ถวายอดิเรก? เริ่มมีเมื่อใด? พระปลายแถว[ที่นั่ง] ที่รัชกาลที่ 4 รับสั่งให้ถวายอดิเรกคือใคร?

วันที่ 11 ส.ค. 65  เพจ Silapawattanatham ได้เสนอเรื่อง ถวายอดิเรก? เริ่มมีเมื่อใด? พระปลายแถว [ที่นั่ง] ที่รัชกาลที่ 4 รับสั่งให้ถวายอดิเรกคือใคร? เว๊บไซต์ข่าว “Thebuddh” ขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

ในข่าวในพระราชสำนัก หรือการถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญหลายๆ ครั้งเราจะได้ยิน คำบรรยายว่า “พระสงฆ์ถวายอดิเรก” อดิเรกคืออะไร? อดิเรกถวายให้ใครบ้าง? อดิเรกเริ่มถวายกันตั้งแต่เมื่อใด? และครั้งหนึ่งพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ปลายแถว กลับเป็นผู้ถวายอดิเรก ฯลฯ

เพื่อตอบคำตอบข้างต้น จึงของนำบทความของ จำนงค์ เอมรื่น ที่ชื่อว่า “ถวายอดิเรก” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2538) บางส่วนมานำเสนอดังนี้

อดิเรกคือพรพิเศษ ที่พระสงฆ์สวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน ภาษาบาลีใช้ อติเรก แปลว่ามากกว่าหนึ่ง (อติ + ร (อาคม) + เอก)

ข้อความที่สวดมีดังนี้

อติเรกวัสสสตัง ชีว (ตุ)

อติเรกวัสสสตัง ชีว (ตุ)

อติเรกวัสสสตัง ชีว (ตุ)

ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ

ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ

สุขิโต โหตุ ปรมินทมหาราชา

สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิลาโภ ชโย นิจจัง

ปรมินทมหาราชวรัสสะ ภวตุ สัพพทา …ขอถวายพระพร

เป็นธรรมเนียมอีกเหมือนกัน เมื่อประธานสงฆ์ตั้งพัดยศ ถวายพรพิเศษ พระเจ้าแผ่นดิน ท่านจะสวดเฉพาะภาษาบาลี ผู้ที่ไม่ได้เรียนภาษาบาลี ก็อยากทราบความหมาย พระท่านสวดอะไร สวดองค์เดียว ตั้งพัดยศสวดเสียด้วย จึงขอถอดความเป็นภาษาไทย เพื่อสนองตอบท่านที่สนใจใคร่รู้ ดังนี้

บรรทัดที่ 1-3 แปลเหมือนกันว่า ขอให้มหาบพิตร พระราชสมภารเจ้า จงมีพระชนมายุ (ชีวตุ) มากกว่า (อติเรก) หนึ่งร้อยปี วัสสะ แปล ว่าปี สตัง แปลว่าร้อย

บรรทัดที่ 4-5 แปลว่า ขอให้พระองค์จงทรงมีพระชนมายุยืนนาน อย่ามีโรคาพยาธิมาเบียดเบียน

บรรทัดที่ 6 แปลว่า ขอให้บรมบพิตรพระราชสมภารปรมินทรมหาราชเจ้า จงทรงพระเกษมสําราญ

บรรทัดที่ 7-8 แปลว่า ขอให้พระราชกรณียกิจ จงสำเร็จ ขอให้พระราชสัมภาระ จงสำเร็จ ขอให้สิ่งที่น่าปรารถนา จงสำเร็จ ขอให้ความสวัสดีมีชัย ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ จงมีแด่บพิตร พระราชสมภาร ปรมินทรมหาราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณประเสริฐ ทุกเมื่อเทอญ  ขอถวายพระพร

ประเพณีการถวายอดิเรกมีมาแต่ครั้งใด

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพรจนาไว้ว่า “ที่พระสงฆ์ตกลงเอาคาถา ถวายพรในนวัคคหายุสมธรรม มาใช้แทนอดิเรกนั้น หม่อมฉันเห็นชอบ อนุโมทนาด้วย อีกอย่างหนึ่งเพราะคำสวด ที่เคยใช้แทนอดิเรกมาแต่ก่อน ไม่ใคร่จะเข้าที่ “สัพพพุทธา” เป็นแต่คาถาสำหรับให้พรคนทั้งหลาย เป็นสาธารณะทั่วไป “โส อัตลัทโธ” ก็ใช้ให้พรพุทธศาสนิกชนทุกชั้น บรรดาที่เป็นชาย แต่คาถา “จิรันธรตุทีฆายุ” นี้ ถวายพรเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินสยาม ความสนิทกว่า อติเรก เสียอีก ถึงกระนั้นหม่อมฉันยังเห็นว่า เมื่อถึงเวลาเป็นปกติแล้ว ควรกลับใช้ อติเรก อย่างเดิมต่อไป ด้วยเคยใช้มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ ครั้งพระวิสุทธาจารย์ สวดถวายพรว่า “อติเรกวัสสสตัง ชีว ฯ” สมเด็จพระวันรัต (แดง)   วัดสุทัศนเทพวราราม ท่านบอกว่า คํา “ตุ” ทูลกระหม่อมทรงเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ 4 (ลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ล.ว. 3 ต.ค. 2540 สาส์นสมเด็จ เล่ม 11 หน้า 274-275)

เรื่องพระเพิ่มสวด สัพพพุทธา ขึ้นใหม่นั้น ดูแปลกหนักหนา จะทูลความ เห็นให้พิสดารสักหน่อย อติเรก เดิมเป็นการถวายพระพรเฉพาะพระองค์ และเฉพาะหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดิน มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พอเจ้านายพระองค์ใดได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ยังไม่ราชาภิเษก พระก็ถวายอดิเรก ปรากฏหลักฐานอยู่ในโคลง เรื่องราชาภิเษก ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์แต่เมื่อยังเป็นกรม (กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์)

ถึงรัชกาลที่ 4 ทูลกระหม่อมทรงแก้ประเพณี อติเรก ให้ถวายอติเรกต่อเมื่อราชาภิเษกแล้ว ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า (กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ทรงแก้อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบัญญัติว่า ถ้าเป็นงานของหลวง ถึงลับหลังพระที่นั่งก็ให้ถวายอดิเรกการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ข้อนี้ มาเป็นปัญหาในรัชกาลที่ 8 ด้วยพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์ใหม่ จะยังไม่ราชาภิเษกอยู่หลายปี ถ้าทำตามแบบแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ก็ต้องงดอดิเรกไป จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จกลับมาบรมราชาภิเษกแล้ว แต่จะใช้แบบนี้ก็ผิดแบบที่สมเด็จพระมหาสมณะฯ ตั้งไว้ ให้ถวายอดิเรกลับหลังพระที่นั่งได้ เกิดเป็นอุภโตปัญหา คือจะถวายอดิเรกก็ยังไม่ได้ จะไม่ถวายอดิเรกก็ไม่ได้ มหาเถรสมาคมจึงปรึกษากันให้ใช้คาถา “โส อัตถลัทโธ” แทน อติเรก (ลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ล.ว. 4 ก.พ. 2479 สาส์นสมเด็จ เล่ม 10 หน้า 222-223)

ยุคทองของการถวายอดิเรก

การถวายอดิเรกเริ่มมีสีสัน ถ้าเปรียบกับทีวี ก็เปลี่ยนจากทีวีขาวดำเป็นทีวีสี ก็เมื่องานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 4 ปีแรก แห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงอนุสรถึงท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกเป็นพิเศษ นอกจากนับถือความรู้เปรียญธรรม 9 ประโยคแล้ว ท่านเจ้าคุณยังพูดจาอาจหาญตรงไปตรงมา ครั้นทรงทราบว่า ท่านกลับไปจําพรรษาอยู่วัดสุนทราวาส (สนทรา) จังหวัดพัทลุง บ้านเกิด จึงรับสั่งให้อาราธนามามอบภารกิจให้คณะกรมการจังหวัดพัทลุง อํานวยความสะดวกในการเดินทางโดยทางเรือ

พระอุดมปิฎก นามเดิมสอน เป็นบุตรนายศรีแก้ว นางปาน ศิริกุล ชาวบ้านสนทรา (อ่านว่าสนซา) ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เกิด พ.ศ. 2329 ได้เข้ามาพักอาศัย ณ วัดหนัง เขตบางขุนเทียน (ปัจจุบันเขตจอมทอง) เรียนพระปริยัติธรรมสํานักวัดหงสาราม ปัจจุบันคือวัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ ได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดหงส์รัตนาราม คุ้นเคยกับรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างดี

สมัยที่ท่านเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เป็นสมัย “แปลด้วยปาก” ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่อื่นที่สมเด็จพระสังฆราชกําหนด เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงว่างพระราชกิจ ผู้ที่จะเข้าสอบแปลได้จะต้องมีกรรมการรับรอง มีรูปร่าง ผิวพรรณดี

พุทธสโร ภิกขุ (สอน) ท่านรูปร่างเล็ก ผิวคล้ำ หากรรมการรับรองไม่ได้ ถึงคราวสอบท่านก็ไปร่วมกับเขาทุกปี เพื่อจะได้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ บางครั้งก็อาสาต้มน้ำร้อนเพื่อชงชาถวายพระกรรมการ

วันหนึ่งสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านกำลังต้มน้ำร้อนอยู่ ได้ยินพระที่เข้าสอบแปลประโยคหนึ่งติดกุกกัก ท่านจึงว่าประโยคนี้แปลไม่ได้ก็แย่แล้ว เผอิญกรรมการท่านหนึ่งเดินผ่านมาพอดีพร้อมกับถามว่า ท่านแปลได้หรือ ท่านสอนก็ตอบว่า ถึงแปลได้ก็ไม่มีใครรับรองให้เข้าแปล ท่านกรรมการรูปนั้นก็ว่า ถ้าแปลประโยคนี้ได้ ก็จะเป็นผู้รับรองให้เข้าแปลเอง ปรากฏว่าท่านสอนแปลได้ถูกต้อง กรรมการท่านนั้นจึงรับรองให้เข้าแปล แล้วท่านสอนก็แปลได้ถึง 9 ประโยคในวันนั้น เรียกว่า ม้วนเดียวจบ และปีนั้นก็มีเพียงองค์เดียวที่แปลได้ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค นี่แหละที่เขาพูดกันว่า “จุดเปลี่ยนแปลงของมนุษย์อาจเกิดขึ้นได้เสมอ”

ครั้นถึงวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีแรกที่ครองราชย์ พระอุดมปิฎกก็มาร่วมพิธีดังกล่าว นั่งสุดท้ายแถว หัวแถวก็มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) พระพิมลธรรม (จี่) พระธรรมวโรดม (ถึก) พระพรหมมุนี (ยิ้ม) พระธรรมไตรโลก (รอด) พระธรรมกิติ (โต พรหมรังสี) ฯลฯ

ถึงตอนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัย ไทยทาน เริ่มแต่สมเด็จพระสังฆราชเรื่อยมา จนถึงพระอุดมปิฎก ทรงโสมนัสยิ่งนัก ด้วยไม่ได้พบกันเป็นเวลานานแล้ว ทรงสนทนาด้วยความคุ้นเคย และตรัสว่า “วันนี้ให้พรโยมให้ชื่นใจทีเถิด” เริ่มมีสีสันแล้ว ที่รัชกาลที่ 4 เจาะจงให้พระองค์สุดท้ายปลายแถวให้พรก่อน ซึ่งตามธรรมเนียมเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่อยู่ต้นแถว คือ สมเด็จพระสังฆราช

พระอุดมปิฎกก็ขอประทานอนุญาตสมเด็จพระสังฆราช ตั้งพัดยศถวายพระพรด้วยปฏิภาณปัญญาประยุกต์ ถวายพระพรไป คิดไปสดๆ ว่า

อติเรกวัสสสตัง ชีว ฯลฯ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก และขอให้คณะสงฆ์ใช้บทถวายอดิเรกนี้เรื่อยมา พร้อมกับเพิ่มคํา “ตุ” ต่อท้าย “ชีว” ทุกศัพท์ไป

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงแสดงความเห็นไว้ว่า “สํานวนที่เรียงความไว้ดูชอบกลหนักหนา ขึ้นต้น อติเรก วัสสสตัง ชีวตุ ว่าถึงสามกลับ ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ ว่าสองกลับ สุขิโต โหตุ ว่าหนเดียว ดูเป็นเพลงที่ทํากันสมัยใหม่ ในเพลงเดียวกัน ทําสามชั้น แล้วก็สองชั้น แล้วก็ชั้นเดียว” (ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ล.ว. 11 ก.พ. 2479 สาส์นสมเด็จ เล่ม 10 หน้า 258-259)

ตรงคําว่า “มหาราชวรัสสะ” ทูลกระหม่อมทรงเพิ่มคําว่า “ปรเมนท” เข้าข้างหน้า ถึงรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนคําว่า “ปรเมนท” เป็น “ปรมินท” ถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ต้องพระประสงค์จะให้ใช้คํา “รามาธิปติ” ในอดิเรกด้วย สมเด็จพระมหาสมณะฯ จึงเอาเข้าซ้อนหน้าคํา “มหาราชา” ข้างต้นว่า “รามาธิปติ มหาราชา” แต่มางดคํารามาธิปติ เสียเมื่อรัชกาลที่ 7 (ลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยา ดํารงราชานุภาพ ล.ว. 18 ก.ย. 2479 สาส์นสมเด็จ เล่ม 10 หน้า 265-266)

ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า เรื่องการถวายอดิเรกนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระทัย ทรงร่วมกิจกรรมด้วย จึงมีสีสัน มีการปฏิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น พระอุดมปิฎก ท่านเป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) จึงถือเป็นธรรมเนียมสืบมาว่า พระสงฆ์ที่จะถวายอดิเรกได้ ต้องเป็นพระราชาคณะ เรียกว่าชั้นเจ้าคุณขึ้นไป ถือเป็นธรรมเนียม ปฏิบัติมาช้านาน

ทางคณะสงฆ์ยอมผ่อนผันให้ พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เจ้าอาวาสพระอารามหลวงซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิง ถวายอดิเรกได้เมื่อ พ.ศ. 2510…

 

ที่มา https://www.silpa-mag.com/

Leave a Reply