ยอมสละชีวิตเพื่อปักธงธรรมจักร !! บนแผ่นดินตัวเอง

             วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2563 ที่จะถึงนี้ เป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่  พระครูประโชติรัตนานุรักษ์  อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาสมรณภาพจากการกราดยิงถล่มวัดรัตนานุภาพ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส  เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป และบาดเจ็บอีก 2 รูป  ช่วงแรก ๆ  เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและชาวพุทธเป็นอันมาก “เพราะการฆ่าแบบนี้” ถือว่าสะเทือนใจชาวพุทธทั่วประเทศ และพระภิกษุสงฆ์แบบท่านเจ้าคณะอำเภอ “ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม” ที่ไหนมีทุกข์  พระคุณเจ้าก็รับอาสาไป “ดับทุกข์” ที่นั่น ไม่เลือกว่าศาสนาใดขอให้เป็น “มนุษย์เพียงพอ”

            ถ้ากล่าวถึงชายแดนใต้  หลายคนก็จะนึกถึงสถานการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน  แต่พวกเราส่วนกลางไม่สามารถที่จะรับรู้เรื่องราวจากชายแดนใต้ได้มากนัก  นอกจากนาน ๆ จะมีข่าวมาสักครั้ง  เคยมีคนในพื้นที่บอกว่า “จริง ๆ เหตุการณ์มีมากกว่านั้น แต่ออกข่าวบ้างบางครั้ง และมีความจริงแค่บางส่วน”

             องค์การฮิวแมนไรตส์วอตซ์ รายงานว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีพระภิกษุมรณภาพรวม 23 รูป และบาดเจ็บมากกว่า20 รูป แนวโน้มจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้และไม่อาจจะคาดการณ์ได้

            สำหรับชุมชนชาวพุทธแน่นอนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะถูกมองว่า “เป็นพวกเดียวกับส่วนกลาง”  หลายครอบครัวต้องอพยพออกจากพื้นที่ แม้กระทั้งพระภิกษุบางรูปหาก “ใจไม่แกร่ง” จริง ก็ไม่พ้นเรื่อง “กลัวความตาย”

            ผู้เขียนเคยคุยกับพระสงฆ์ระดับเจ้าคณะเภอรูปหนึ่งใน “พื้นที่สีแดง” ท่านเล่าว่า ประชาชนกับประชาชนหรือประชาชนกับพระภิกษุแม้จะต่างศาสนา ในพื้นที่ไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่ รู้จักกันและเป็นเครือญาติกัน อย่างท่านแม้จะเป็น “พระสงฆ์” แต่ต้นกระกูลท่านก็มาจาก “เชื้อสายมุสลิม”

            ปัญหาที่เกิดขึ้นท่านเชื่อว่า  มีการสร้างสถานการณ์ โดยมี “งบประมาณ” เป็นตัวกำหนด ภาคใต้ยิ่งมีปัญหาความไม่สงบมาก “งบประมาณ” ยิ่งลงไปมาก งบประมาณยิ่งลงมาก สถานการณ์ยิ่งไม่สงบมาก

 

            ปัญหาชายแดนภาคใต้กระทบกับ “พระสงฆ์มาก” แต่ไม่มีหน่วยงานใดเลยทั้งจาก มหาเถรสมาคม หรือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงไปเยียวยาหรือลงไปเหลียวแล

            “โครงการต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการสาธารณสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านศีล 5 หรือแม้กระทั้งโครงการวัดประชารัฐ สร้างสุข  ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นประธานหรือคณะสงฆ์ไปจัดงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้างเลย..”

            อันนี้ไม่นับเรื่องการพิจารณา “ความดีความชอบ” ของพระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่ พระสงฆ์ที่ปฎิบัติงานในพื้นที่

            หน่วยงานละดับองค์กรทำงานแบบ “จิตอาสา”  ที่ปรากฎชัดว่า ติดตามสถานการณ์ภาคใต้และสะท้อนปัญหาในพื้นที่ออกสังคมเนื่อง ๆ ที่ชาวพุทธส่วนกลางพอรับรู้ข่าวสารของพระสงฆ์ชายแดนใต้บ้าง คือ “ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย”   องค์กรนี้จับเรื่องภาคใต้และลงไปเยียวยาในบางโอกาสตาม สถานการณ์

            แต่องค์กรที่ลงไปคลุกคลีถึงชุมชนและทำงานอยู่กับชุมชน ร่วมพัฒนาชุมชนแบบ “เข้าถึง เข้าใจและพัฒนา”  ตามวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์รัชกาลที่ 9 ผู้เขียนเห็นมีองค์กรเดียวคือ

           “เครือข่ายพระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มนี้เกิดขึ้นมาด้วยการสนับสนุนของ “อดีตพระราชกิจจาภรณ์” หรือเจ้าคุณเทอด วัดสระเกศ ฯ ปัจจุบันกำลังถูกวิพากกรรมต้อง “นุ่งขาวหุ่มขาว” อยู่ และองค์กรนี้เมื่อขาดผู้สนับสนุนผู้นำทางหลัก การขับเคลื่อนก็ “ริบหรี่”

            เมื่อปี พ.ศ.2553 มีการตั้งกลุ่มพระสงฆ์คือมา กลุ่มหนึ่งชื่อว่า กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม  พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการจัดอบรมพระสงฆ์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนดภาคใต้ ได้แก่ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

            ผลจากการอบรมทำให้เกิด  “เครือข่ายพระธรรมทูตอาสา 5  จังหวัดชายแดนภาคใต้”  เพื่อประสานแรงใจ ร่วมมือกันรักษาพระพุทธศาสนา สร้างขวัญกำลังใจให้ชาวพุทธในพื้นที่  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ของการเดินทางไปในพื้นที่จริง สัมผัสความรู้สึก  และความเป็นอยู่จริงๆ ของพระและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

           ซึ่งพระครูประโชติรัตนานุรักษ์  อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ที่ถูกยิงมรณภาพไปในวันที่ 18 มกราคมนี้จะครบรอบ 1 ปีที่ท่านมรณภาพก็อยู่ในเครือข่ายธรรมทูตอาสานี้

            ผู้เขียนมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ลมหายใจชายแดนใต้ : บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโน ผู้ประสานงานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา 5  จังหวัดชายแดนภาคใต้

           ในหนังสือเล่มนี้ พระคุณเจ้าท่านเล่าจากชีวิตจริงแต่ละวันว่า ไปเจออะไรมาบ้าง ไปสัมผัสกับบรรยากาศแบบไหน บันทึกเอาไว้เกือบครบถ้วน หากภาษาทางทีวีเขาเรียกว่าแบบ “เรียลลิตี้”  คือ เล่าจากของจริง ประสบการณ์จริงในพื้นที่

            บันทึกหนังเล่มนี้เป็นเหมือนจารึกประวัติศาสตร์ฉากหนึ่ง ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้   เป็นบันทึก “ลมหายใจที่ยังโรยรินและอ่อนล้าเต็มที”  ของชาวพุทธชายแดนใต้  ไม่รู้ว่าจะเป็นเฮือกสุดท้ายก่อนสิ้นใจหรือจะเป็นฮึดสุดท้ายก่อนลุกหยัดยืนยง

           และในบางช่วงบางตอนไม่ใช่บันทึกความเจ็บปวดของคนที่ประสบเหตุร้ายเท่านั้น แต่มันคือเรื่องราวความอบอุ่นและเกื้อกูลกันของ “พระสงฆ์ชาวพุทธและผู้ใฝ่สันติ”  เป็นเหมือนน้ำเย็นที่ฉโลมใจของผู้ประสบภัย และดูเหมือนประสบการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้พระมหาอภิชาติ ได้เรียนรู้และซึมซับบรรยากาศที่สะเทือนความรู้สึก กระตุ้นจิตสำนึกบางอย่างภายในตนบนเส้นทางแห่งศรัทธา

           ทั้งเรื่องราวบางอย่างในเล่ม  ยังให้แง่คิดดี ๆ สำหรับชีวิต ชวนให้คิดและสะกิดใจให้ระลึกถึงตนเอง และคุณค่าของชีวิตได้เป็นอย่างดี สะท้อนความงดงามทางจิตใจของชาวพุทธในพื้นที่  เรียกได้ว่า “อ่านเรื่องของเขา เอามาสอนใจเราเอง”

            วันที่ 18 มกราคมนี้ขอน้อมรำลึกวันครบรอบ 1 ปีการจากไปของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ด้วยความอาลัยยิ่ง  “อย่าให้ชีวิตพระครูประโชติรัตนารักษ์ เป็นเพียงโพธิ์ใบสุดท้ายที่ร่วงหล่นลงเปื่อยเน่าไปอย่างไร้คุณค่าแต่จงเป็นโพธิ์ใบสุดท้ายที่ร่วงหล่นลง เพื่อให้โพธิ์ใบอื่นแตกยอดกลับขึ้นมาเขียวครื้มเป็นร่มเงาให้ชาวพุทธและชาวโลกได้พึ่งพาอาศัยให้คลายทุกข์โศก”

        ทั้งรำลึกถึง อดีตพระราชกิจจาภรณ์ หรือเจ้าคุณเทอด ผู้ปลุกประกายสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา 5  จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยความเสียสละล้วน ๆ ขอให้พระคุณเจ้าพ้นวิบากกรรมกลับมาหุ่มครองผ้าเหลืองได้เหมือนเดิม เพื่อทำหน้าที่ของพระสงฆ์ที่ว่า การทำให้คนพ้นทุกข์นั่นแหละคือ “กิจของสงฆ์

***************

เขียนโดย..อุทัย มณี 

Leave a Reply