รัฐบาลพม่าถวายสมณศักดิ์ชั้น”อภิธชมหารัฐคุรุ” ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแด่ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์”

 วันที่ 4 ม.ค.66 วันนี้มีรายงานว่ารัฐบาลและคณะสงฆ์พม่าได้ประกาศรายชื่อพระภิกษุผู้สมควรถวายสมณศักดิ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปีนี้ปรากฏชื่อ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม,กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้รับสมณศักดิ์ที่ “อภิธชมหารัฐคุรุ” ซึ่งเป็นระดับสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์พม่าด้วย

พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาส , กรรมการมหาเถรสมาคม พระภิกษุไทยที่เคยรับการถวายสมณศักดิ์ระดับ “อัครมหาบัณฑิต” ได้กล่าวเกี่ยวกับสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์พม่าว่า

     “ สำหรับสมณศักดิ์ของพม่ากับของไทยนั้นมีส่วนที่เหมือนกันคือมีจุดเริ่มมาจากประเทศศรีลังกา โดยสมณศักดิ์ พม่าในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกแบ่งได้เป็น ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง ในกลุ่มนี้จัดได้หลัก ๆ ด้วยกัน 3 สาย คือ สายวิชาการ สายเผยแผ่ และสายกรรมฐาน ในแต่ละสายแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

1.สายวิชาการ เรียกว่า คัณธะวาจะกะ แปลว่า ผู้สอนพระคัมภีร์หรือตำรา สมณศักดิ์นี้มอบทั้งแก่พระสงฆ์และแม่ชีและฆราวาสทั่วไป

            ชั้นต้น เรียกว่า มูละคัณธะวาจะกะ

            ชั้นกลาง เรียกว่า มหาคัณธะวาจะกะ

            ชั้นสูง เรียกว่า อัครมหาคัณธะวาจะกะ

2.สายเผยแผ่ เรียกว่า สัทธัมมโชติกะ แปลว่า ผู้ประกาศพระสัจธรรม สมณศักดิ์นี้มอบทั้งแก่พระสงฆ์และแม่ชีและฆราวาสทั่วไป

            ชั้นต้น เรียกว่า มูละสัทธัมมโชติกะ

            ชั้นกลาง เรียกว่า มหาสัทธัมมโชติกะ

            ชั้นสูง เรียกว่า อัคคมหาสัทธัมมโชติกะธะชะ

3.สายกรรมฐาน เรียกว่า กัมมัฏฐานาจริยะ แปลว่า อาจารย์สอนกรรมฐาน สมณศักดิ์นี้มอบแก่พระสงฆ์เท่านั้น

          ชั้นต้น เรียกว่า มูละกัมมัฏฐานาจริยะ

          ชั้นกลาง เรียกว่า มหากัมมัฏฐานาจริยะ

         ชั้นสูง เรียกว่า อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ

กลุ่มที่ 2 เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงที่สุดจริงๆ ที่มีมาจากเดิมจนถึงปัจจุบัน จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น

        1.ชั้นต้น เรียกว่า  ตรีปิฏกธร แปลว่า ผู้ทรงจำพระไตรปิฏก ( ผู้ที่สามารถท่องพระไตรปิฏกได้ทั้ง 3 ปิฏก )

        2.ชั้นกลาง เรียกว่า อัครมหาบัณฑิต พระเถระที่จะได้สมณศักดิ์ชั้นนี้ต้องมีอายุอย่างน้อย 60 ปี

        3.ชั้นสูงสุด เรียกว่า อภิธชมหารัฐคุรุ แปลว่า บรมครูแห่งแผ่นดินผู้ซึ่งชูธงแห่งพระศาสนา ผู้ที่จะได้รับสมณศักดิ์ชั้นนี้จะเป็น พระสังฆราช หรือ สมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะได้ และจะต้องมีอายุอย่างน้อย 80 ปี

      ดังนั้น เมื่อสรุปดูแล้วสมณศักดิ์ของพม่าไม่ค่อยเกี่ยวกับการปกครอง ซึ่งต่างจากสมณศักดิ์ของไทย ที่มีเงื่อนไขว่า ใครจะได้สมณศักดิ์ก็จะต้องเป็น พระสังฆาธิการ ระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป โดยคณะสงฆ์พม่ายกอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ให้กับ องค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ในพม่าที่เรียกว่า สังฆมหานายกสมาคม ซึ่งก็คือ มหาเถรสมาคมของพม่า ในสมาคมนี้มีกรรมการทั้งหมด 47 รูป..”

สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดของรัฐบาลพม่า “อภิธชมหารัฐคุรุ” ได้เคยถวายให้กับสมเด็จพระสังฆราชของไทย  3   พระองค์ คือ หนึ่ง  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และ สอง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2565 ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลพม่า เฝ้าถวายสมณศักดิ์ชั้นสูงสุด “อภิธชมหารัฐคุรุ” แด่ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันด้วย

Leave a Reply