เช็คด่วน..ใครมีอำนาจเบิกจ่ายกองทุน“วัดช่วยวัด”

            หลังจากมีข่าว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะตัดนิตยภัตพระสงฆ์ ๒ เดือน เพื่อโอนเข้ากองทุน “วัดช่วยวัด” ก่อให้เกิดความงงงวยของพระสังฆาธิการทั่วประเทศ เพราะทุกปีพระสังฆาธิการทุกระดับชั้นตั้งแต่เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ที่ไม่มีสมณศักดิ์ที่เรียกว่า “พระอธิการ” ได้รับนิตภัตรเดือนละ ๑,๘๐๐  บาท จนถึงสมณศักดิ์สูงสุดคือ “สมเด็จพระสังฆราช” ซึ่งได้นิตยภัตเดือนละ ๓๔,๒๐๐ บาท ถูกโอนบริจาคเข้ากองทุนวัดช่วยวัดตามระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยกองทุน “วัดช่วยวัด” พ.ศ.๒๕๖๒ อยู่แล้ว

            แม้ตอนหลังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะออกมาแก้ข่าวเรื่องตัดนิตยภัตพระสงฆ์ว่า ไม่จริง..

            การเกิดระบาดเชื้อไวรัสโควิดคราวนี้ พระสังฆาธิการจำนวนมากเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมใช้กองทุนวัดช่วยวัดมาช่วยวัดที่ประสบภัย ช่วยเหลือพระภิกษุ-สามเณรเรื่องการเป็นอยู่ เพราะวัดจำนวนมาก พระภิกษุ-สามเณรบิณฑบาตไม่ได้ กิจนิมนต์งดทุกอย่าง กิจกรรมงานบุญภายในวัดงดทุกประเภท

           หลังเกิดกระแสจะตัดนิตยภัตพระสงฆ์ ถูกคณะสงฆ์วิพากษ์วิจารณ์ถึง “ความล่าช้าและท่านใดคุมเงินกองทุนซึ่งคาดว่ามีจำนวนนับร้อยล้านบาทก้อนนี้อยู่”

            จนเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๓ ที่ผ่านมานี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัดเร่งสำรวจวัดที่ได้รับผลกระทบเพื่อเร่งช่วยเหลือพร้อมกับให้เจาคุณจังหวัดหรือเจ้าคณะภาคสำรองเงินจ่ายไปก่อน แล้วมาเบิกคืนจาก “กองทุนวัดช่วยวัด”

            ดังเอกสารแนบ

            เพื่อความกระจ่างเรื่องนี้ ใครกันแน่มีอำนาจในการเบิกจ่ายกองทุนวัดช่วยวัด  ผู้สื่อข่าว thebuddh.com ได้ค้นหาข้อมูลได้ดังนี้

            ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๑ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานที่ประชุม ทรงปรารภว่า การช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรที่ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย “ไม่ทันต่อเหตุการณ์” เพราะไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุน “ทุนวัดช่วยวัด” ได้ เนื่องจากผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินกองทุนเดิม คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช   และ พระพรหมเวที ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ แล้ว จึงขอเปลี่ยนลายมือชื่อผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินจาก สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็น พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดปากน้ำ ประธานกรรมการ และจาก พระพรหมเวที เป็น พระพรหมมุนี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย เพื่อถวาย ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และมีพระบัญชาให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา

            ที่ ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประชุมกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม

            ดังเอกสารแนบ

 

            และต่อมามีการแต่งตั้งประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการกองทุน พร้อมกับเปลี่ยนแปรงรายชื่อ “ผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายกองทุนวัดช่วยวัด” เพราะมีการเลื่อนสมณศักดิ์

           ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๒/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๒ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการกองทุน “วัดช่วยวัด” ตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยกองทุน “วัดช่วยวัด” พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๑ (๒) ดังนี้

                        ๑.         พระวิสุทธิวงศาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ

                        ๒.        พรพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เป็นรองประธานกรรมการ

                        เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร-มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระพรหมมุนี ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

                        เพื่อให้ชื่อสมณศักดิ์รองประธานกรรมการกองทุน “วัดช่วยวัด” พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นปัจจุบัน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงเห็นควรแก้ไขชื่อสมณศักดิ์ พระพรหมมุนี รองประธานกรรมการ เป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

                    สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ

ที่ประชุมรับทราบ

                    ดังเอกสารแนบ

           สำหรับ ผู้มีอำนาจในการเบิกจ่าย ตามระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยกองทุนวัดช่วยวัด พ.ศ.2562 ข้อ 20 ระบุไว้ว่า ให้คณะกรรมการตามข้อ ๑๑ (๒) (กรรมการมหาเถรสมาคมที่มหาเถรสมาคมมีมติแต่งตั้ง เป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ)  และ (๔) (ผู้อำนวยการสำนักงานพรุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะกรรมการเลขานุการกองทุน)  เป็นผู้อนุมัติลงนามเบิกจ่ายจากบัญชีธนาคาร ตามข้อ ๘ ( ข้อ ๘ ให้เจ้าคณะภาครวบรวมเงินนิตยภัตที่ได้รับบริจาคจากพระสงฆ์ในเขตปกครอง ส่งเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย เลขนที่ ๐๕๙-๑-๓๗๐๙๘-๐ ชื่อบัญชี “ทุนวัดช่วยวัด” สาขากระทรวงศึกษาธิการ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เสร็จแล้วแจ้งให้ประธานกองทุนเพื่อทราบ) โดยให้ลงนามร่วมกันสองในสามรูป/คน ลงนามเบิกจ่ายร่วมกันทุกครั้ง ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนวัดช่วยวัด

             ตามเอกสารแนบ

            คำถามที่คณะสงฆ์จะต้องหาคำตอบก็คือว่า ปัจจุบันกองทุนวัดช่วยวัด มีเงินอยู่จำนวนเท่าไร และเมื่อเกิดมหาอาพาธภัยขนาดนี้ทำไมคณะกรรมการกองทุนจึงให้ความช่วยเหลือแบบล้าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ ดังพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช

            คำถามที่น่าสงสัยต่อไปก็คือว่า เมื่อมติที่ประชุมมหาเถรสมาคมอบหมายให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดยานนาวา เป็นประธานคณกรรมการฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในการช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและวัดที่ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย อันหมายถึงโรคไวรัสโควิด -19 นี้ด้วย ไยจึงไม่ได้เข้ามามีบทบาทในกองทุนวัดช่วยวัดนี้ด้วย

             ทั้งหมดทั้งมวลคือโจทย์ที่มหาเถรสมาคมต้องแก้และคณะสงฆ์ทั้งมวลต้องเข้ามามีส่วนร่วม..

******************

Leave a Reply