พุทธศาสนา..สร้างชาติ

สังเขปความรู้เรื่อง “กำเนิดพุทธศาสนารัฐชาติสมัยใหม่” ในหนังสือ Forest recollections: Wandering monks in twentieth-century Thailand ของ Kamala Tiyavanich (1997)

นักวิชาการไทยและเทศแต่ก่อน ไม่ใคร่จะศึกษาศาสนาพุทธไทยผ่านชีวิตพระและวิถีปฏิบัติของท่านโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่มักนิยมศึกษาศาสนาพุทธไทยผ่านความเข้าใจทั่วไปที่ว่าศาสนาพุทธไทยเป็นศาสนาพุทธเถรวาทแบบเดียวแบบที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนักหรือรัฐชาติไทย Kamala (1997: 2) เห็นว่า มุมมองแบบนี้มีปัญหา เพราะทำให้ไม่เห็นความหลากหลายของพุทธศาสนาในเมืองไทยในสมัยโบราณและมองไม่เห็นว่า ศาสนาพุทธแบบเถรวาทของราชสำนักนั้นเป็นเพียงศาสนาพุทธแบบหนึ่งที่เพิ่งเกิดไม่นานในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น ในบทนำของหนังสือ Forest Recollections Wandering Monks in Twentieth-Century Thailand นางพยายามตอบคำถามว่า ศาสนาพุทธแบบราชสำนักกรุงเทพฯ ที่ว่ามานี้กลายเป็นศาสนาพุทธไทยแบบหนึ่งเดียวในมุมมองของนักวิชาการและคนทั่วไปโดยเฉลี่ยได้อย่างไรในหัวข้อ “BIRTH OF MODERN STATE BUDDHISM” รายละเอียดเนื้อหาแบบสรุปโดยสังเขปมีดังนี้
• แต่ก่อนศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (Theravada Buddhism) มีศักยภาพปรับตัวเข้ากับภาษา วัฒนธรรม และขนบประเพณีของคนท้องถิ่นชนิดที่ไม่ธรรมดา พุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยโบราณมีความหลากหลายไม่แพ้พุทธศาสนาในประเทศทิเบต เนื่องด้วยปฏิสัมพันธ์กับประเพณีของชนพื้นเมืองที่มีมากมายหลายกลุ่มในสยามยุคโบราณ

ในราชอาณาจักรสยามต้นศตวรรษที่ 19 ตอนที่เรายังไม่กลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ราชอาณาจักรของพวกเราประกอบด้วยเมืองเล็กใหญ่มากมายที่มีภาษาและวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค

วิถิปฏิบัติและความเชื่อศาสนาก็หลากหลายกันไปในแต่ละเมืองด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งเมืองเดียวกันก็อาจมีพระมากมายหลายแบบ ตัวอย่างเช่น ในอาณาจักรล้านนาเคยมีพระแบ่งกลุ่มอยู่มากถึง 18 นิกายหรือสายธรรม (lineages of Buddhist Monk) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แห่งเดียว
พระภิกษุเจ้าฟ้าและคณะธรรมยุต

 ท่ามกลางพุทธศาสนนิกายต่างๆ ที่อยู่มากมายหลากหลายนั้น ก็มีอีกนิกายก่อตั้วขึ้นมาในบางกอกช่วงทศวรรษที่สามของคริสตศตวรรษที่ 19

 การก่อตัวของพวกพระนิกายนี้นักวิชาการแต่ก่อนมองเป็น “a reform movement” หรือขบวนการเคลื่อนไหวปฏิรูป (ศาสนา) อันหนึ่ง

 ผู้ก่อตั้งนิกายเป็นพระภิกษุอายุได้ 33 ปี ผู้เป็นราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน พระรูปนี้มีนามว่า “มงกุฏ” ผู้ออกผนวชในช่วงที่พระเชษฐาต่างมารดาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ พอดี พระภิกษุเจ้าฟ้ารูปนี้บวชอยู่นานถึง 27 พรรษา ก่อนลาสิกขามาครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงสยาม รัชกาลที่ ๔ หรือ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 ช่วงทศวรรษ 1830s พระภิกษุเจ้าฟ้าพบพระเถระมอญรูปหนึ่งในอารามกลางป่าชานเมืองริมแม่น้ำ พระองค์ประทับใจกับความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติของพระเถระมาก กระทั่งสมาทานวัตรเช่นนั้นตาม และก่อตั้งนิกายใหม่ที่ถือเคร่งเช่นนั้นขึ้นมาเรียกว่าคณะ “ธรรมยุติกนิกาย”
• พระภิกษุเจ้าฟ้าอบรมสานุศิษย์พระนิกายใหม่ของท่านให้เน้นการเล่าเรียนศึกษาคัมภีร์ภาษาบาลี รู้จักรักษาพระวินัยอย่างยอดเยี่ยม เคร่งครัด และรู้จักใช้ฆราวาสทำงานรับใช้พระ โดยเฉพาะงานที่พระทำไม่ได้เพราะละเมิดวินัยสงฆ์

•คนที่บวชนิกายนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกฎุมพีและราชนิกุล  เพื่อให้นิกายของพระองค์ต่างจากพระกลุ่มอื่นในบางบอก ทูลกระหม่อมพระรับการนุ่งห่มจีวรแบบพระมอญมาใช้ในนิกายธรรมยุต ให้ความหมายกับพิธีกรรมในทิศทางใหม่ หัดพระให้ออกเสียงสวดมนต์ให้ถูกต้องตามอักขรวิถีของปาฬิภาษา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้คณะธรรมยุตเป็นนิกายที่มีความเที่ยงแท้ (authentic) ถูกตรงตามพระวินัยมากกว่าพระภิกษุพื้นเมืองโดยมากทั่วไป

 นักวิชาการฝรั่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิรูปศาสนาของทูลกระหม่อมพระอย่าง Craig Reynold วิจารณ์ว่าการก่อตั้งนิกายใหม่เช่นนี้ สร้างความไม่พอใจและการทะเลาะเบาะแว้งมากกว่าความเป็นเอกภาพในหมู่สงฆ์ หากไม่มีการอุปถัมภ์จากในหลวงและสมาชิกราชวงศ์ คณะแบบธรรมยุตยากจะอยู่รอดได้

พระภิกษุนิกายอื่นๆ ถูกพระภิกษุเจ้าฟ้าเรียกรวมๆ กันเป็นพวก “มหานิกาย” พระองค์ท่านเล็งเห็นว่า พระคณะนี้เป็นพวกที่ประพฤติสืบๆ กันมาตามครูบาอาจารย์

 นักวิชาการแต่ก่อนกับคนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าใจว่า “มหานิกาย” เป็นชื่อของพระสงฆ์คณะเดียวกันหมด แท้จริงแล้วเป็นชื่อเรียกรวมๆ กันของพระหลายกลุ่มที่มีมาก่อนพวกธรรมยุต

ในแง่ของวิถีปฏิบัติ พระภิกษุเจ้าฟ้าเน้นการศึกษาเล่าเรียนคันถธุระมากกว่าวิปัสสนาธุระหรือการฝึกสมาธิ เพราะพระองค์มองเป็นเรื่องพ้นวิสัย (mystical)

พระองค์ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อที่ว่า ศาสนาที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อและคำสอนที่มีเหตุผล พระองค์ไม่นิยมธรรมเนียมพระแต่ก่อนที่สอนด้วยเรื่องเล่าชาวบ้านหรือนิทานชาดก หรือพุทธศาสนาที่ปนด้วยความเชื่อประเพณีท้องถิ่น ความเชื่อผีสางนางไม้และพิธีกรรมที่ไม่ได้มีมาแต่เดิมในคำสอนของพระพุทธเจ้า

 นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า มุมมองของพระภิกษุเจ้าฟ้าอาจได้รับอิทธิพลมาจากการแลกเปลี่ยนความรู้กับพวกมิชชั่นนารีชาวคริสต์ เพราะพระองค์มองคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาเหมือนที่ชาวคริสต์มองคำสอนพระเยซู

 พระองค์และปัญญาชนชั้นนำชาวสยามยุคนั้นต่างยอมรับคำวิจารณ์ของพวกมิชชั่นนารีว่า ศาสนาพุทธปนความเชื่อไสยศาสตร์อยู่มาก และพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยไปกว่าศาสนาคริสต์เลย

พระองค์และสานุศิษย์ยังก่อตั้งโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือธรรมะแบบพวกมิชชั่นนารีพิมพ์คำสอนศาสนา และรับวิธีการอธิบายคำสอนศาสนาแบบเป็นเหตุเป็นผล และศึกษาหลักเทววิทยาแบบคริสเตียนมาใช้ในการดีเบตกับพวกเขา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากับคณะสงฆ์สร้างชาติ 

พอลุถึงช่วงกึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ราชอาณาจักรสยามต่างโดนรุกรานและยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมชาติตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เริ่มปฏิรูปสยามให้กลายเป็นรัฐชาติแบบสมัยใหม่ที่มีอาณาบริเวณชัดเจน ถ่ายเทอำนาจของเจ้าเมืองต่างๆ เข้าสู่ราชสำนักส่วนกลางในกรุงเทพ ปลดเจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นแทนที่ด้วยข้าหลวงของพระเจ้าอยู่หัว

อุปสรรคหนึ่งของราชสำนัก คือ ความหลากหลายของภาษาท่ามกลางชาวไทหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละภูมิภาค

เพื่อกำจัดอุปสรรคดังกล่าว รวบรวมชาวไทยให้เป็นหนึ่ง ชนชั้นปกครองได้แต่งตั้งภาษาไทยแบบราชสำนักกรุงเทพฯ ให้เป็น “ภาษากลาง” แบบมาตรฐานของรัฐชาติสมัยใหม่

 ภาษาไทยแบบกรุงเทพฯ ถูกส่งผ่านไปยังคนท้องถิ่นโดยครู เจ้าหน้ารัฐ และพระที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ

ทุกวันนี้คนพูดภาษาอังกฤษและนักวิชาการเข้าใจว่า ภาษาไทยแบบราชสำนักกรุงเทพฯ ก็คือภาษาไทยแบบหนึ่งเดียว พุทธศาสนาแบบของราชสำนักก็เป็นศาสนาพุทธไทยแบบเดียวเช่นกัน

Kamala (1997:  เรียกศาสนาพุทธไทยของราชสำนักนี้ว่า “modern state Buddhism” หรือศาสนาพุทธรัฐชาติสมัยใหม่

 การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ไม่ได้อาศัยแค่ภาษา ทว่า ยังเรียกร้องต้องการศาสนาร่วมกันของคนในชาติด้วย (a common religion) ผู้ปกครองสยามผู้กำลังพยายามสร้างเอกภาพจึงใช้พุทธศาสนาแบบนั้นเป็นเครื่องมือรวมชาติ

 ผู้มีบทบาทเป็นเหมือนสถาปนิกออกแบบศาสนาพุทธรัฐชาติสมัยใหม่ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระเจ้าน้องยาเธอของในหลวง ร. ๕ และพระโอรสของในหลวง ร. ๔

 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเป็นนักปราชญ์ภาษาบาลี ผู้เอาใจใส่การพระศาสนาแท้จริง ซึ่งพระองค์มองว่าในสมัยนั้นพระศาสนากำลังเสื่อมลง

 พระองค์มีความคิดเช่นเดียวกับพระบิดา มองว่าพุทธศาสนาแบบธรรมยุตนั้นดีกว่าพวกมหานิกาย และพุทธศาสนาแบบที่ว่านี้ก็กลายเป็นโมเดลต้นแบบของพุทธศาสนารัฐชาติสมัยใหม่

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ได้ถือกำเนิดขึ้นในสมัย ร. ๕ คณะสงฆ์ที่เป็นเหมือนข้าราชการก็เกิดขึ้นมาพร้อมกันอาศัยอำนาจในกฎหมาย พร้อมกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยใหม่ที่ผนวกเอาเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรเข้ามาเป็นมณฑลการปกครองของราชสำนัก

พระสงฆ์มากมายหลายคณะที่เคยขึ้นกับครูบาอาจารย์ตน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์ที่ขึ้นกับกฎหมายและผู้บริหารราชการในกรุงเทพฯ ที่มีวิถีปฏิบัติและคัมภีร์ตำราเรียนเป็นมาตรฐานสมัยใหม่

ระบบการศึกษาของพระสงฆ์และสมณศักดิ์แบบใหม่นี้ทำให้พระมีสถานะไม่ต่างจากข้าราชการพลเรือนของในหลวง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าสร้างระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรที่มีฐานจากการศึกษาตีความคัมภีร์ของพระองค์ ผลิตตำรามาตรฐานที่ใช้กันทั่วราชอาณาจักร และใช้กันเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

อำนาจของราชสำนักขจรขจายไปไกลทั่วผืนดินไทยในช่วงหลังศตวรรษที่ 19

ทั้งหมดที่สรุปมานี้คือที่มา อธิบายว่าเหตุใด พุทธศาสนาแบบหนึ่งที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานกว่าศตวรรษได้ขึ้นมาครองอำนาจนำเป็นพระพุทธศาสนาแบบหนึ่งเดียวของพี่น้องชาวไทยและนักวิชาการในรุ่นก่อน ๆ

 

ที่มาเพจ..ไม้ขีดไฟ

Leave a Reply