เยือนเมืองดอกบัว “มหานคร” แห่ง โคก หนอง นา (ตอน2)  

คำว่า “เขตเศรษฐกิจพอเพียง” ถือว่าเป็นคำใหม่ในสังคมไทย เนื่องจากคำนี้เพิ่งปรากฏในเอกสารสั่งการของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

คำว่า เขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ และ โครงการโคก หนอง นา จริง ๆ มันคือเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ทั้ง 2 เรื่อง มันเน้นหนักเรื่องของการที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศเราประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน จึงร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอาหารกินแบบ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น และก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคงอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“แต่การที่จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่งได้ มันจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มที่เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งของเราเน้นที่การรวมกลุ่มในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนที่ร่วมกันทำโคกหนองนามีกระบวนการผลิต การมีผลผลิตที่สามารถนำมารวม เพื่อให้มีปริมาณมาก ๆ เพื่อนำไปสู่การแปรรูปหรือการขายส่ง ขายปลีกที่มีปริมาณมากพอที่ตลาดมีผู้บริโภคจำนวนมากสามารถที่จะมาเป็นลูกค้าได้ ดังนั้นถามว่าเป็นเรื่องเดียวกันไหม คล้าย ๆ กันนะ เป็นการต่อยอดเป็นการขยายผลเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีใหม่ มันมีขั้นที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจพอเพียงมีขั้นต้น ขั้นกลาง แล้วขั้นก้าวหน้า เขตเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนขั้นก้าวหน้านั่นเอง..”

ข้อความเบื้องต้นคือคำกล่าวของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้สัมภาษณ์กับ “ทีมข่าวพิเศษ” ไว้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะลงพื้นที่จริงเพื่อไปดูผลสำเร็จและความเตรียมพร้อมของประชาชนที่เข้าร่วมทำโครงการ โคก หนอง นา ใน 4 ภูมิภาค 10 จังหวัด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทีมงานลงไปพูดคุย ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีผลผลิตครบ 4 พ.แล้วคือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็นและหลายครัวเรือนถึงขั้นรวมตัวกันแปรรูปจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชน” ออกจำหน่ายไปทั่วประเทศแล้ว

การขับเคลื่อนขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่  เป็นการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นพื้นฐานที่เป็นการสร้างความมั่นคงในระดับครัวเรือน ชั้นกลางที่เป็นการสร้างการรวมกลุ่มของระดับชุมชน และขั้นก้าวหน้า เป็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการต่อยอดผลผลิตในทุกมิติด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่และเป็นการต่อยอดจากเดิม

เรื่องนี้ ผศ.พิเชษฐ โสวิทยกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย บอกว่า การขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้าน  ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ผ่าน 5 กลไกหลัก คือ 1.ประสานงานภาคีเครือข่าย 7 ภาคี 2. การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ 3.กำกับ ติดตาม หนุนเสริม เตือนภัยและประเมินผล4. จัดการความรู้และพัฒนาบุคลากร และ 5. รับฟังและสื่อสารสังคมแบบเชิงรุก

“จังหวัดอุบลราชธานี” เป็นจังหวัดหนึ่งที่นำโด่งมาตลอดในเรื่องการขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา ทั้งจำนวนผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ทั้งจำนวนแปลง และทั้งความพร้อมที่จะขับเคลื่อน “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” อาจเป็นนอกจากมีภาคข้าราชการและภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งแล้ว จังหวัดจังหวัดอุบลราชธานีมี “พระภิกษุ” สองรูปเป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย คือ คือ พระปัญญาวชิรโมลี และ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ซึ่งทั้ง 2 รูปถือว่าเป็นพระที่ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อันตั้งอยู่บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงเจริญตามรอยศาสตร์ของพระราชาอย่างได้มรรคได้ผล มีผลสำเร็จเป็นเครื่องพิสูจน์ได้   ความร่วมมือแบบนี้สมควรให้จังหวัดอื่น ๆ นำเอาไปเป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนการทำงานระหว่างภาครัฐ คณะสงฆ์และประชาชนตามหลัก  “บวร”

ดร.ภคิน ศรีวงศ์”  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รับอาสาพาไปพบ “เจ้าคุณ” ทั้ง 2 รูปทั้ง พระปัญญาวชิรโมลี และ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้เป็นหลักสำคัญของการขับเคลื่อนแปลงโคก หนอง นา ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมทั้งจะไปสอบถามแนวคิดและความคืบหน้า ที่จะให้จังหวัดอุบลราชธานีนำร่องจัดตั้ง  “เขตเศรษฐกิจพอเพียง”

โครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) ตำบลห้วยยาง อำเภอ โขงเจียม อุบลราชธานี ที่นี้ทีมงานได้พบกับ “พระปัญญาวชิรโมลี”  เจ้าของฉายา “พระเสียดายแดด” เนื่องจากท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์ ภายในวัดมีโรงเรียนการกุศลซึ่งมีนักเรียนนับร้อยคน ส่วนใหญ่เด็กภายในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ที่นี่มีศูนย์ฝึกอบรมติดตั้งโซล่าเซลล์

“พระปัญญาวชิรโมลี”  พาทีมงานเดินดูบริเวณพื้นที่วัด ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนา ทั้งกำลังทำถนนลาดยางเข้าไปยังวัด ภายในวัดมีการสร้ากุฎิรับรองพระเถระทั้งกุฎิดินและกุฎิไม้สไตล์รีสอร์ตตั้งอยู่กลางป่าไม้ดูแล้วรื่นรมย์ใจ ตามถนนหนทางก็มีการจัดเก็บน้ำแบบ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมกับพาไปดู “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” ถามท่านว่า “อีโด่ยวัลเล่ย์” หมายถึงอะไร ท่านตอบว่าเป็นคำเสียดสีเสมือนคำภาคกลางว่า “ทุรกันดาร +ไกลปืนเที่ยง” ประมาณนั้น

ในขณะที่ทีมงานสนทนากับพระปัญญาวชิรโมลีมีชาวบ้านอย่างน้อย 2 -3 กลุ่มเดินทางมาพบท่านพร้อมกับถือโฉนดที่ดินมา ด้วยความสงสัยจึงถามท่านตอบว่า  กำลังจะซื้อที่ดินวัดเพิ่ม เพราะกำลังจะเตรียมขยายการทำโคก หนอง นา แล้วจะต่อยอดเป็นเขตเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากรับซื้อแล้วชาวบ้านคนไหนไร้ที่ดินทำกิน ไม่มีที่ดินจะแบ่งเป็นล๊อค ๆ ครัวเรือนละประมาณ 2 ไร่ รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน

 “ความจริงเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพอเพียง นายกรัฐมนตรีโดยหลักการนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว แต่สภาพัฒน์ ฯ ยังไม่ขยับ วันก่อนก็ไปเร่งรัดกับนายกรัฐมนตรีอีกรอบ เพราะเรื่องนี้หากทำได้มันจะเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง  ชาวบ้านจะพึ่งตนเองได้  แต่ต้องคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นะ หากคิดผลิตเพื่อมุ่งหากำไร มุ่งแต่ความร่ำรวย เข้าทางระบบทุนนิยม เข้าทางนายทุนอีก ชาวบ้านก็จะไม่ได้อะไร..”

จากข้อมูลขององค์กร Concern Worldwide” ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือและมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดของไอร์แลนด์ ในปี 2563  ได้สรุปสาเหตุสำคัญของความยากจนในโลก สาระสำคัญ  5 อันดับแรกคือ 1. การขาดแคลนนำสะอาดและอาหาร2. การไม่มีงานทำ หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอ  3. การขัดแย้งและสงคราม 4.  ความไม่เท่าเทียม และ 5. การขาดการศึกษา

การจัดตั้ง “เขตเขตเศรษฐกิจพอเพียง” นอกจากตอบโจทย์แก้ปัญหาเหล่านี้แล้ว ยังตอบโจทย์ของสหประชาชาติ (UN)ที่ขอความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันจับมือเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งผู้คนมากกว่า 800 ล้านคน หลายคนยังขาดการเข้าถึงอาหาร น้ำดื่มที่สะอาดและสุขอนามัยที่เพียงพอ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในบางประเทศก่อให้เกิดความเหลือมล้ำ “คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจนลง”  

สหประชาชาติหรือ UN จึงขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกทั่วโลกดำเนินการ SDGs เพื่อร่วมมือกันไปสู่เป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก ได้รับการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการตลอดทั้งปี เป้าหมายนี้ยังเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางนี้หลายข้อสอดคล้องกับการดำเนินการโครงการโคก หนอง นา ที่กระทรวงมหาดไทยกำลังพยายามต่อยอดเป็น “เขตเศรษฐกิจพอเพียง”

“พระพิพัฒน์วชิโรภาส”  ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกรูปหนึ่ง บอกกับทีมงานว่า การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพอเพียงต่อยอดจากโคกหนองนาตัวนี้มันเป็นเชิงธุรกิจแล้ว อยู่ในขั้นก้าวหน้า ไม่ใช่ 4 พ แล้ว คือเป็นเรื่องการลงทุนที่จะต้องมีกำไรเข้ามา เป็นการแปรรูปแบบ อุตสาหกรรม ซึ่งเสนอทางสภาพัฒน์ฯไป เขาอยากให้ปรับเป็นโมเดลแปลงใหญ่ จริง ๆ ปลัดเก่ง (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ก็โต้ว่า “ถ้าแบบนี้คนยากจนไม่ได้มีที่ขนาดนั้น ชาวบ้านก็อาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ..”

ในส่วนแปลงเล็กชาวบ้านก็จะปลูก ถั่วลิสง ถั่ว เหลือง ถั่วเขียว อาตมามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะ ตอนที่ปลัดท่านอยู่ แล้วพอโครงสร้างมันหยุด จะไปต่ออย่างไร ถ้าบริหารจัดการไม่ดีมันก็เหมือนกับ อบต. ที่สร้างไว้แล้วไม่มีคนอยู่ เพราะการบริหารจัดการต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วย ต้องสร้างคนให้เป็น CEO เหมือนรูปแบบบริษัทเลย อาตมายังบอกว่าถ้าคัดคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรมก็จบ ต้องเลือกคนมีคุณธรรม ส่วนทักษะการตลาดชาวบ้านเหล่านี้ก็ไม่ค่อยเป็นกัน ส่วนใหญ่จะเก่งด้านการผลิต ดังนั้นจะต้องหาคนที่เก่งทางด้านการตลาดเข้ามาเพื่อช่วยให้เข้ามาบริหารจัดการขับเคลื่อนต่อได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า ซึ่งทางอาจารย์โก้ (ผศ.พิเชษฐ โสวิทยกุล) ได้ ประสานกับเจ้าคุณปัญญา (พระปัญญาวชิรโมลี) เรื่องเขตเศรษฐกิจพอเพียง แต่นายกรัฐมนตรี ก็ต้องกลับไปถามทางสภาพัฒน์อยู่ดีว่า ที่เขาคอมเม้นมานี้ปรับแก้หรือยัง แล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะได้หรือเปล่า ทางศูนย์พื้นที่เราก็ทำแผนไป ถ้าหากแผนไม่เข้าอย่างน้อยก็เอาไว้ และได้กำหนดทิศทางกับทางจังหวัดในแนวทางการขับเคลื่อนว่าจะไปต่ออย่างไร

 “ ทีแรกอาตมาก็เป็นคนชวน พอตอนหลังมีเรื่องโมเดลก็ได้ปรับมาทำโมเดล แต่เนื่องจากมันไม่นิ่ง อาตมามองว่า ในพื้นที่ของเราอะไรที่อยู่ในฐานมั่นคงของเรา ฐานเดิมของเราคือ โคก หนอง นา ฐานคุณธรรม จริยธรรม และภูมิปัญญา ศาสตร์พระราชาท่านทรงค้นคว้าวิจัย นำเรามาแปลงดูสิว่ามันจะตอบโจทย์ของ 17 ข้อ ของสหประชาชาติคืออะไร ค่อยนำมาทำเป็นแผนงานกิจกรรม ตัวนี้จะนำไปสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ไม่ได้กังวล แต่นี่คือพื้นฐานที่เราทำอยู่ ที่ตอบโจทย์ 17 ข้อ ก็มีหลายอย่าง (กางแผนงานเอาไปดู) คือมองภาพใหญ่ให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ ภาพใหญ่เรามองว่าการพัฒนาจะต้องนำไปสู่เรื่องสหประชาชาติ 17 ข้อ แต่ภาพเล็กชุมชนของเรามีปัญหาเรื่องอะไรก็เอามาขับเคลื่อนกับความรู้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรานำหลักธรรม ภูมิปัญญา และความรู้เอามากำหนดปัญหาต่างๆ ซ้ายคือแนวทางการขับเคลื่อน ขวาคือนำไปสู่การพัฒนาตาม17ข้อสหประชาชาติ แล้วก็กำหนดมาเป็นโครงการเดียว แต่มีกิจกรรมของโครงการรักษ์ป่า เรื่องการบริหาร เรื่องการพัฒนามนุษย์ อาตมาทำเป็นแผนของศูนย์ไว้ เราจะดูว่างานที่เรามีจะไปสอดคล้องได้อย่างไร เพราะงานเรามีอยู่แล้ว เราก็ทำได้ดีเพราะเราถนัด ถ้าไปดูในผังแล้วก็ตอบโจทย์ใน 17 ข้อ ไม่ครบทุกข้อก็ไม่เป็นไร ทำแบบนี้เกิดความสนุกกว่า ไม่ต้องกังวล บางทีก็เอาแผนพัฒนาของจังหวัดมาด้วย

อย่างเจ้าคุณปัญญาตอนนี้ซื้อที่เพิ่มอีก 50 กว่าไร่ รวมกับของเดิม 30 ไร่ ก็อาจจะเอาคนเข้าไปอยู่ได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องหนัก เพราะอย่าลืมว่าต้องอยู่กับคนคือเรื่องหนัก เพราะอาตมาเคยทำเรื่องบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมาก่อน แล้วก็คนที่ไม่มีคุณธรรมจะนำปัญหามาให้เยอะมากมาย มันมีทั้งคนยากจนและคนอยากจน คนอยากจนเนี่ยมันก่อเกิดปัญหา คนยากจนจริง ๆ ไม่มีอะไรเขามีพื้นฐานของความขยัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีคนเข้ามาคอยดูแล ปลัดเก่งก็พอที่จะทราบแนวทาง อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดนครนายก ถ้าประเมินแล้วไม่ผ่านมันไม่จบนะ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ที่ดงใหญ่นี้ถ้าตามเกณฑ์ที่คุยกันล่าสุดนี้ ไม่เข้าเกณฑ์ แต่ต้องมองหาพื้นที่ใหม่ซึ่งไปสำรวจแล้วมีอยู่ 3 แห่ง ซึ่งเป็นป่าช้า เป็นที่ฝังศพของชุมชน บางแปลงถูกบุกรุกไปแล้วก็มี เราจะไปนำชาวบ้านออกจากพื้นที่ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง หากทำแปลงเดียวก็จบเลยมันง่าย อาตมามองว่าถ้ารวมตัวกันได้ 100 ไร่ก็เอาไปเชื่อมโยงกับโคก หนอง นา ที่มีอยู่ หลังจากส่วนที่เขาปลูกข้าวไปแล้ว เขาปลูกข้าวได้เท่าไหร่ ยังปลูกถั่วได้ไหม..” 

ตอนนี้เอกชนก็อยากเข้ามาร่วมด้วย มีอะไรบ้าง

เราไม่ทราบข้อมูล แต่ว่ามีหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ถ้าเรื่องวัตถุดิบสามารถไปเชื่อมกับชาวบ้านได้ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยด้วย ถ้าอยากได้ข้าวก็ต้องส่งเสริมเรื่องน้ำให้ชาวบ้านด้วย เพราะพื้นที่บางแห่งมันไม่มีน้ำ แต่ถ้าเอาพื้นที่ 300 ไร่อย่างเดียวเป็นไปได้ยาก ถ้าต้องการให้ส่วนในขับเคลื่อนเขาก็ต้องปรับแผนให้เหมาะกับบริบทของชุมชน นาแปลงใหญ่เขารวมเรื่องพืชไร่เข้าไปด้วยไม่ได้มีเฉพาะนา แปลงใหญ่มีแต่นายทุนใหญ่เท่านั้นที่จะทำได้  ใจของเราคิดว่าอยากจะต่อยอดโคก หนอง นาเดิมที่เคยคุยไว้ เขาอยากให้เป็นเหมือนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นเครื่องมือของนายทุนอีก คล้ายกับนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

 เนื่องจากว่าของเรานั้นเป็นวัด หากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ จะโดนโจมตีทันที ดังนั้นเราจึงไม่มุ่งเน้นทางธุรกิจ แต่มีหลายแห่งสามารถนำไปประยุกต์เป็นธุรกิจได้ แต่ของเราคือเน้นกิน แจก ช่วย มีบ้างเล็กน้อยที่ขายได้นิดหน่อย มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจ หลวงพ่อก็ช่วยดู เมื่อเขาตั้งตัวได้ก็โอนให้เขาไป โอนคือ การยกให้เขาไปดูแล เราก็ช่วยเริ่มต้นให้ บทบาทของศูนย์ คือสร้างคน ให้มีพื้นที่เรียนรู้จริง อย่างเรื่องธนาคารน้ำ ได้ประสานไปยัง11โรงเรียนแล้ว วางแผนไว้หมดแล้ว เริ่มดำเนินการในส่วนของอุปกรณ์เครื่องจักรไว้บ้างแล้ว ได้รวมกลุ่มของวัดดอนที่เลี้ยงโคไว้เกือบ100 ร้อยตัว เขาจะเอาหญ้ามาสับผสมเป็นอาหารวัว ในกลุ่มได้มีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว ครุภัณฑ์ที่ได้มามีกี่ตัว ชาวบ้านจะใช้ได้ จะเป็นลักษณะของการเช่าไปใช้

 “อาตมาว่าบนพื้นฐานที่เรามีอยู่มันมีความสุขดี แต่ถ้าจะขยายให้ใหญ่ก็ต้องดูศักยภาพ ถ้าเป็นไปได้จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องชุมชนก็น่าทำ ต้องศึกษาแนวทางให้แน่ชัด อาตมาได้ชวนพี่น้อง 8 อำเภอมาเตรียมตัวสมัครกันไว้ เอาไปเสนอจังหวัดให้รวบรวมไว้ก่อนลองดูทิศทางของสภาพัฒน์กับกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างไร..”

 เรื่อง “เขตเศรษฐกิจพอเพียง” เป้าหมายของสภาพัฒน์ฯกับเรา คิดต่างกัน

ต่างกัน สภาพัฒน์เขาคิดใหญ่ ของเราคิดจากทฤษฎี 9 ขั้นของในหลวง ในหลวงท่านทำวิจัยมาตลอดชีวิตของท่าน เราคิดนำมาต่อยอดชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ เพราะเป็นพื้นฐานของชาวบ้าน จริงอยู่ว่าชาวบ้านได้ปลูกมาก ยอดขายก็จะมากขึ้น ทางสภาพัฒน์นี้เอาตัวเงินนำ ชาวบ้านก็ไม่อยากยุ่งด้วย  ตอนนี้มันก็แลยยังไม่มีอะไรคืบหน้า

“แต่จังหวัดอุบลราชธานีของเราไม่รอแล้ว ปรึกษาหารือกันแล้ว นำร่องก่อน เราทำจากสิ่งที่เรามีคือ โคก หนอง นา รวมตัวกันกับภาคีเครือข่ายนำร่องทำเขตเศรษฐกิจพอเพียง หากทางข้างบนเขาคุยกันเรียบร้อย ลงตัวพวกเราก็สามารถเข้าไปสวมได้เลย..”

ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา หรือการต่อยอดจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ทุกประการล้วนตั้งอยู่บนฐานในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนเพื่อนำไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ตามนโยบายของรัฐบาล และทั้งเพื่อตอบโจทย์พัฒนาวิถีชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ที่องค์กรสหประชาชาติเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการนั่นเอง!!

Leave a Reply