หลวงปู่บางพระเถระรามัญ “เทพเจ้าแห่งมอญกระทุ่มมืด”

วันนี้ขอเสนอ ชีวประวัติของพระเถราจารย์รามัญ ผู้เสมือนดั่งเทพเจ้าของชาวมอญกระทุ่มมืด พระเถระรูปนี้ก็คือ

“พระครูปัญญานนทคุณ (บาง ปัญญาทีโป)”
 อดีตเจ้าอาวาสวัดสโมสร(เภี่ยเกริงหม่อมแช่ม) ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี
     พระครูปัญญานนทคุณ หรือ หลวงปู่บาง ปัญญาทีโป  ท่านมีนามเดิมว่า บาง นามสกุล นุชสุภาพ  เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวมอญแห่งบ้านคลองหม่อมแช่ม ต.ไทรใหญ่ อ.บางบัวทอง (ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นอำเภอไทรน้อย)  จ.นนทบุรี เป็นบุตรของโยมพ่อคำ นุชสุภาพ และโยมแม่กุหลาบ นุชสุภาพ ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๒ คน โดยท่านเป็นบุตรชายคนโต เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ บิดามารดาของท่านได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ปากลัด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หลวงปู่บางก็ได้ย้ายตามไปด้วย ในวัยเด็กท่านได้ศึกษาตำราหนังสือไทยที่วัดแหลม โดยมีพระมังกร ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติกันกับท่านเป็นผู้สอนให้ ต่อมาท่านได้เข้าศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนอนุบาลวัดกลางสวน โดยภายหลังโรงเรียนได้ถูกยุบไปเพราะมีเด็กนักเรียนน้อย บิดามารดาท่านจึงพาไปฝากเรียนกับพระอาจารย์เติม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางสวนในขณะนั้น
ท่านได้เรียนตำราหนังสือภาษามอญจนอ่านออกเขียนได้โดยคล่อง ต่อมาบิดามารดาท่านจึงได้พาไปฝากเรียนกับหลวงตาสว่าง ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของท่าน ที่วัดสุทธาโภชน์ กิ่งอำเภอลาดกระบัง จ.พระนคร ต่อมาหลวงตาสว่างได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหม่อมแช่ม(วัดสโมสร) ท่านจึงได้ติดตามหลวงตาสว่างมาอยู่ที่วัดสโมสรด้วย แต่ท่านก็ยังเดินทางไปเรียนวิชาที่วัดกลางสวนด้วย กระทั่งเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลางสวน อ.พระประแดง โดยมีพระอธิการเติม วัดกลางสวน เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อท่านบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้อยู่ศึกษาธรรม และไสยเวทย์รามัญกับพระอาจารย์เติมได้ ๑ พรรษา ภายหลังท่านต้องกลับมาดูแลหลวงตาสว่างที่วัดสโมสร เนื่องจากชราภาพและตามองไม่เห็น เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดสโมสร ซึ่งในขณะนั้น มีพระอาจารย์เจิ๊ด เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในขณะนั้นทางวัดสโมสรได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม พอดี ท่านจึงได้เข้าเรียนพระปริยัติธรรม ที่สำนักวัดสโมสร จนท่านสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งในขณะท่านมีอายุได้ ๑๗ ปี ต่อมาพระอาจารย์เจิ๊ด จึงได้แต่งตั้งให้สามเณรบางเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี โดยท่านได้สอนหนังสือมอญควบคู่ไปด้วย พอท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลาง ต.บางผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมี พระครูธรรมวิธานปรีชา(พระมหาทองก้อน กงทอง) วัดกลาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดอุย วัดกลาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระสมุห์จีบ วัดกลาง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยมีฉายาทางธรรมว่า “ปัญญาทีโป” 

     เมื่อท่านอุปสมบทเป็นพระแล้ว ท่านก็ได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดสโมสร เพื่อร่ำเรียนพระปริยัติธรรมต่อ จนท่านสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ต่อมาพระอาจารย์เจิ๊ด จึงได้แต่งตั้งให้พระภิกษุบาง  เป็นครูสอนนักธรรมทั้ง ชั้นโท และชั้นตรี ท่านก็ได้สอนหนังสือมอญแก่เด็กวัดร่วมด้วยเรื่อยมาตลอด และเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๑ พระอาจารย์เจิ๊ด ท่านได้ถึงกาลมรณะภาพ พระอาจารย์บาง จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสโมสร เมื่อท่านจัดการธุระในงานปลงศพพระอาจารย์เจิ๊ด เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ยังได้เทียวไปเทียวมากับวัดกลางสวนอยู่สม่ำเสมอ เพื่อไปปรนนิบัติต่อพระอาจารย์เติม จนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งทำให้เห็นว่าหลวงปู่บาง ท่านมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสโมสร เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ ณ วัดละหาร

           เมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสโมสรแล้ว ท่านได้พัฒนาเสนาสนะภายในวัด และช่วยอุปถัมภ์ชาวบ้านในด้านต่างๆ และยังส่งเสริมในด้านการศึกษามาโดยตลอด จนเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  และคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ที่ พระครูปัญญานนทคุณ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งนับว่าเป็นสมภารรูปแรกของวัดสโมสร ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ชั้นพระครู นำความปราบปลื้มยินดีมาสู่ชาวบ้านคลองหม่อมแช่มเป็นอย่างมาก และท่านก็ยังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท และชั้นเอก ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ และปีพ.ศ.๒๕๓๑ ตามลำดับอีกด้วย
     หลวงปู่บาง ปัญญาทีโป ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านพระปริยัติธรรม และพระวินัย เป็นอย่างดี ท่านมีความชำนาญในด้านงานช่างไม้ และประเพณี วัฒนธรรม ภาษามอญ ในช่วงที่ท่านยังร่างกายแข็งแรงดีอยู่นั้น หลวงปู่ท่านได้สนับสนุนส่งเสริมให้พระสงฆ์และชาวบ้านนั้นช่วยกันอนุรักษ์สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมแบบมอญไว้อย่างเข้มแข็ง ท่านเป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเป็นเลิศ ท่านเป็นพระที่สมถะ มักน้อย สันโดษ พูดน้อย มีจริยวัตรงดงามตามแบบพระสงฆ์มอญ เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างยอ่ง วัตรปฏิบัติของท่านสามารถเป็นต้นแบบที่ใช้สั่งสอนลูกศิษย์ได้ตลอดเวลา ท่านเป็นพระที่ชาวบ้านให้การเคารพศัทธาอย่างสุดใจ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด เพื่อใช้แจกเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บรรดาลูกศิษย์ที่เคารพศรัทธาในตัวท่าน วัตถุมงคลของท่านที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าพุทธคุณนั้นครอบจักรวาฬ ได้ทั้งเหนียว แคล้วคลาด และเมตตา อาทิเช่น ผ้าขอดแดงไตรมาส ซึ่งเด่นในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย,  เหรียญกลมมีห่วง รุ่นแรก ปีพ.ศ.๒๕๑๗ เด่นในด้านมหาอุตม์,พระผงพิมพ์สมเด็จ พิมพ์ต่างๆ เด่นในด้านเมตตา, และอีกหลายชนิดที่ไม่ได้กล่าวถึงล้วนแต่มีประสบการณ์ทั้งสิ้น
      พระครูปัญญานนทคุณ หรือ หลวงปู่บาง ปัญญาทีโป ท่านได้มีอาการอาพาธตามวัยสังขาร ที่ล่วงโรยไปตามกาลเวลา ทำให้ท่านนั้นเดินไม่ค่อยไหว แต่ท่านก็ยังปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้ปกติ แต่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง ต่อมาภายหลังสังขารท่านได้ล่วงโรยไปมาก ท่านจึงต้องนั่งรถเข็น โดยมีพระลูกศิษย์เป็นผู้ปรนนิบัติ  กระทั่งเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๔๘ ท่านได้อาพาธอีกครั้ง โดยมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดความโศกเศร้าอาลัยของชาวมอญกระทุ่มมืดก็บังเกิด เมื่อได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่บาง ปัญญาทีโป ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี พรรษา ๖๖  

     หลังจากที่หลวงปู่บาง ปัญญาทีโป ได้มรณะภาพแล้วนั้น ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้ร่วมกันจัดพิธีศพให้หลวงปู่บางตามธรรมเนียมแบบรามัญอย่างสมเกียรติ และได้จัดให้มีพิธี พระราชทานเพลิงศพ พระครูปัญญานนทคุณ (บาง ปัญญาทีโป) เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ ปราสาททรงมอญชั่วคราววัดสโมสร ซึ่งเมื่อครั้งงานปลงศพหลวงปู่บาง นี้ทางวัดฯได้จัดให้มีการจุดลูกหนู(ฮะตะน็อย)ตามธรรมเนียมงานปลงศพพระสงฆ์มอญ มีการรำสามถาดตามความเชื่อของชาวมอญ ได้จัดสร้างปราสาททรงมอญและจัดให้มีพิธียกยอดฉัตรปราสาทตามแบบภูมิปัญญามอญ มีการแสดงมหรสพสมโภชน์อย่างยิ่งใหญ่ มีประชาชนทั้งชาวไทย และชาวมอญ จากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมงานกันอย่างคับคลั่ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันแสดงถึงคุณงามความดีที่หลวงปู่บางได้กระทำไว้เมื่อครั้งยังดำรงขันธ์อยู่นั่นเอง

เรียบเรียงโดย  :  ขุนแผน แดนรามัญ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
 – ข้อมูลประวัติโดย จากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูปัญญานนทคุณ(บาง ปัญญาทีโป) วัดสโมสร,อาจารย์พิศาล บุญผูก
– ข้อมูลภาพโดย วัดสโมสร อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี , คุณหนึ่ง วัดสุท , คุณวายุ จิรายุ , คุณ Chok Dee ,

Leave a Reply