จบแปดรุ่นแล้วเตรียมเปิดสมัครรุ่นเก้า! หลักสูตรสันติศึกษา “มจร” จัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบสันติภาพ

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร.ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ประธานพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ และเลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นประธานการมอบวุฒิบัตร พร้อมเปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ ๑ – ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ หลักสูตรสันติศึกษา มจร และภาคีเครือข่าย จัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบสันติภาพ รุ่น ๘ หลักสูตร ๕ คืน ๖ วัน จำนวน ๕๐ ชั่วโมง โดยมีการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ Peace Facilitatorโดยมีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ๒๔ รูป/คน

เพื่อพัฒนาด้านการเป็นวิทยากรต้นแบบสันติภาพ การพัฒนาองค์กร การฝึกอบรมแบบธรรมะโอดี การสร้างสันติภายใน การออกกระบวนการเรียนรู้ที่ทรงพลัง และเครื่องมือพุทธสันติวิธีเพื่อนำไปแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน องค์กร สังคม ด้วยการยกระดับจากวิทยากรเป็นเพียงผู้ถ่ายทอด แต่ Peace Facilitator เป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ โดยกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมคิดเองตระหนักเอง โดยเป็นผู้อำนวยการที่สร้างสันติภาพเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดยผู้เข้ารับการเรียนรู้จากวิทยากรระดับมืออาชีพมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรต้นแบบสันติภาพ ซึ่งบรรยากาศการเรียนรู้สนุก สาระ สงบ สำนึก สร้างสรรค์ โดยวิทยากรมีความเป็นกัลยาณมิตรเป็นอย่างยิ่ง
โดยมาจากฐานงานวิจัยเชิงพัฒนา สะท้อนว่าการพัฒนาวิทยากรต้นแบบตามศาสตร์สมัยใหม่และพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งวิทยากรตามศาสตร์สมัยใหม่เป็น “วิทยากรกระบวนการ วิทยากรกิจกรรมกลุ่ม วิทยากรปฏิบัติการ วิทยากรโค้ชชิ่ง และวิทยากรโอดี”

โดยมุ่งการสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ด้วยการยึดผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลาง สร้างกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้แบบ ฉลาดประยุกต์ สนุกมีสาระ เป็นการปรับศาสตร์เข้าหาพระพุทธศาสนา วิทยากรจะต้องสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ส่วนวิทยากรตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาทต้องยึดตาม “หลักการของวิทยากรต้นแบบ อุดมการณ์ของวิทยากรต้นแบบ วิธีการของวิทยากรต้นแบบ และสันติภาพของวิทยากรต้นแบบ”

โดยวิทยากรทางพระพุทธศาสนาเถรวาทยึดแนวทางของพระพุทธเจ้าตามหลักของโอวาทปาติโมกข์ โดยมุ่งพัฒนาตนด้วยการทำจิตใจให้บริสุทธิ์มีความสงบเป็นต้นแบบด้านความ ประพฤติ มีอุดมการณ์ด้วยความอดทนต่อความยากลำบากและมีวิธีการสื่อสารธรรมไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย แม้บุคคลผู้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ๒) รูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธสันติวิธี พบว่ารูปแบบการฝึกอบรมแบบธรรมะโอดีเป็นการเผยแผ่ธรรมตามแนวทางของพระพุทธเจ้า โดยรูปแบบการฝึกอบรมแบบธรรมะโอดีเป็น “การเรียนรู้ธรรมะผ่านกิจกรรม” ในลักษณะของวิทยากรธรรมะโอดี ซึ่งทุกคนสามารถเป็นวิทยากรธรรมะโอดีได้ มีความเหมาะสม เพราะเป็นการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาผ่านการประยุกต์เพื่อการเสริมสร้างองค์กรสันติสุข ด้วยกระบวนการใช้สื่อกิจกรรม ประกอบการเรียนรู้และใช้กระบวนการของกิจกรรมกลุ่มในการสร้างการมีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจาก การวินิจฉัยและวิเคราะห์องค์กร วิเคราะห์ผู้เข้ารับการฝึกอบรม สร้างรูปแบบการฝึกอบรม ออกแบบ กิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบการฝึกอบรมแบบธรรมะโอดีจึงเกิด D-H-A-M-M-A-O-D Model

โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์กรสันติสุข ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธสันติวิธี มีวิธีการพัฒนา ๕ ด้าน ประกอบด้วย ๑) ด้านวิทยากรต้นแบบ ๒) ด้านกระบวนการฝึกอบรมแบบธรรมะโอดี ๓) ด้านการพัฒนาองค์กร ๔) ด้านเครื่องมือพุทธสันติวิธี ๕) ด้านการสร้างสันติภายใน ๓) นำเสนอรูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธสันติวิธี โดยผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธสันติวิธีหรือ รูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ ต้องปฏิบัติตามแนวทางของ K-U-M-S-A-N Model ประกอบด้วย “ความรู้ของวิทยากรต้นแบบ ความเข้าใจของวิทยากรต้นแบบ สติ-สันติของวิทยากรต้นแบบ ทักษะของวิทยากรต้นแบบ ทัศนคติของวิทยากรต้นแบบ และการสร้างเครือข่ายของวิทยากรต้นแบบ”

ในโอกาสการปิดการฝึกอบรมได้รับความเมตตายิ่งจากท่านพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร โดยมอบหมายให้ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปฏิบัติหน้าที่แทนในการมอบวุฒิบัตร จึงมีการเตรียมเปิดการฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบสันติภาพรุ่น ๙ ขึ้นในระหว่าง ๑๕ – ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖ จำนวน ๕ วัน สามารถสมัครเพื่อเข้ารับการเรียนรู้หลักสูตรวิทยากรต้นแบบสันติภาพรุ่น ๙ สมัครผ่านไอดีไลน์ 1952653 ซึ่งจะมีการพัฒนาหลักสูตรมีความเข้มข้นต่อไป

Leave a Reply