ใครคิดขึ้น?? วลีบนตาลปัตรงานศพ  “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” แฝงปริศนาธรรมอะไร??

วันที่ 21 ก.ค. 65   เฟชบุ๊ค  Apinyawat Phosan ได้ตอบคำถามที่มาของ วลีบนตาลปัตร 4 ด้ามเวลางานจัดศพที่ตั้งเรียงกันไปว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ใครเป็นคนคิดขึ้น และคำวลีดังกล่าวนี้หมายถึงความตายหรือคนตายเท่านั้นหรืออย่างไร  ซึ่งมีคำเฉลยดังนี้  วลีว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ใครเป็นคนคิดขึ้น และมีความหมายว่าอย่างไร

       สวัสดีครับ อาจารย์ ไปงานศพจะพบคำวลีบนตาลปัตร 4 ด้ามตั้งเรียงกันไปว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” อยากทราบว่า ใครเป็นคนคิดขึ้น และคำวลีดังกล่าวนี้หมายถึงความตายหรือคนตายเท่านั้นหรืออย่างไรครับ ขอบคุณ

      นับว่าช่างสังเกตและช่างคิดสงสัยนะครับ หลายคนเห็นคำวิลี 4 คำบนตาลปัตร 4 ด้ามก็สักแต่ว่าเห็น มิได้มีความคิดนึกสงสัยอะไรเลย คำถามที่สอบถามมานั้น ขอตอบแบบ “ถามมาตอบไป” โดยหยิบยกเอาบทความของผู้เขียนที่เคยโพสต์ในไทม์ไลน์ : Apinyawat Phosan จำนวน 2 บทความ คือ 1) “ที่มาของวลี ‘ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น'” โพสต์เมื่อวันมี่ 7 มีนาคม 2565 และ 2) “ธรรมะ (ปรัชญา) จากตาลปัตรในงานศพ” โพสต์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 มายำใส่กัน พร้อมตัด-ปรับแต่งใหม่ให้เข้ากับประเด็นที่ถาม  และใช้ “วิภัชชวาท” เป็นวิธีการตอบคำถามนะครับ ดังนี้

     เพื่อน ๆ ชาวเฟซคงเคยไปร่วมงานศพแล้วฟังพระท่านสวดอภิธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานศพที่จัดอยู่ที่วัดหรือจัดอยู่ที่บ้านคนตาย กันเป็นแน่ ถ้าคนที่เคยไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพนั้นๆ เป็นคนช่างสังเกตสักหน่อย ก็จะพบเห็นได้ว่า ที่บนอาสนสงฆ์ จะมีตาลปัตร 4 ด้ามตั้งเรียงกันไว้เป็นแถวเป็นแนว และตอนที่จะสวดพระอภิธรรม พระภิกษุสงฆ์ 4 รูปผู้ที่ได้รับนิมนต์มาสวดในงานนั้น ก็จะจับตาลปัตรรูปละด้ามขึ้นตั้งไว้ตรงหน้าของพงกท่าน ซึ่งตรงด้านหน้าของตาลปัตรแต่ละด้ามนั้นๆ นั่นแหละ ก็จะเขียนเป็นคำวลีเรียงกันไปตามลำดับที่อ่านได้ว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” เพื่อสื่อเป็นนัยแห่งปริศนาธรรมสอน “คนเป็น” มิใช่สอน “คนตาย” ในแง่ว่า ความตายเป็นภาวะของการ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” จึงอย่าได้ประมาทและมัวเมาในชีวิต อายุ และยศศักดิ์ของตนๆ กันนักเลย นี่เป็นความหมายของคำวลี 4 คำบนตาลปัตร 4 ด้ามในงานศพที่คนส่วนใหญ่คิดมองเห็นกันทั่วไป

       แต่กระนั้น “ที่มา” ของคำวลี 4 คำบนตาลปัตร 4 ด้ามในงานศพนั้น แม้จะมีคนสงสัย แต่ก็ยังไม่มีคำตอบเลย ผู้เขียนเองก็มีความสงสัยอยู่ เมื่อเขียนและปรับแก้หนังสือ “พระพุทธศาสนากับความตาย” ให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงทำการค้นคว้าหาข้อมูล ก็เผอิญว่าโชคดีได้พบเจอข้อมูลให้คลายความสงสัยได้ ดังผู้เขียนจะนำเสนอให้พอเป็นแนวทางศึกษา ดังนี้

      คำวลีบนตาลปัตร 4 ด้ามในงานศพที่เห็นกันออกบ่อยๆ ในเกือบทุกงานศพก็ว่าได้นั้น ที่ว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” นับว่ามีอายุอยู่ในเมืองไทย ประมาณได้ถึง 60  ปีทีเดียว โดยเกิดขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. 2500 กว่า ๆ ผู้ที่ให้กำเนิดถ้อยคำอันเป็นวลีบนตาลปัตร 4 ด้ามในงานศพดังกล่าว ก็ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร ทั้งนี้ก็ด้วยว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระธรรมกถึกหรือนักเทศน์ที่มีผีปากกล้าและมีชื่อเสียมากในเมืองไทยช่วงหลังปี 2500 ครั้งหนึ่งท่านได้เทศน์และกล่าวถ้อยคำเป็นวลีที่คล้องจองกัน 4 คำนี้ขึ้นว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” อันส่งผลทำให้ให้คนฟังจับใจ ประทับใจ และจดจำวลีทั้ง 4 คำเหล่านี้ขึ้นใจได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังเห็นว่า เป็นถ้อยคำเป็นวลีที่เหมาะควรจะนำไปใช้ในงานศพ จึงมีการนำถ้อยคำเป็นวลีทั้ง 4 คำดังกล่าวไปปักหรือแปะไว้บนตาลปัตรที่ใช้ในงานสวดพระอภิธรรมศพกันมาในอดีตหลังปี พ.ศ. 2500 จนเป็นที่นิยมใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

      นอกจากคำวลี 4 คำบนตาลปัตร 4 ด้ามที่ตั้งเรียงกันในงานสวดพระอภิธรรมศพ สื่อถึงความตายและคนตายว่า เป็นภาวะของการ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่ หนีไม่พ้น” ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังสื่อเป็น “ปริศนาธรรม” หรือ “รูปสัญญะ” เพื่อสอน “คนเป็น” ผู้ที่มาฟังสวดพระอภิธรรมในงานศพนั้นๆ ให้ได้คิดพิจารณาเห็นธรรมในเชิง “ความหมายสัญญะ” จากตาลปัตรแต่ละด้ามที่ตั้งเรียงกันไปด้วย :

      1) “ไปไม่กลับ” เป็นปริศนาธรรมที่สื่อนัยได้ว่า “กาลเวลา” เป็นสิ่งที่ “ไปไม่กลับ” คือลงได้เคลื่อนผ่านไปแล้ว ก็จะเคลื่อนผ่านไปเลย ไม่สามารถเอาเวลาในอดีตที่ผ่านไปแล้วให้หวนกลับคืนมาอีกได้ บุคคลที่ตระหนักคิดในเวลาและวัยของตนได้แล้ว จึงไม่ควรประมาทในกาลเวลาที่ตนมีอยู่และไม่ประมาทในชีวิตและวัยที่กำลังเป็นไปอยู่ใน “แต่ละวัน สัปดาห์ เดือน ปี” ของตน ให้รีบเร่งขวนขวายทำความดีในแบบไม่ควรพลัดวันประกันพรุ่งเลย

      2) “หลับไม่ตื่น” เป็นปริศนาธรรมที่สื่อนัยได้ว่า “ความคิดเห็นผิด” (มิจฉาทิฏฐิ) แบบเห็นว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” ถ้าใครมีอยู่ในความนึกคิดของตนแล้ว ปล่อยให้ความคิดเห็นผิดเช่นนี้มีอยู่ในจิตใจบุคคลต่อไป ผู้มีความเห็นผิดอย่างนี้ก็จะ “หลับไม่ตื่น” ขึ้นมาทำสิ่งที่ดี-งามหรือสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมได้ แต่ยิ่งจะจมปลักอยู่แต่ในความชั่ว-ร้ายของการทำทางกาย การพูดทางวาจา และการคิดนึกทางจิตใจยิ่งขึ้นไป ดังนั้น บุคคลจึงควรตั้งตัว-ตั้งจิตเอาไว้ใน “สัมมาทิฏฐิ” คือ “ความคิดเห็นถูกต้อง” ในแบบเห็นว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จึงจะนับว่าดีและสร้างสรรค์ในชีวิตบุคคล

       3) “ฟื้นไม่มี” เป็นปริศนาธรรมที่สื่อนัยได้ว่า “คนที่ตายจริง”  ทำอย่างไรก็ “ฟืนไม่มี” หรือ “ฟื้นไม่ได้” คือเขาหรือเธอที่ตายจริงแล้วนั้นๆ จะมิอาจกลับฟื้นคืนชีพมาใหม่ได้อีกเลย ไม่ว่าจะทำอย่างไรกับเขาหรือเธอก็ตาม ตายก็คือตาย บุคคลจึงไม่ควรทุกข์-โศกเสียใจกับการตายหรือคนตายแล้วนั้นๆ ให้มากนัก แต่แนวทางที่จะดีมาก ก็คือควรศึกษาเรียนรู้จากการตายหรือความตายที่อยู่ตรงหน้านั้นๆ แล้วทำบุญ-สร้างกุศลให้เกิดมีขึ้นแก่ตนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้มากๆ แต่ขณะเดียวก็ไม่ควรลืมที่จะทำทักษิณานุปทาน (การให้ทานตามส่งผลบุญ) ให้แก่ผู้ตายวายชนม์แล้วนั้นตามที่หลักศาสนาได้กำหนดเอาไว้ด้วย

       4) “หนีไม่พ้น” เป็นปริศนาธรรมที่สื่อนัยได้ว่า “โลกธรรม” คือธรรมประจำโลกที่มีอยู่ใตแง่เป็นคู่ตรงข้ามกัน 8 ประการ ได้แก่ มีสุข – มีทุกข์, มีลาภ – เสื่อมลาภ, มียศ – เสื่อมยศ, และสรรเสริญ – นินทา เป็นธรรมที่บุคคลทุกคนในโลกนี้จะ “หนีไม่พ้น” คือจะต้องพานพบเจอในชีวิตของตนอย่างแน่นอน ถ้าเขาหรือเธอยังอยู่ในวิถีแห่งโลก ดังนั้น บุคคลจึงควรใส่ใจพิจารณาไว้เสมอๆ ว่า โลกธรรมเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีภาวะเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ “มีสุข ดีใจ” หรือ “มีทุกข์โศก เสียใจ” จนเกินไป ในยามที่ตนต้องเป็นอยู่หรือเผชิญกับโลกธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับตนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง แต่ให้เป็นอยู่หรือเผชิญกับมันด้วยความไม่ประมาทและมีสติปัญญาตลอดเวลาในลักษณะ “สร้างสรรค์” ขณะเผชิญอยู่ในฝ่ายไม่ชอบ (อนิฏฐารมณ์) และในลักษณะ “ป้องกัน ระวัง” ขณะเป็นอยู่ในฝ่ายชอบ (อิฏฐารมณ์)

       เพื่อให้จำ “ความหมายเชิงสัญญะ” ของคำวลีว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” บนตาลปัตร 4 ด้ามในงานศพได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนขอแต่งเป็นบทกลอน อันสื่อสะท้อนถึงสารัตถะที่สื่อหมายได้ของคำปริศนาธรรม 4 คำนั้นเอาไว้ ดังนี้

            กาลเวลาผ่านไปไม่หวนกลับ

            คนเห็นผิดจิตหลับไม่ยอมตื่น

            คนตายจริงบอกได้ไม่มีฟื้น

            หนีไม่พ้นสุข-โศกโลกธรรม

      เพื่อนๆ ชาวเฟซไปร่วมงานศพและฟังพระสวดพระอภิธรรมในงานศพ  ได้เห็นตาลปัตร 4 ด้ามที่ตั้งเรียนรายตรงหน้าแล้ว เกิดการตระหนักคิด จนมีการน้อมนำเอาธรรมะ (ปรัชญา) จากตาลปัตร 4 ด้ามกลับมาปฏิบัติตาม “ความหมายสัญญะ” กันบ้างไหมละครับ

Leave a Reply