอะไร”
หลังจากการประชุมอันเป็นประวัติศาสต์นี้แล้ว พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส เจอข้าพเจ้าเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ขอให้อาจารย์อุทัยเชื่อมั่นใจในตัวอาตมา อาตมาจับอะไรแล้วไม่เคยปล่อย เดินหน้าอย่างเดียว เรามาทำงานร่วมกัน เพื่ออนาคตของลูกหลานและคณะสงฆ์รามัญ”
ทั้งหมดทั้งมวลที่มาเล่ามานี้คือ “จารึกหน้าหนึ่งในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์รามัญนิกาย” โดยผ่านการจับมือเดินไปด้วยกันระหว่างสองสถาบัน วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ สาเหตุที่ต้องพูดอย่างนี้ เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ดังที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มิได้เกิดด้วยตัวบุคคลต่อบุคคล วัดต่อวัด หรือตัวข้าพเจ้าคนเดียว แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้เพราะพวกเราทำงานกันเป็นทีม เกิดขึ้นระหว่างองค์กรต่อองค์กรและซ้ำเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศ หากพวกเราทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ เดินไปด้วยกัน ความมั่นคง ความมั่งคั่งและความยั่งยืนของคณะสงฆ์รามัญนิกาย ของ มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ คงต้องเกิดขึ้นเป็นแน่แท้ และตัวละครทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือมีชื่อปรากฎอยู่ในบทความนี้ หลังจากนี้ไปทุกท่านคือ..บุคคลในประวัติศาสตร์ ที่อุทิศตนเองเพื่อชาติพันธุ์มอญอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน..
ทั้งหมดทั้งมวลคือ “เสี้ยวหนึ่งแห่งชีวิต” ที่พยายามทำเพื่อตอบแทนบุญคุณผ้าเหลืองที่เคยบวชเรียนมาอันยาวนาน..และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้ตัวเอง “ดูดีหรือให้ผู้ใดยกย่อง” อะไรแต่ประการใดไม่..เพราะงานนี้สำเร็จได้หากคุณผู้อ่าน ๆ ตั้งแต่ตอนต้นจน จะพบว่าเราทำงานเป็นทีม และสิ่งที่ข้าพเจ้าทำมาทั้งหมดสำคัญกว่าสิ่งใด ๆ ก็คือ เพื่อสนองเจตนารมณ์ตัวเองที่มีจุดประสงค์ต้องการ 2 ประการดังกล่าวมาข้างต้น และคิดว่าเราจะพัฒนาใด ๆ ก็ตาม “การพัฒนาทรัพยากรบุคคล” การสร้างคนเท่านั้นคือ..ทางรอด
ตอนหน้า..มาเล่าต่อทั้งเรื่องที่ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ และคณะผู้บริหาร IBSC เดินทางไปเซ็น MOU กับมหาวิทยาลัยรามัญรัฐฎะ ที่รัฐมอญ และกว่าประมุขสงฆ์จะเดินทางมารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในวันที่ 12 ธันวาคม นี้ได้ ต้องใช้กลยุทธ์ ดังสุภาษิตไทยที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา”
Leave a Reply