“พระมหาเทอด” สัมภาษณ์ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังเสวยวิบากกรรมนานปี!! (คลิป)

วันที่ 12 ส.ค. 65  เช้าวันนี้เวลา 08.30 -09.00 น.  พระมหาเทอด ญาณวชิโร  อดีต “พระราชกิจจาภรณ์”วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่เคยถูกดำเนินคดี “เงินทอนวัด” จนต้องเข้าไปเสวยวิบากกรรมในเรือนจำนับปี จนหลังศาลพิพากษาพ้นความผิดแล้วกลับมาห่มจีวรอีกครั้ง ได้ออกรายการวิทยุคลื่น 92.5 FM กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือ “ทศชาติ” ฉบับญาณวชิระ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ซึ่งหนังสือฉบับนี้มีคณะผู้เรียบเรียงประกอบด้วย พระธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ) พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์) พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์) พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  และมีคณะที่ปรึกษาประกอบด้วย  ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี,นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวอรนุช ศรีนนท์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายปรินปพัชร์ วิริยะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองโบราณ จำกัด และ นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และเขียนคำนิยมโดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

สำหรับเนื้อหาภายในหนังสือฟังจากคำสัมภาษณ์ของ พระมหาเทอด ญาณวชิโร   โดยสังเขปว่า  เป็นการรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากพระไตรปิฎกและอรรถถา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทำงานร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี และมีภาคเอกชน ร่วมสนับสนุน อาทิ บริษัทเมืองโบราณ จำกัด บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มีภาพประกอบเพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการและเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง ใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้

ซึ่งทุกตอนล้วนมีธรรมะแฝงไปด้วยการสร้างพระบารมี ท่านยกตัวอย่างหลักธรรมที่สำคัญ ซึ่งปรากฏอยู่ใน “พระวิธูรบัณฑิต” ซึ่งเป็นตอนหนึ่งใน 10 ชาติของพระพุทธองค์ที่เสวยเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นตัวอย่างหลักธรรมที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติ กล่าวคือ   “สาธุนรธรรม”  หลักธรรมของคนดี จงเดินไปตามทางที่ท่านเดินกันมาแล้ว คือ การตอบแทนคุณผู้ที่มีบุญคุณแก่ตน ,จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม คือ ไม่คิดร้ายต่อผู้มีพระคุณ  อย่าทำร้ายมิตรไม่ว่าในกาลไหน ๆ ซึ่งก็หมายถึง ไม่เป็นคนเนรคุณนั่นเอง

“ฆราวาสธรรม“ หลักธรรมของครอบครัวที่ดี  ไม่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น / มีศีลสมบูรณ์ / ไม่ประมาท / สุภาพ อ่อนโยน / ทำบุญ ให้ทาน / คบมิตรดี  ซึ่งตรงกับหลักธรรม สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นั่นเอง

“ราชสวัสดิธรรม” หลักธรรมของข้าราชบริพารที่ดี หรือ หลักธรรมของข้าราชการที่ดี ซึ่งพระโพธิสัตว์วิธูรบัณฑิต กล่าวสอนไว้ มี 43 ข้อ ยกตัวอย่าง  พร้อมบอกต่อว่า “ราชสวัสดิธรรม” หลักธรรมนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยพระราชนิพนธ์ไว้ด้วยชื่อว่า “โคลงราชสวัสดิ์”  เพื่อสอนหลักปฏิบัติของผู้ที่จะรับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ สอนทั้งหลักปฏิบัติในการเป็นข้าราชการ และหลักปฏิบัติให้ตนเป็นคนดี เพื่อให้ดำเนินชีวิตด้วยดีในสังคม หรือหลักปฏิบัติราชการ เช่น ต้องเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย อย่ากล้าเกินไป แต่อย่าขลาดจนเสียข้อราชการ  อย่าตีตนเสมอเจ้านาย อย่าดื่มสุราเมามายจนเสียราชกิจ  อย่าเห็นแก่กินต้องอ่อนน้อมถ่อมตนรู้จักกาลเทศะ เป็นต้น

การสัมภาษณ์ออกสื่อสาธารณะของ พระมหาเทอด ญาณวชิโร หนึ่งอดีตพระมหาเถระที่ต้องคดีเงินทอนวัดครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี ถือว่าเป็น “สัญญาณบวก” สำหรับวงการคณะสงฆ์ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหาและเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

สำหรับรายละเอียดทั้งหมดรัฐบาลและสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสืออย่างเป็นทางการ ณ  ทำเนียบรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 นี้ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป..

Leave a Reply