ฟังด่าพอแล้ว..โยม !!

            ปัจจุบันในโซเซียลมีเดียและสื่อต่าง ๆ  มีการเสนอข่าวพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งโพสต์เฟชบุ๊คทำนองต่อว่า ญาติโยมที่มาบวชหน้าไฟและถวายเงินจำนวน 200 บาท ยังกล้าถวายมีข้อความดังนี้

             นิมนต์พระมาเทศน์ถวายรูปละ 4 พัน 5 พัน กล้าให้ ลิเกมาเล่นราคา 6 หมื่นกล้าให้ บัดเอาลูกมาบวชถวายพระคู่สวด 600 บาท ยังกล้าถวายหนอ

             นี่ก็บวชหน้าไฟ 200  บาท ยังกล้าถวายอยู่หนอ คุณโยมเอ๋ย แบบนี้ใครมาขอบวชหน้าไฟ บวชหน้าอะไรก็แล้วแต่ ทีหน้าทีหลัง ไม่ต้องจัดซองมาถวายปัจจัยอะไรก็ได้ดอกโยมเอ๋ย ก็จะสงเคราะห์ให้โยมอยู่

            พระอุปัชฌาย์เป็นกันได้ง่ายๆ หรือ อย่าทำเป็นเล่นไป กว่าจะอบรมสอบผ่านได้มาไม่ได้ง่ายดอก ถ้างั้นพระทุกรูปได้เป็นพระอุปัชฌาย์กันหมดแล้ว

            เดี๋ยวจะบวชให้ฟรีๆ ไปเลย เอาแค่ข้าว น้ำ ภัตตาหารเช้า-เพล มาถวายเป็นเครื่องบูชา อาตมาคิดว่าอยู่ได้สบายเลยหนาโยมเอ๋ย”

           หลังจากที่เรื่องราวมีการเเชร์กันไปในวงกว้าง หลวงพ่อรูปดังกล่าวก็ได้เคลื่อนไหว ผ่านเฟซบุ๊คของท่านเอง ตอบโต้ญาติโยมที่เข้ามาถามว่า พระท่านลบโพสต์ไปทำไม ได้คำตอบมาว่า …. ฟังด่าพอแล้ว!!

           ปัจจุบันพระภิกษุสงฆ์ทุกระดับชั้นนิยมใช้โซเซียลมีเดียในการสื่อสารกันมาก..พระสังฆาธิการควรต้องระงับยับยั้งช่างใจในการสื่อสารหรือโพสต์ออกไป..กรณีแบบนีั้อาจมองได้ว่า เกิดจากอาการน้อยอกน้อยใจของพระอุปัชฌาย์ ที่รับรู้ว่าเวลานิมนต์พระมาเทศน์หน้าศพแล้วเจ้าภาพถวายเงินมาก หรือจัดงานมหรสพแล้วหมดเงินจำนวนหลายหมื่น แต่เวลาพระคุณเจ้านั่งอุปัชฌาย์แล้วเจ้าภาพถวายน้อย…พระภิกษุถือเป็นบุคคลสาธารณะเป็นที่จับตาของประชาชนทั้งในชุมชนและสื่อมวลชน..ตั้งสติก่อนโพสต์หรือสื่อสารออกไป

         อุปัชฌาย์คืออะไร

       อุปัชฌาย์ (/อุ-ปัด-ชา/) ความหมายโดยพยัญชนะว่าผู้เข้าไปเพ่ง กล่าวคือ ได้แก่ผู้คอยดูแลเอาใจใส่ คอยแนะนำพรำเตือนสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของตน ซึ่งก็คือพระเถระผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา เรียกทั่วไปว่า พระอุปัชฌาย์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Preceptor”

       พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่หลัก 2 อย่างคือเป็นผู้รับผิดชอบและรับรองผู้บวชในพิธีบรรพชาอุปสมบทและเป็นผู้รับปกครองดูแล แนะนำ ตักเตือนและติดตามความเป็นอยู่ของผู้ที่ตนบวชให้ เหมือนบิดาปกครองดูแลบุตร ตามกฎมหาเถรสมาคมนั้นได้กำหนดให้เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลหนึ่ง ให้มีพระอุปัชฌาย์เพียงหนึ่งรูป เว้นแต่ มีกรณีพิเศษ

พระอุปัชฌาย์มี 3 ประเภท อันได้แก่

       –    ระอุปัชฌาย์สามัญ ซึ่งหมายถึง พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะใหญ่

       –    พระอุปัชฌาย์วิสามัญ ซึ่งหมายถึง พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช

        –   พระอุปัชฌาย์ผู้ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌาย์อยู่ก่อนใช้กฎมหาเถรสมาคม

คุณสมบัติพระอุปัชฌาย์

  • มีตำแหน่งในทางการปกครองชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป เว้นแต่พระอารามหลวงมีพรรษาพ้น 10

  • ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย

  • มีประวัติความประพฤติดี

  • เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

  • เป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่นซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน

  • มีความสามารถฝึกสอนผู้อยู่ในปกครองให้เป็นพระภิกษุสามเณรที่ดีตามพระธรรมวินัย และสามารถบำเพ็ญกรณียกิจอันอยู่ในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ได้

  • มีความรู้ความสามารถ ทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์

****************

 

ขอบคุณข้อมูล /ภาพ  https://www.xn--42c2dgos8bxc2dtcg.com/

Leave a Reply