วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 วานนี้เวลา 18.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเจิมเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงในวันวิสาขบูชา และทรงพระราชทานพัดยศเปรียญแด่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และ 6 ประโยค ประจำปี 2564 และปี 2565 จำนวนรวม 523 รูป
พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ
เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก เมื่อมีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสอบไล่ได้เปรียญธรรมประโยคต่าง ๆ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีพระราชทานพัดยศแก่พระภิกษุสามเณรตามชั้นเปรียญที่สอบไล่ได้ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งนั้น สามเณรปลด กิตฺติโสภโณ (ต่อมาได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นรูปแรกในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปีติโสมนัสมาก จึงโปรดให้จัดรถหลวงไปส่งสามเณรปลดถึงวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทำให้เกิดธรรมเนียมสืบมาถึงปัจจุบัน โปรดให้จัดรถหลวงส่งพระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ไปถึงวัดทุกรูป
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ พระราชทานพัดยศแก่พระภิกษุสามเณรเฉพาะที่สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค 6 ประโยค และ 9 ประโยค ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 4ประโยค 5 ประโยค 7 ประโยค และ 8ประโยค โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช ประทานพัดยศ ณ พระอุโบสถพระอารามที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องใดที่ได้รับการตัดสินให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์พระราชทานในวันวิสาขบูชาเป็นราชประเพณีสืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
Leave a Reply