วันที่ ๑๘ ก.พ.๒๕๖๒ ศ. (พิเศษ)ร.ท. ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาปรัชญา สาขาวิชาศาสนศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้เสนอการนิยามความหมายของคำว่า “Mindset – หมวดธรรม : ชุดความคิดในพระไตรปิฎกที่ยังใช้ได้กับสังคมสมัยใหม่” ต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันพุธที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ความว่า
ความนำ
ทุกวันนี้ คำว่า Mindset หรือ ชุดความคิด กำลังเป็นที่สนใจในวงการศึกษาไทย และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อดูบทสรุปแล้วก็ยังไม่อาจบอกได้ว่ามีคำอธิบายที่ชัดเจนออกมา ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนใจคำนี้ จึงพยายามศึกษาหาความหมายของคำนี้จากคำภาษาอังกฤษ และนำไปเทียบเคียงกับคำภาษาบาลี เพราะเหตุผลที่ว่าภาษาทั้งสองเป็นภาษาตระกูลอินโดยุโรเปียน (Indo-European Family) ด้วยกัน
ความหมาย
ตามคำนิยามของภาษาอังกฤษที่มีกล่าวไว้
1. A fixed state of mind, it does not allow for new situations.(Merriam Webster) สภาพจิตที่ตั้งไว้มั่นแล้ว จนไม่เปิดทางให้สถานการณ์ใหม่ ๆ มาแทรกหรือลบล้างได้
2. A way of thinking. Before he can succeed, he will have to shed the mentality that he can get by without hard work.วิถีแห่งความคิด (ของคน) ก่อนที่เขาจะประสบสำเร็จ เขาจะต้องปล่อยให้สภาวะทางจิตไหลออกมาซึ่งเขาสามารถได้รับโดยไม่ต้องทำงานหนัก
ความหมายที่กล่าวไว้ในพจนานุกรม (Dictionary) ๒ ฉบับข้างบนสามารถทำให้แปลความหมายของคำ Mindset ได้อีกว่า “ความคิดที่ตั้งไว้” และสามารถอธิบายเชื่อมกับความหมายแรก คือ “ชุดความคิด” ได้ว่า
“ความคิดนั้นหลั่งไหลออกมาเป็นสายจนสามารถกำหนดตั้งเป็นเป็นชุดความคิดได้”
การที่แปลว่า ชุดความคิด ก็น่าจะมาจากการแยกคำเป็นMind = ความคิด+ Set= ชุด ซึ่งเข้าใจได้ทั่วไป แต่ที่ผู้เขียนให้ความหมายของ Mindsetเพิ่มเติมว่า “ความคิดที่ตั้งไว้” ก็มาจากศึกษาว่า Set ยังใช้เป็นกริยา (Verb) ได้แปลว่า To Fix = ตั้ง และเมื่อนำคำนาม (Noun) กับกริยา (Verb)มาเข้าสมาสกันโดยวางคำนามไว้หน้าคำกริยาไว้หลังเป็น Mindsetแปลว่า “ความคิดที่ตั้งไว้” และได้บทสรุปอย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างบน
การได้ความหมายเพิ่มว่า “ความคิดที่ตั้งไว้” ทำให้ผู้เขียนนำไปศึกษาเทียบกับคำบาลีได้ ซึ่งมีคำที่ใกล้เคียงกับคำนี้ คือ คำ “เจโตปณิธิ” (เจโต = ใจ) + ปณิธิ =การตั้ง,การวาง) กับ “มโนปณิธาน” (มโน=ใจ + ปณิธาน=การตั้ง,การวาง) ซึ่งแปลอย่างเดียวกันว่า “การตั้งใจ” คำทั้ง ๒ นี้มักพบว่าใช้กับพระโพธิสัตว์ที่มีการตั้งใจปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า และเมื่อศึกษาไปจะพบชุดความคิดของพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้น่าสนใจ แต่ในบทความนี้จะยังไม่ไปถึงเรื่องชุดความคิดนั้น จะกล่าวไปที่ชุดความคิดที่เป็นหมวดธรรม
ชุดความคิดในพระไตรปิฎก-ตัวอย่าง
หมวดธรรม คือ ชุดธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนโดยระบุจำนวนไว้ด้วย เช่น ทุกะ (ชุดธรรมะ ๒ ประการ) ติกะ (ชุดธรรมะ ๓ ประการ) จตุกกะ (ชุดธรรมะ ๔ ประการ)
หมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงจัดไว้เป็นชุดนี้ ผู้เขียนเสนอว่า นี่คือ “ชุดความคิด” ทั้งนี้เพื่อให้ศึกษาควบคู่ไปกับคำ Mindset ตามที่นักวิชาการตะวันตกเสนอ ซึ่งวงวิชาการไทยกำลังตื่นตัวตื่นเต้นและตีความกันตามที่ฝรั่งเสนออย่างที่กล่าวไว้แล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ธรรม กับ วินัย วินัยจัดเป็นหมวดโดยอาศัยพฤติกรรมการทำผิดและการปรับโทษเป็นหลักในการบัญญัติ เช่น หมวดว่าด้วยการขาดความเป็นพระเรียกว่า“ปาราชิก ๔” หมวดว่าความผิดที่ไม่ถึงขั้นขาดจากความเป็นพระแต่จะพ้นโทษได้ด้วยการที่ต้องอยู่ปริวาส (อยู่แบบถูกกักบริเวณเพื่อประจานความผิดของตนเอง) เรียกว่า “สังฆาทิเสส ๑๓”
ส่วน “ธรรม”คือ คำสอนที่ทรงแสดงโปรดสาวกในโอกาสต่าง ๆที่เป็นธรรมบรรยายทั่วไปไม่มีชุดหลักธรรมก็มี ที่มีหัวข้อธรรมเป็นชุด ๆ ก็มี ประกอบด้วยธรรมชุดละ ๒ ข้อบ้าง ๓ ข้อบ้าง ๔ ข้อบ้าง ๕ ข้อบ้าง ดังนี้
๑.ชุดธรรมะ ๒ ข้อ (ทุกะ) เช่น ชุดธรรมะมีอุปการะมาก ๒ คือ สติ (ระลึกได้, รู้ทันปัจจุบัน) กับ สัมปชัญญะ (รู้ตัวทั่วพร้อม) ชุดธรรมะคุ้มครองโลก ๒ คือ หิริ (ความละอายตัวเองในการจะทำชั่ว) กับ โอตตัปปะ (ความกลัวผลของความชั่ว) (อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ๒๐/๒๕๕/๖๕- ๔๒๔/๑๑๙; ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๓๗๘/๒๙๐)
๒.ชุดธรรมะ ๓ ข้อ (ติกะ) เช่น ชุดรากเหง้าของอกุศล (ความชั่ว) ๓ คือ โลภะ (ความอยากได้)โทส (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง) ชุดรากเหง้าของกุศล (ความดี) ๓ คือ อโลภะ (ความไม่อยากได้)อโทสะ (ความไม่โกรธ) อโมหะ (ความไม่หลง) (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๓๙๓/๒๙๑)
๓.ชุดธรรมะ ๔ ข้อ (จตุกกะ) เช่น อิทธิบาท –ชุดทางสู่ความสำเร็จ ๔ คือ ฉันทะ (ความสนใจทำงาน) วิริยะ (ความกล้าลงมือทำงาน) จิตตะ (ความมีจิตแน่วแน่) วีมังสา (การใช้ปัญญาใคร่ครวญหาวิธีทำงาน) (ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓) สังคหวัตถุ – ชุดประสานหรือยึดเหนี่ยวใจให้คนรวมอยู่เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ๔ คือทาน (การให้) ปิยวาจา (การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ทำให้คนรักกัน)(อัตถจริยา (การทำประโยชน์ให้) สมานัตตตา (การทำตนเสมอต้นเสมอปลายในธรรม ๓ ข้อข้างต้น) (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ๒๑/๓๒/๔๒)
๔.ชุดธรรมะ ๕ ข้อ (ปัญจกะ) เช่น นิวรณ์ –ชุดขัดขวางจิตไม่ให้เป็นสมาธิ ๕ คือ กามฉันทะ (ความติดใจในสิ่งที่ทำให้ใจผูกพัน) พยาบาท (ความอาฆาตแค้น) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ท้อแท้)อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและหงุดหงิดใจ) วิจิกิจฉา (ความสงสัย ความขาดความเชื่อมั่นในการทำความดี) (อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ๒๒/๕๑/๗๒)
แนวทางการบูรณาการหมวดธรรมหรือชุดความคิด
การเสนอชุดความคิดอย่างนี้เพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นการเสนอเพื่อแสดงวิธีการบูรณาการชุดความคิดให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยขอแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๒ ชุด คือ
ชุดที่ ๑ ชุดความคิดเพื่อสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ กับ ชุดที่ ๒ ชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข ใน ๒ ชุดใหญ่ แต่ละชุดจะเสนอชุดความคิดย่อยประกอบ ๒ ชุด คือ ชุดกระตุ้นความคิด กับ ชุดที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งทำงานสัมพันธ์กัน ดังจะกล่าวต่อไป
ชุดที่ ๑ หมวดธรรมหรือชุดความคิดเพื่อความสำเร็จในการได้สิ่งที่ต้องการ ประกอบด้วยชุดความคิด ๒ ชุดย่อย คือ
๑.๑ ชุดกระตุ้นความคิด ได้แก่ อิทธิบาท ๔ (ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓) ชุดกระตุ้นความคิดสู่ความสำเร็จ, ชุดความคิดเพื่อความสำเร็จ
อะไรคือความสำเร็จที่ต้องการ? นี่คือ สิ่งที่ผู้ที่จะนำหลักธรรมชุดนี้ไปบูรณาการต้องถามตัวเองและตอบให้ได้ก่อน
แต่ก่อนอื่นขอทบทวน อิทธิบาท หรือ ชุดความคิดอันเป็นทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย
๑.๑.๑ ฉันทะ ความต้องการทำให้สำเร็จ
๑.๑.๒ วีริยะ ความกล้า – ความกล้าที่ไปหนุนความต้องการทำให้เดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง
๑.๑.๓ จิตตะ ความมีจิตจดจ่อมั่นคงไปทำหน้าที่หนุนความกล้าให้ทำหน้าที่ต่อไป
๑.๑.๔ วีมังสาความมีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญหาอุบายหรือวิธีทำให้ประสบผลสำเร็จ
ลักษณะของชุดความคิด ๔ ประการนี้ คือ ไม่ใช่ตัวแสดงออกภายนอก แต่ปรุงแต่งจิตให้คิดอยากทำเป็นเบื้องต้นด้วยอำนาจฉันทะ แล้ววีริยะ จิตตะ วีมังสา ก็ตามมาหนุนฉันทะกันตามลำดับ คือวีริยะ หนุนฉันทะให้กล้า จิตตะหนุนวีริยะให้แน่วแน่ แล้ววีมังสาก็ช่วยหาวิธีทำให้สำเร็จ
ความสำเร็จที่ต้องการในที่นี้ คือ ความสำเร็จแห่งความต้องการพื้นฐาน คือ ลาภ ยศ ชื่อเสียง และความสุขที่เกิดจากลาภ ยศ ชื่อเสียง
สมมติว่า ต้องการได้ลาภ – รวย
๑.๒วิธีการบูรณาการ
ผู้ต้องการต้องตั้งเป้าประสงค์ ความต้องการ ลาภ – รวย/ มีทรัพย์ไว้ให้ชัดเจน การตั้งเป้าไว้ชัดเจน นั้น คือ Mindset แล้วจากนั้นชุดความคิดก็จะหลั่งไหลออกมาเป็นสายตามกระบวนการของอิทธิบาท หรือ ชุดแนวคิดอันเป็นทางสู่ความสำเร็จซึ่งกำลังตื่นตัว
เบื้องต้น อิทธิบาทตัวแรกคือ วีมังสาจะทำหน้าที่คิดใคร่ครวญหาวิธีเข้าถึงการมีทรัพย์อย่างถูกทางว่า ต้องมี “งาน” ก่อน ในการคิดถึงงาน วีมังสาสามารถบูรณาการให้ไปเชื่อมโยงกับชุดความคิดอื่น ๆ ที่มีคำสอนสัมพันธ์กับการจะมีงานให้ทำ เช่น ชุดความคิดในมงคลสูตร ซึ่งเป็นชุดความคิดที่ผลักดันชีวิตให้ก้าวหน้าด้วยการที่คิดได้ว่า
๑) ต้องอยู่ในที่ที่เหมาะสม – ปฏิรูปะเทสะวาสะ ๒) ตั้งตนไว้ถูกต้อง (อัตตะสัมมาปะณิธิ) ๓) หลีกเลี่ยงการคบคนที่ชักนำให้เสื่อมเสีย (อะเสวะนา จะ พาลานัง) ๔) ๔) คบคนที่ดีสามารถชักนำให้ชีวิตก้าวหน้าอย่างสุจริต (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา) และ ๕) ในใจต้องมี “คนดีต้นแบบ” ไว้สำหรับยกย่องและดำเนินรอยตาม (ปูชา จะ ปูชะนียานัง) (มงคลสูตร ในขุททกปาฐะ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕) ซึ่งหมายความว่าการคิดใคร่ครวญของวีมังสาจะทำให้เป็นภาพว่า
“….เมื่อมีงานและอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม หรืออยู่ในถิ่นที่เหมาะสมและได้งานที่เหมาะกับความสามารถแล้ว ยัง ต้องตั้งตนไว้ถูกทางที่สอดคล้องกับการสำเร็จเลือกสรรในการพัฒนาชีวิตโดยหลีกเลี่ยงการสมาคมกับคนที่ชักนำให้เสื่อมเสีย แต่สมาคมกับคนดีและมีคนดีอยู่ในใจเป็นแรงจูงใจ”
๑.๒ ชุดแสดงพฤติกรรมเมื่อได้งาน วีมังสา-ปัญญาใคร่ครวญ ยังต้องเข้ามาเกี่ยวข้องบริหารจัดการความคิดให้คิดหาวิธีทำให้เหมาะสมที่จะได้ทรัพย์อย่างที่ตั้งความหวังไว้แล้วจูงใจให้แสดงพฤติกรรมออกเพื่อให้ได้ผล คือได้ทรัพย์ตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้แบบทันตาเห็น ๔ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ – ประโยชน์ทันเห็นในชีวิตนี้ : อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ๒๓/๑๔๔/๒๘๙) การแสดงพฤติกรรมเพื่อการได้ทรัพย์ประกอบด้วย
๑.๒.๑ รู้จักขยัน(อุฏฐานสัมปทา)ตื่นตัวทำงาน, ไม่เกียจคร้าน รู้จักให้เกิดความชอบความพอใจในการทำงานให้เกิดรายได้ กล้าลงมือทำไม่เกียจคร้าน ทำแบบแน่วแน่ไม่จับจด ตามวิธีการที่เหมาะสม
๑.๒.๒ รู้จักเก็บรักษา (อารักขสัมปทา)พร้อมเก็บพร้อมรักษารายได้ และจัดสรรรายได้ออกเป็นสัดส่วน เช่น ใช้เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงตัวเอง และแบ่งเก็บสะสมไว้ตามหลักการจัดสรรรายได้เป็น ๔ ส่วน คือ ส่วน ๑ เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัว ใช้ทำประโยชน์ส่วนตน ๒ ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน อีกส่วนหนึ่ง เก็บไว้เป็นทรัพย์ต้นทุน หรือ ใช้ในคราวจำเป็น (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๑๙๗/๒๐๒) ในการรู้จักเก็บรักษานี้ ก็ยังต้องให้เกิดความชอบความพอใจในการเก็บรักษา ปลุกความคิดไม่ให้เฉื่อยชามีความกล้าแน่วแน่ที่จะเก็บไว้ได้ตามเป้าหมาย
๑.๒.๓ รู้จักคบเพื่อนดี (กัลยาณมิตตตา) คบเพื่อนดี เพื่อนที่นำไปสู่ความรวยได้ตามหวัง ในการรู้จักคบเพื่อนก็เช่นกัน ขาดความพอใจในการคบเพื่อนดีไม่ได้ ต้องให้ความพอใจเกิดต่อเนื่องแน่วแน่มั่นคงเพราะเห็นคุณค่า ในขณะเดียวกันก็เห็นโทษของการคบเพื่อนไม่ดี
๑.๒.๔ รู้จักใช้ชีวิตแบบเหมาะสม (สมชีวิตา) ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงชอบธรรมไม่ให้กระทบรายได้ แต่ให้เพิ่มพูนรายได้แม้ในข้อรู้จักใช้ชีวิตให้เหมาะสม ก็ต้องให้ความพอใจในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมดำเนิไปอย่างต่อเนื่องและแน่วแน่เช่นกัน (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑ /๑๗๘-
๑๘๔/๑๙๖-๑๙๘)
ผลสำเร็จ
เมื่อพฤติกรรมการจะทำให้ได้ผลทันตาเห็นดำเนินไปถึงเป้าหมายภายใต้การกระตุ้นของอิทธิบาท ก็เกิดผลสำเร็จ คือ มีรายได้ นอกจากเหลือเก็บ ยังสะสม เพิ่มพูน จนเป็นความรวยที่ชอบธรรมแบบยั่งยืนตามความเหมาะสมแก่ฐานะซึ่งขอเสนอด้วยตาราง
ตารางตัวอย่างสรุป ๑ ดูบทบาทชุดแนวคิดของอิทธิบาทจากความหมายและตัวชี้วัดระดับสภาพจิตว่าทำหน้าที่กระตุ้นจิตอย่างไร ?
หลักธรรม ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ ความต้องการทำงาน -ใฝ่ใจรักที่จะทำให้สำเร็จ
-รักจะทำให้ดียิ่งๆขึ้น
วีริยะ สภาพจิตที่กล้า -ไม่ท้อแท้
-ไม่เกียจคร้าน
-เข้มแข็ง อดทน
จิตตะ ความแน่วแน่ -มีใจจดจ่องานที่จะทำ
-มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน
วีมังสา ความไตร่ตรอง คิดทบทวน -คิดหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ
-ตรวจตราหาเหตุผล
-คิดวางแผน ประเมินผล แก้ไข ปรับปรุง
ตารางตัวอย่างสรุป ๒ ดูบทบาทชุดพฤติกรรมเพื่อการมีทรัพย์ตามที่ถูกกำกับด้วยชุดแนวคิดของอิทธิบาท ๔
ตาราง ๑
อิทธิบาท ๔ พฤติกรมให้ได้ผลทันตาเห็น ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้ขยัน ไม่เกี่ยจคร้าน -กระตือรือร้น
-ลงมือทำทันทีเมื่อพร้อม
-สอดส่องตรวจตรา
-หาวิธีทำงานที่เหมาะเพื่อให้เกิดรายได้โดยชอบธรรม
ตาราง ๒
อิทธิบาท ๔ พฤติกรรมให้ได้ผลทันตาเห็น ๔ ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้รักษา รู้จักเก็บรักษารายได้
จากงานที่ตนทำ -แบ่งสันปันส่วนในการใช้อย่างเหมาะสม
ตาราง ๓
อิทธิบาท ๔ พฤติกรรมให้ได้ผลทันตาเห็น ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้จักคบเพื่อนดี รู้จักคบเพื่อนที่ทำให้งานก้าวหน้า, เพื่อนทำให้รายได้เพิ่มพูน -คบเพื่อนที่มีแนวคิดในทางดีส่งเสริมกัน
-คบเพื่อนที่มีพฤติกรรมทางเจริญส่งเสริมกัน
ตาราง ๔
อิทธิบาท ๔ พฤติกรรมให้ได้ผลทันตาเห็น ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้จักใช้ชีวิตแบบเหมาะสม รู้จักดำเนินชีวิตไปพอเหมาะกับรายได้
ที่จัดสันปันส่วนแล้ว -ไม่ใช้จ่ายเกินตัว
-ไม่กระเหม็ดกระแหม่จนทำให้ตัวเองลำบาก
-ไม่หมกหมุ่นกับอบายมุข(ทางแห่งความเสื่อม)ต่างๆ
หมายเหตุ ตามตาราง ชุดแนวคิดอิทธิบาท ๔ จะตามกำกับชุดพฤติกรรมทุกข้อซึ่งวีมังสาหรือปัญญาใคร่ครวญจะมีบทบาทสำคัญที่กระตุ้นอิทธิบาทข้ออื่น ๆ ให้ทำหน้าที่อย่างมีเหตุมีผล ขณะเดียวกันอิทธิบาทเหล่านั้นก็ต้องมาประคับประคองวีมังสาให้ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่งถึงเป้าหมายด้วยเช่นกัน
ชุดที่ ๒ หมวดธรรมหรือชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข
๒.๑ ชุดกระตุ้นความคิด ในที่นี้ คือ พรหมวิหาร ๔ หรือชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข๔ ประการ (อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ๒๒/๑๙๒/๒๕๒; วิสุทธิมรรค ภาค ๒)
เช่นเดียวกัน ผู้จะบูรณาการเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข จะต้องถามตัวเองให้ชัดวา คืออยู่อย่างไร ? และต้องให้ได้คำตอบที่ชัดเจน
ก่อนอื่น ขอทบทวนพรหมวิหาร
เมตตาความรัก ความปรารถนาดี ให้ผู้ที่อยู่ร่วมซึ่งมีความสุขอยู่แล้วให้มีความสุขต่อไป
กรุณา ความสงสาร ความปรารถนาให้ผู้ที่อยู่ร่วมซึ่งมีความทุกข์ให้พ้นจากทุกข์
มุทิตาความยินดีด้วยในความสุขหรือในความพ้นทุกข์ของผู้ที่อยู่ร่วม
อุเบกขา ปัญญารู้วางใจเป็นกลาง โดยรู้จักวางเมตตาไว้ในความพอเหมาะ รู้จักวางกรุณาไว้ในความพอเหมาะ รู้จักวางมุทิตาไว้ในความพอเหมาะโดยเชื่อว่าแต่ละคนที่อยู่ร่วมกันล้วนมีกรรมเป็นของตัวเอง
ลักษณะของความคิดชุดนี้ เป็นตัวกระตุ้นจิต ให้เกิดพฤติกรรมแสดงออกทางกายและทางวาจา (การกระทำและการพูด) เหมือนอิทธิบาท ๔
๒.๒ชุดแสดงพฤติกรรมออกของพรหมวิหาร ๔ให้อยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข ไม่ว่าจะเป็นระหว่างบุคคล กลุ่มคนหรือชุมชน ตามแนวสังคหวัตถุ ๔ (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๑๔๐/๑๖๗)ได้แก่
๒.๒.๑ ทาน – การให้ ให้ความคุ้นเคย ความร่วมมือ การช่วยเหลือทั้งส่วนตนกลุ่มคนและชุมชนแบบมีเมตตา (รักปรารถนาดียามปกติ) /กรุณา (สงสารคิดช่วยเหลือยามมีปัญหา ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม, วางตนให้เป็นที่เคารพนับถือและให้เกิดวางใจไม่หวาดระแวง
๒.๒.๒ ปิยวาจา –พูดคำเป็นที่รักพูดคำที่เป็นประโยชน์อย่างถูกกาลเทศะแสดงถึงการมีวีมังสา-ปัญญาใคร่ครวญ พูดคำแนะนำที่เกิดประโยชน์มีความน่าเชื่อถือระหว่างบุคคลระหว่างกลุ่มและระหว่างชุมชน พูดคำที่ทำให้เกิดความรักความสามัคคี แสดงถึงการมีเมตตากรุณา
๒.๒.๓ อัตถจริยา – ทำประโยชน์ในงานที่ต้องทำร่วมกันให้ก้าวหน้าและบรรลุวัตถุประสงค์ของงานเพื่อส่วนรวม โดยชอบธรรม
๒.๒.๔ สมานัตตตา –วางตนเสมอต้นเสมอปลายในคุณธรรม ๓ ข้อต้น ทั้งการให้การพูดและการทำประโยชน์
๒.๓. วิธีการบูรณาการ
ผู้ที่ต้องการจะบูรณาการต้องตั้งความคิดที่จะอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขไว้ในใจให้ชัดเจนโดยเห็นภาพของการอยู่เป็นปึกแผ่นที่มาจากพื้นฐานคือความคิดการแสดงออกทางกายและการแสดงออกทางวาจาที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นพื้นฐาน
ผลสำเร็จ เมื่อพฤติกรรมที่จะอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขดำเนินไปด้วยอิทธิพลของพรหมวิหาร ๔ ดังจะได้แสดงด้วยตารางสรุป
ตารางตัวอย่างสรุป ๑ ดูบทบาทของพรหมวิหารจากความหมายและตัวชี้วัดบอกถึงการทำหน้าที่กระตุ้นจิตอย่างไร ?
หลักธรรม ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา ความรัก -ปรารถนาดี
-ปรารถนาให้คนที่ตนเมตตามีความสุข
-ปรารถนาให้เขาประสบความสำเร็จ
กรุณา ความสงสาร -ปรารถนาให้คนที่ตนสงสารพ้นทุกข์
-ใฝ่ใจที่จะบำบัดความเดือดร้อนของเขา
มุทิตา ความยินดีด้วย -ยินดีด้วยกับคนที่ตนเมตตามีความสุข-สำเร็จยิ่งๆขึ้น
-ยินดีด้วยกับคนที่ตนกรุณาพ้นทุกข์ได้
อุเบกขา วางใจเป็นกลางโดยยึดว่าแต่ละชีวิตมีกรรมเป็นของตน -ไม่เมตตาจนตัวเองทุกข์
-ไม่กรุณาจนตัวเองทุกข์
-ไม่ยินดีด้วยจนให้ความสำคัญตัวเองว่าเขาดี/พ้นทุกข์ได้เพราะเรา
-วางเฉยได้เมื่อตนหมดภารกิจที่ต้องทำ
ตารางตัวอย่างสรุป ๒ ดูบทบาทชุดพฤติกรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขตามแนวสังคหวัตถุ ๔ ที่มีชุดแนวคิดของพรหมวิหาร ๔กำกับ
ตาราง ๑
พรหมวิหาร ๔ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การให้ แบ่งปัน เสียสละ ไม่หวงแหน
-ให้การพูดคุยและท่าทีแสดงความรักปรารถนาดีผู้อื่นเมื่อยามเขามีสุขเป็นปกติ
-ให้การพูดคุยและท่าทีแสดงความสงสารเมื่อผู้อื่นเผชิญความทุกข์
-ให้ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี
-การวางใจเป็นกลางในเหตุการณ์ทุกอย่างไม่ดีใจเกินไปเมื่อเขาได้ดี และไม่ทุกข์ใจเกินไปเมื่อช่วยเขาให้พ้นทุกข์ไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่
-ให้ความไม่น่ากลัว
ตาราง ๒
พรหมวิหาร ๔ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การพูดคำเป็นที่รัก พูดคำที่ทำให้สามัคคี -พูดคำจริงมีหลักฐานน่าเชื่อถือ
-พูดคำจริงที่มีประโยชน์
-พูดถูกกาลเทศะ
-พูดประสานประโยชน์
ตาราง ๓
พรหมวิหาร ๔ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา กรุณา มุทิตา
อุเบกขา การทำประโยชน์ การทำงานส่วนรวมให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม -การร่วมมือกันแก้ปัญหาในงาน
-การร่วมมือกันส่งเสริมการทำดีในงานที่มีอยู่แล้วให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จนเกิดประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชอบธรรม
-การยกความสำเร็จให้เป็นผลงานร่วมกัน
ตาราง ๔
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย การแสดงพฤติกรรมตามที่ประพฤติมานั้นสม่ำเสมอต่อเนื่อง -ให้สม่ำเสมอ
-พูดคำน่ารักสม่ำเสมอ
-ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมสม่ำเสมอ
ผลสำเร็จ
จะเห็นว่า ในชุดความคิดที่ ๒ นี้ สังคหวัตถุ ๔ แต่ละข้อจะต้องมีพรหมวิหาร ๔ มากำกับไปในลักษณะแสดงพฤติกรรม หากเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขได้
สรุป
หมวดธรรมหรือชุดความคิดที่เสนอมานี้เป็นเพียงตัวอย่างที่อาจสรุปในเบื้องต้นนี้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าที่จัดเป็นหมวดหมู่ หรือ ชุดนั้น จะมีจำนวนกำกับด้วยเสมอ เช่น อิทธิบาท ๔ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ซึ่งการมีจำนวนกำกับนี้มีนัยสำคัญ คือ ธรรมะในชุดความคิดนั้นต้องเกิดและดำเนินไปในเชิงบูรณาการอย่างสัมพันธ์กันและครบถ้วนจึงจะเกิดผลในทางปฏิบัติ หากในแต่ละชุดขาดข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็อาจไม่เกิดผลหรือเกิดผลที่ไม่ครบถ้วน
Leave a Reply