ว่าด้วยการแต่งตั้ง “ไวยาวัจกร”

“กองศาสนสมบัติวัด จะมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของวัดเพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ของวัดรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่หวังดี หรือพวกเหลือบจากนอกวัดที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ภายในวัด รวมทั้งจะเข้าไปพิจารณาแนวทาง ออกแบบ ให้คำแนะนำ การรายงานบัญชีของวัด ซึ่งจะมีมาตรการให้ทุกวัดต้องรายงานบัญชีธนาคารทุกบัญชีของแต่ละวัดมาที่กองศาสนสมบัติวัด นอกจากนี้จะต้องเข้าไปดูในเรื่องการแต่งตั้งไวยาวัจกรของแต่ละวัดด้วย เพราะไวยาวัจกรถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ไม่ใช่วัดจะไปแต่งตั้งใครมาก็ได้ จะต้องดูคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม..”

“ผู้เขียน” ยกเคำพูดของผอ.สำนักพุทธ ฯ พร้อมกับ “ไฮไลท์” เรื่องการแต่งตั้งไวยาวัจกรที่สื่อมวลชน ลงเอาไว้ คณะสงฆ์จะคิดเห็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ “ส่วนตัว” ไม่เห็นด้วย เรื่องการแต่งตั้ง “ไวยาวัจกร” ต้องผ่านสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติหรือใช้ “ระบบราชการ” เข้าไปยุ่งเกี่ยวจนเกินงาม!!

การแต่งตั้ง “ไวยาวัจกร” ควรปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนเท่านั่น สำนักงานพุทธเพียงแค่ “อำนวยความสะดวก” เรื่องเอกสารเพียงพอ เนื่องจากเจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครองเวลาแต่งตั้งท่านคงดูกฎมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว  หากเข้าไป “ยุ่งมาก” โดยเฉพาะวัดที่มีผลประโยชน์มาก จะนำมายุ่งความ ปั่นป่วน สู่สำนักงานพุทธชาติทันที 

 ความจริง  “อินทพร จั่นเอี่ยม” ที่เหลืออายุราชการอีกประมาณ 3 เดือน ก็จะไปแล้ว อาจมี “เจตนาดี” ที่ต้องการ “สะสาง” เหลือบจากนอกวัดที่มาหากินกับวัดดังคำกล่าวที่เจ้าตัวว่า

แต่ “เหลือบ” ที่ผ่านไม่ได้เกิดขึ้นจาก “นอกวัด” อย่างเดียว ยกกรณีตัวอย่าง “คดีเงินทอนวัด” เป็นต้น  เหลือบบางตัวยังอยู่ “ในคุก” และ “นอกประเทศ” ก็มี ถามว่าพวกนี้มาจากไหน เป็นคนของใคร!!

“ไวยาวัจกร” คือตัวแทนของ “ชุมชน” และ “หมู่บ้าน” ที่ผ่านมาการเลือกไวยาวัจกรของเจ้าอาวาส “อาจละหลวม” ในการแต่งตั้งบ้าง แต่ถึงอย่างไรเสียการแต่งตั้ง “ไวยาวัจกร” ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส พระภิกษุสงฆ์และ ประชาชนในชุมชนที่วัดนั่น ๆ ตั้งอยู่ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแลอุปถัมภ์บำรุงศาสนสมบัติ “อันเป็นของส่วนรวม” และเพื่อเป็นตัวแทนของชุมชนหมู่บ้านในการประสานระหว่างวัดกับหมู่บ้านหรือชุมชน หรือแม้กระทั้งเพื่อเป็นตัวของเจ้าอาวาส..ในภารกิจอื่น ๆ

ไม่ควรที่จะให้ “สำนักงานพุทธฯ” เข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงดังคำกว่าที่ “อินทพร จั่นเอี่ยม” บอกว่า “นอกจากนี้จะต้องเข้าไปดูการแต่งตั้งไวยาวัจกร ที่ ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ไม่ใช่วัดจะไปแต่งตั้งใครมาก็ได้ จะต้องดูคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย..”  

มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติไว้ว่า การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครอง คณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และ ไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง ถอดถอน ไวยาวัจกร กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร มีดังนี้

“ไวยาวัจกร” หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ ซึ่งคฤหัสถ์ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ เป็นต้นว่า

เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา , มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ , เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง, เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ไวยาวัจกรได้,  ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

การแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัดใด เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้น ปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อมีมติเห็นชอบในคฤหัสถ์ผู้ใดก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ และการแต่งตั้งไวยาวัจกรนั้น อาจจะแต่งตั้งคนเดียวหรือหลายคนก็ได้..

อันนี้ต้องฝาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ประธานฝ่ายสาธารณูปการของมส. ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการในการออกระเบียบศาสนสมบัติวัดและการแต่งตั้งไวยาวัจกร  รวมทั้ง  ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามส. ที่เป็นรองประธาน ต้องวางหลักเกณฑ์และระเบียบให้สอดคล้องกับแผนปฎิบัติกิจการพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้ “วัด” เป้น ศูนย์กลางของชุมชนหมู่บ้าน อย่างแท้จริง!!

ทุกวันนี้ “รัฐ” พยายามแยก “เจ้าอาวาส” ออกจากชุมชนและหมู่บ้านเรื่อยมา โดยเฉพาะเจ้าอาวาส บางวัดไปเอาพระมาจากไหนไม่ทราบมาเป็น “เจ้าอาวาส”  ตั้งมาแล้ว “ชาวบ้าน”ไม่รู้จัก ไม่ใช่คนในชุมชน ไม่ผูกพันกับคนรอบวัด สุดท้าย “เจ้าอาวาส”กับ “ประชาชน” ก็ห่างกัน พระกับวัดไม่ผูกพันกัน  เจ้าอาวาสไปทาง ประชาชนไปทาง เวลาเจ้าอาวาสเดือดร้อนค่าน้ำค่าไฟ ไปขอบริจาคเรี่ยไร ชาวบ้านก็ไม่ศรัทธา ไม่ให้ ไม่สน ตอนนี้วัดต่างจังหวัดประสบปัญหาแบบนี้จำนวนมาก

การแต่งตั้งไวยาวัจกร อย่าซ้ำรอยความผิดพลาดเหมือนการแต่งตั้ง “เจ้าอาวาส” โดยเฉพาะเจ้าอาวาส “พระอารามหลวง” บางพระอารามเจ้าอาวาสลอยมาดังนภากาศ!! ทั้ง ๆที่ภายในวัดมีทั้งรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รอคิวขึ้นเบอร์หนึ่งเต็มวัด !!

Leave a Reply