ปลัดเก่งเยี่ยม “หมู่บ้านยั่งยืน” แนะขอความเมตตาจากพระสงฆ์ทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่น

วันที่ 20 ก.พ. 67 เวลา 15.30 น. ที่บ้านป่าเส้า หมู่ที่ 9 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล นายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายสมาน กองแก้ว ปลัดจังหวัดลำพูน นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน นายยุทธพงศ์ ไชยศร นายอำเภอเมืองลำพูน นายประเชิญ สมองดี นายอำเภอลี้ นายภัทรพล ผัดดวงธรรม นายอำเภอป่าซาง นางสาวศิริพร กันธิยะ นายอำเภอบ้านธิ นายกิตติพัฒน์ ธนินภิตินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลอุโมง นายพัฒนพงษ์ พุทธปวน กำนันตำบลอุโมงค์ นายธนภัทร กันยา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านป่าเส้า พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทมหาดไทย เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมประชุม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับฟังบรรยายสรุปการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และตรวจเยี่ยมนิทรรศการชุมชนปลอดขยะ การออกร้านซาลาเปากลุ่มแม่บ้านป่าเส้า นิทรรศการโครงการพัฒนาผ้าลำพูนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และร่วมปลูกต้นลำไยเบี้ยวเขียวป่าเส้า

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บ้านป่าเส้าเป็นหมู่บ้านยั่งยืนได้เพราะรักษาความดีงามมาอย่างยาวนาน จนสามารถประกาศว่า หมู่บ้านป่าเส้าเป็นหมู่บ้านแห่งความรัก ความสามัคคี ความช่วยเหลือเจือจาน ทำให้หมู่บ้านมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข เพราะสังคมใดไร้ซึ่งความรักความสามัคคี ประชาชนก็จะไม่มีความสุข ทั้งนี้ ในแง่ของความรักสามัคคีต้องช่วยกันสำรวจเพิ่มเติมว่ามีครัวเรือนใดยังตกหล่นจากการสำรวจอีกบ้าง เพื่อให้พี่น้องชาวป่าเส้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ในด้านการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้รักสามัคคีและการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ขอให้ทีมหมู่บ้านบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน นำโดยท่านผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ด้วยหัวใจจิตอาสา คือ ทำโดยไม่หวังผลตอบแทนในทุกวัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบอกเล่าเรื่องดี ๆ บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เพลงเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รวมถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านป่าเส้า ให้เด็ก เยาวชน ลูก ๆ หลาน ๆ ตัวน้อย ๆ ได้ไปศึกษาประวัติของวงศ์ตระกูล แล้วมาบอกเล่าคนในชุมชนผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน และใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน คุ้มบ้าน กลุ่มบ้าน ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ต้องพูดคุย ต้องทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีมากขึ้นบ่อย ๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องรอวันสำคัญ และเพื่อให้ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ต่อไปรุ่นลูก หลาน เหลน โหลน อาจจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ผู้อาวุโสของครอบครัว แล้วมาบอกเล่า มาจดบันทึกเป็นหนังสือเล่มใหญ่ มาบอกเล่าว่าเทือกเถาเหล่ากอคนป่าเส้า ประวัติศาสตร์บ้านป่าเส้า เป็นอย่างไร” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า พื้นที่บ้านป่าเส้าแห่งนี้ยังสามารถเพิ่มพูนสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นเพิ่มเติม อาทิ ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ก็สามารถทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นบริเวณริมลำเหมืองง่า ทั้งการปลูกพืชผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ เพื่อทำให้จากเดิมบ้านป่าเส้าเป็นแชมป์ด้านนี้อยู่แล้ว ให้เป็นแชมป์ของแชมป์ (Champ of the Champ) เป็นโต้โผ เป็นผู้นำ ในการขอความเมตตาจากพระสังฆาธิการ ทำให้มีพระสงฆ์ประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ขับเคลื่อนงานสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ ร่วมกับผู้นำของท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึงการค้นหาหมู่บ้านคู่มิตร ในการถ่ายทอดสิ่งที่ดีเหล่านี้ให้ขยายไปยังทุกหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่จังหวัดลำพูน ทำให้จังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนตลอดไป และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความมั่นคงด้านน้ำ มีบ่อน้ำประจำครัวเรือน บ่อน้ำประจำคุ้ม บ่อน้ำประจำหมู่บ้าน เพื่อประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

Leave a Reply