ปัญหาที่ดินวัด.และทางออก??

“ผู้เขียน” ติดตาม “นิยม เวชกามา” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุมทั้งที่ “บอร์ดที่ดินแห่งชาติ” และ “บอร์ด” การแก้ไขปัญหากรณีที่ดินและที่พักสงฆ์มีสถานที่ตังอยู่ในที่ดินของรัฐที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งแต่งตั้งโดย “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็น “วาระแห่งชาติ” มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินวัดเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ และกระทั้งไปร่วมประชุมกับ “อนุกรรมาธิการศาสนา” สภาผู้แทนราษฎร หมุนเวียนอยู่กับปัญหาที่ดินวัด

“ผู้เขียน” ขอชื่นชม  “พรรคเพื่อไทย” โดยเฉพาะ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาและเร่งดำเนินการ  พร้อมกำชับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะ “ฝ่ายเลขานุการ” เร่งดำเนินการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาอีก 4 คณะ แม้ดูจากตัวบุคคล “บางคน” ไม่เคยจับเรื่องวัดและพระสงฆ์มาก่อน เว้น “นิยม เวชกามา” ที่ถือว่าเป็น ”คนวัด”  และก็ขอชื่นชมทุกคนที่ “เข้ามาช่วยศาสนา” ภายใต้กรอบการทำงาน 60 วัน ก็ต้องพิสูจน์ผลงานว่า..ขจัดได้มากน้อยแค่ไหน

หวังว่า..คงไม่เสียของ

“ผู้เขียน” ไปประชุมคณะอนุกรรมการทุกครั้ง สงสารพระคุณเจ้าและชาวพุทธที่เดินทางมาจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น สกลนคร เชียงใหม่ อุบลราชธานี สงขลา หรือแม้กระทั้งกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ที่มาล้วนมีปัญหาเรื่องที่ดินวัด บางวัดตั้งมา 100 กว่าปีออกโฉนดไม่ได้ เพราะอดีตคิดว่าวัดคงไม่มีปัญหาที่ดิน แต่ตอนหลัง “เกิดปัญหา” เพราะที่ดินวัด  ถูกราชการประกาศทับซ้อนบ้าง ชาวบ้านถวายที่ดินให้สร้างวัด กลายเป็นที่ดินประเภทของรัฐทั้ง สปก.ราชพัสดุ หรือแม้กระทั้งเขตป่าสงวน  ระยะต่อมาด้วยความไม่รู้หรือรู้  ไปสร้างโบสถ์ สร้างศาลาใหญ่โต จะไปขอ “วิสุงคามสีมา” ตรวจไปตรวจมา ติดปัญหาที่ดิน ไม่ได้รับอนุญาตบ้าง ไม่มีโฉนดบ้าง จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาไม่ได้..จบแห่!!  เนื่องจาก “เจ้าของที่ดิน” ที่ครอบครองที่ดินรัฐ..ไม่อนุญาต

ปัญหานี้จึงกลายเป็น “ดินพอกหางหมู”

“ผู้เขียน” คิดต่อว่า “วันหนึ่ง” หากมี “ผู้ไม่หวังดี” ที่มีอำนาจทางการเมืองหรือมีอำนาจในองค์กรรัฐ ขอคืนที่ดินรัฐ อย่างเช่นมีวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในตัวเมืองกาญจนบุรี รอบข้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรหมดแล้ว ด้านหน้าเป็นห้าง ราคาที่ดินแพงขึ้น อยู่ดี ๆ “ผู้ครอบครอง” ที่ดินรัฐตรงนั้น “ขอคืนพื้นที่”จากวัดบางส่วน  วัดก็ต้องจำยอม..เพราะเป็นที่ดินของเขา และวัดเองในอดีตก็ละเลย ไม่เคยดำเนินการเรื่องการขออนุญาตใช้ที่ดินหรือไม่เคยวิ่งเต้นของออกโฉนด

 “ผู้เขียน” ฟังจาก  “อินทพร จั่นเอี่ยม” เล่าว่า ปัจจุบันมีวัดที่ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของรัฐจำนวน 4,259 วัด และที่พักสงฆ์มีจำนวน 11,854 แห่ง ขณะที่ตัวเลขวัดทั่วประเทศมี 44,083 วัด

“ผู้เขียน” คิดว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงแค่ตัวเลขที่พระสงฆ์ไปแจ้งไว้กับสำนักงานพุทธศาสนาไว้เท่านั้น ความจริงอาจสูงมากกว่านี้

 “ผู้เขียน” อยากจะเสนอ “มหาเถรสมาคม” ว่า อาจจำเป็นต้องควบคุมการตั้ง “วัด” และ “ที่พักสงฆ์” เพื่อ “สะสาง” ปัญหาเหล่านี้

และความจริง “มหาเถรสมาคม” ควรตั้ง “อนุกรรมการ” ทำงานร่วมกับ “รัฐบาล” เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้จบไปโดยเร็ว

อย่าปล่อยให้ “รัฐบาล” ทำงานอยู่ฝ่ายเดียว..เพราะบางเรื่อง “นักการเมือง” ก็ไม่รู้เรื่องวัดและปัญหาของคณะสงฆ์หมดทุกเรื่อง

มหาเถรสมาคมอย่ารอให้ “ชาวบ้าน” เขาประเคนให้อย่างเดียว..มันต้องติดตามและร่วมกันทำงาน ลำพัง “สำนักงานพุทธ” แม้อยาก “สะสาง” สนองงานคณะสงฆ์  หากถูกฝ่ายการเมือง หรือ หน่วยงานรัฐ แค่เขา “ท้วง” อย่าล้ำเส้น  ก็ไม่รู้จะขยับตัวอย่างไรแล้ว

“ผู้เขียน” สอบถาม “ เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล” รองประธานอนุกรรมาธิการศาสนา ซึ่งเป็นคนวัด เพราะเป็น “มหาเก่า” และจับเรื่องนี้มานานตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ที่ดินของรัฐที่แก้ยากที่สุด คือ ที่ดิน นสล.หรือที่ดินสาธารณะประโยชน์ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และที่ดิน “กรมป่าไม้” ตาม พ.ร.บ. 2507 แก้ยาก เพราะอำนาจอยู่ส่วนกลาง และผู้บริหารประชุมกันแค่ปีละ 2 ครั้ง ส่วนที่ดินกรมอุทยาน “ปิดตาย” หากวัดอยูในเขตอุทยาน ดำเนินการได้เพียงขอใช้เป็น “เขตพุทธอุทยาน” เท่านั้น

ส่วนที่ดินรัฐประเภท สปก. ราชพัสดุ ป่าไม้ตามพ.ร.บ.2584 ไม่เกิน 15 ไร่ จบที่ผู้ว่า หากเกินกว่านี้เข้าส่วนกลางหมด

“ผู้เขียน” ฟังจาก “พระคุณเจ้า” และ “ชาวพุทธ” จากหลายจังหวัดที่มาขอ “พึ่งบุญ” คณะกรรมาธิการศาสนา ส่วนใหญ่ไม่รู้แม้กระทั้งว่า “วัด” ตั้งอยู่ในที่ดินประเภทไหน  บางวัดมีโบราณสถาน นึกว่าเป็นที่ดิน “กรมศิลป์” แต่ความจริง “กรมศิลป์” เป็นเพียง “เจ้าของ” โบราณสถานเท่านั้น ไม่มีสถานภาพ “ครอบครองที่ดิน” หรือบางวัดตั้งอยู่ในป่า นึกว่าเป็นของ “กรมป่าไม้” หรือ “อุทยาน” แต่สุดท้ายเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ในขณะที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” บางคนเอง ก็ตอบไม่ชัดว่าจะต้องให้วัดดำเนินการอย่างไรในการขอใช้ที่ดินรัฐ เพื่อตั้งวัด หรือขอวิสุงคามสีมา

ตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด การขอวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างเป็นวัดมีพระภิกษุจำพรรษา พ.ศ. 2559 ระบุหลักเกณฑ์เบื้องต้นไว้ 6 ประการ เช่น ต้องมีที่ดินไม่ต่ำกว่า 6 ไร่  เป็นประโยชน์ต่อประชาชนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 1,000 คน หรือต้องมีเงินสร้างวัดไม่ต่ำกว่า 200,000 แสนบาท  เมื่อมีหลักเกณฑ์นี้ครบจึงจะขอตั้งวัดได้ รวมทั้งเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อื่น ๆ  ท่านใดสนใจไปแสวงหาเสริมความรู้ดู!!

“ผู้เขียน” หากมีอำนาจเด็ดขาดจะออกประกาศพระราชกฤษฎีกา แก้ปัญหาที่ดินวัดและที่พักสงฆ์ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย..จบ

Leave a Reply