‘มจร’เปิดวิชาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยก’รามายณะ’เรียนรู้ใจคน

วันที่ ๑๘ ก.พ.๒๕๖๒ พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ.๙,ดร. อาจารย์ประจำภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้วิชาศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีการเรียนการสอนวิชาวิชาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งหนังสือที่ประกอบคือวิชาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

จุดประสงค์เพื่อเรียนรู้ความเป็นมาและพื้นฐานทางความคิดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และเข้าใจวัฒนธรรมทางฮินดูที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย โดยพิจารณาจากรูปแบบชีวิตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางศาสนาที่ปรากฎในปัจจุบัน เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น รวมถึงความคิดต่างๆ ที่ถือเป็นต้นเหตุทางวัฒนธรรมที่ต่อเชื่อมกันอย่างที่เห็นในประเทศไทยในปัจจุบันนี้

ในเทอมนี้มีวิชาหนึ่งที่สอน คือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจึงต้องอ่านกลับมาทบทวนคัมภีร์สำคัญ ๓ เล่ม คือ ๑. มหาภารตยุทธ ๒. ภควัทคีตา และ ๓. รามายณะ โดย ๒ เล่มแรกอ่านจบแล้วจดอะไรบางอย่างทิ้งไว้สำหรับบรรยาย ก่อนที่จะลงมืออ่านเล่มที่ ๓ คือ รามายณะ ด้วยความหนาประมาณ ๘๐๐ กว่าหน้าทำให้ต้องใช้เวลามากกว่า ๒ เล่มแรกมาก ตั้งใจจะอ่าน จดประเด็นๆ ต่าง และนำไปคุยในห้องเรียน แต่อ่านจบมีหลายอย่างประทับใจและรู้สึกว่าน่าจะเล่าสู่กันฟังโดยเฉพาะเรื่องของ ๒ ตัวละครสำคัญ คือ

หนุมาน ถูกยกย่องว่าทั้งเก่ง มีความสามารถ ฉลาด มีปฎิภาณไหวพลิบ มีพละกำลังมหาศาลมากสุด แต่ตัวหนุมานเองกลับแสดงออกว่าไม่ค่อยรู้ว่าตนเองเก่ง บางครั้งก็คิดว่า ตนเองไม่เก่งอย่างนั้น และความจริงนี้ถูกฤษีเล่าถึงประวัติว่าหนุมานเป็นบุตรของวายุเทพ และได้รับพรจากองค์อินทร์ให้อาวุธต่างๆ ทำอะไรหนุมานไม่ได้ แต่พอโตขึ้น ด้วยถือว่าตนเองได้รับพรจาองค์อินทร์จึงไม่กลัวเกรงใคร เที่ยวรังควานเหล่าฤษีจึงโดนฤษีสาบให้ลืมความเก่งกาจของตนเอง ทำให้หนุมานกลายเป็นลิงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีมารยาทไม่ซุกซนอีก

ความอ่อนน้อมจึงมาพร้อมกับความไม่รู้ หรือความโง่อย่างหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยชาวญี่ปุ่นชื่อว่า “คนฉลาดแสร้งโง่” เพราะความเก่งกล้า สามารถนั้นเป็นทั้งพร และเป็นทั้งก่อเกิดบาปกรรมที่ทำให้ถือตัวตน ไม่ยอมใคร เที่ยวระรานคนไปทั่วอย่างที่หนุมานเป็น แต่พอถูกสาบให้ไม่รู้ ทำให้กิริยาอาการของหนุมานเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นลิงคนละลิง กิริยามารยาทเรียบร้อย แค่ฉลาดจึงไม่พอแต่ต้องรู้ว่าควรจะโง่ให้เป็นด้วย หรือรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนบ้างนั่นเอง

กุมภกรรณ เกิดมาแล้วมีหูคล้ายหม้อ จึงถูกเรียกชื่ออย่างนั้น โดยประวัติของกุมภกรรณมีไม่มากนัก ปรากฏในรามายณะก็เพียงช่วงเดียว โดยเป็นน้องของทศกัณฐ์ แต่เกิดมาตัวใหญ่โตกว่ารากษสตัวอื่น ทั้งยังชอบกินเป็นชีวิตจิตใจ ต่อมาบำเพ็ญเพียรร่วมกับพี่จนพระพรหมลงมาให้พร แต่ด้วยรู้ว่ากุมภกรรณนั้นมีนิสัยกินไปหมดทุกอย่าง จนถ้าปล่อยให้กุมภกรรณกินอาจจะหมดทั้งโลกและจักรวาลเลยก็ว่าได้ จึงได้รับพรให้ปีหนึ่งกุมภกรรมตื่นได้แค่ ๒ หนเท่านั้นนอกนั้นต้องนอนอย่างเดียว

การหลับของกุมภกรรณ เป็นการหยุดหายนะของโลกเอาไว้ ถ้านึกไม่ออกเราลองนึกถึงพฤติกรรมกินเที่ยวของมนุษย์ก็ได้ ถ้าไม่มีการหลับมาคั่นไว้บ้างจะทำลายโลกได้มากมายขนาดไหน การหลับจึงเป็นการหยุดความพินาศของโลกก็ว่าได้

การสอนเรื่อง “การลืม” ช่วยให้คนอ่อนน้อม ถ่อมตนมากขึ้นหรือทำตัวโง่บ้าง และ “การหลับ” นอกจากเราจะได้พักผ่อนยังถือเป็นการหยุดยั้งการทำลายโลกได้ ถือเป็นคติคำสอนทางศาสนาพราหมณ์ผ่านมหากาพย์เรื่องนี้ได้อย่างน่าจดจำ และพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงผ่านตัวละครทั้งสองยังสะท้อนให้เห็นหลักธรรมชาติที่ถูกนำเสนอให้เห็นทั้งในแง่บุคลิกตัวละครที่มีพฤติกรรมบางอย่างที่พบเห็นได้จากชีวิตจริง และการปรับให้ตัวละครนั้นให้อยู่ได้ โดยใช้หลักธรรมโดยธรรมที่ว่าคือการทำให้แม้คนนั้นจะมีพฤติกรรมแย่หรือที่เรียกว่าประกอบด้วยอธรรม (สิ่งไม่ดี) อย่างไร แต่ถ้ามีธรรมะคอยประคองไว้ก็สามารถดำเนินต่อไป โดยธรรมะในรามายณะที่เด่นชัดสุดก็คือ “การไม่เห็นแก่ตน การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม”

อินทรชิต
อารมณ์กับการล่อลวง
เมฆนาท แปลว่า เสียงคำรามจากฟากฟ้า เพราะรากษสนี้เกิดมาร้องดังเมฆฝนคำรามในวันพายุคะนอง และได้นามตอนหลังจากพิชิตองค์อินทร์ได้ว่า “อินทรชิต” ชื่อนี้ฟังติดหูตั้งแต่แรก ถือเป็นตัวละครสำคัญในฝากฝั่งของทศกัณฐ์หรือราพณาสูรถึงขนาดฤษีรู้สึกประหลาดใจที่ “อินทรชิต” ถูกสังหารมากกว่าทศกัณฐ์และกุมภกรรณเสียอีก อาจเพราะว่า “อินทรชิต” นั้นเก่งกว่าในแง่ของเวทมนต์หายตัวได้และเล่ห์เหลี่ยม มีอาวุธศักดิ์สิทธิ์จากองค์เทพอีกต่างหาก ตอนอินทรชิตจับองค์อินทร์ได้ด้วยธนูนาคบาศ (ยิงไปรัดกายดังนาคราชรัดไว้) จนได้รับพรจากพรหมเทพว่า หากในยามบูชาไฟจะมีรถศึกไฟมารับ และตราบที่อยู่ในรถศึกนั้นจะไม่มีวันตาย แต่หากไม่ได้บูชาไฟอาจตายได้ตลอดเวลา ในสงครามกรุงลงกา ทศกัณฐ์ถึงกับเอ่ยว่า อินทรชิตนั้นร่วมรบในสงคราม ๒ ครั้งทำให้ตนเกือบชนะทั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรกสามารถทำให้พระรามและพระลักษมณ์โดยธนูนาคบาศจับไว้จนหมดสติ แต่ได้พญาครุฑมาทำลายได้ ครั้งสองทั้งกองทัพพระรามถูกศรจนสงบหลับกันหมด ก็ได้พิเภกและหนุมานช่วยให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง และหากไม่มีพิเภกให้คำแนะนำให้พระลักษณม์รีบไปทำลายพิธีบูชายัญจนสามารถสังหารอินทรชิตได้ ผลการศึกอาจเปลี่ยนไปก็เป็นได้

“ล่อหลอก” ถือเป็นอธรรมประเภทหนึ่งในรามายณะ อินทรชิตใช้กลวิธีทั้งการล่องหน ทั้งการล่อลวง เช่น เนรมิตนางสีดาแล้วฆ่าทิ้งเพื่อทำร้ายขวัญของพระรามและกองทัพวานร จนทุกคนร่ำไห้ไม่เป็นอันรบ เพราะใครก็ตามที่ถูกลวงด้วยเล่ห์เหลี่ยมแม้เขาคนนั้นจะเป็นคนที่เก่งกล้าที่สุดหรือฉลาดที่สุดก็อาจกลายเป็นคนอ่อนแอหรือโง่เขลาที่สุดไปได้ในเวลาเดียวกัน แต่ยังดีว่ายังมีพิเภกที่บำเพ็ญเพียรมาอย่างยาวนานแนะให้สังเกตว่านั่นเป็นกลลวง ไม่ใช่ความจริงการรบด้วยวิธีหลอกลวงเช่นนี้จึงตรงข้ามกับการรบกันอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช้กลลวงแต่การจะใช้ความจริงเพื่อเอาชนะความลวงใดๆ ได้ สิ่งที่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ต้องสงบนิ่งและพิจารณาให้เห็นความถ่องแท้เสียก่อน อย่าใช้อารมณ์ในการมองสิ่งเหล่านั้น เพราะอารมณ์นั้นจะเปลี่ยนแปลงความจริงตามอย่างที่กลลองนั้นต้องการ ในรามายณะจึงมองอารมณ์ว่าเป็นมารอย่างหนึ่งหรืออธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดนี้ฉะนั้น การชนะการล่อลวงได้จึงถือเป็นชัยชนะตนเองและเป็นชัยชนะที่รามายณะต้องการนำเสนอ

ทศกัณฐ์
#พรแสวง #ความเป็นอมตะ#ธรรมะเหนือกว่าความเป็นพี่เป็นน้อง
“ข้าจะยิ่งใหญ่กว่าใคร ข้าจะคลองทั้งสามโลก”คำกล่าวที่เป็นจุดเริ่มเรื่องทั้งหมด คนกล่าวจะเป็นใครไปไม่ได้คือ“ทศกัณฐ์” ซึ่งเป็นบุตรของรากษสไกกาสีและมุนีวิศราวะ ด้วยการเกิดในอัปมงคลฤกษ์จึงได้บุตรเป็นรากษสชั่วร้ายตอนเกิดมีสิบเศียร มีเขี้ยวยาวโง้งจากทุกปาก ร้องคำรามเสียงก้องกัมปนาทจากปากทั้งสิบจึงได้นามว่า “ทศกัณฑ์”

“เก่งเพราะพรแสวง”ตั้งแต่เด็ก ทศกัณฑ์ถือเป็นคนเก่งชนิดที่ไม่ใช่เกิดมาแล้วเก่งอย่างพระรามหรือหนุมานเป็นแต่เก่งเพราะพรแสวง ไม่นิ่งเฉย ด้วยแรงพลักดันมหาศาลด้านความอยาก ไม่ว่าจะด้านการกินและการเสพความบันเทิง แม้แต่การเรียนรู้ต่างๆ ทศกัณฑ์ก็เรียนรู้ได้ดีกว่าใครๆ และมีความปรารถนาสูงเกินกว่าใคร และแรงพลักดันมหาศาลจากการเห็นเผ่าพันธุ์ตนเองที่เป็นรากษสที่เกิดมาเพื่อรักษาแม่น้ำตามคำบัญชาของพระพรหมจึงถือว่าเป็นตระกูลเก่าแก่ที่สืบทอดมาจากพระพรหมโดยตรง เกียรติภูมิของรากษสจึงสูงส่งถ้าจะว่าไป สามารถเทียบเท่าองค์อินทร์หรือแม้แต่ท้าวกุเวร ทำให้ทศกัณฐ์เกิดความทรนงตนในชาติพันธุ์ และบำเพ็ญเพียรอย่างยาวนานจนพระพรหมต้องลงมาให้พร โดยพรนี้มีเงื่อนไขว่าทศกัณฐ์จะไม่โดนฆ่าโดยเหล่าชาติพันธุ์สูงส่งทั้งเทวา คนครรพ์ รากษส ยักษ ฤษี เป็นต้น แต่มนุษย์นั้นถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์เบาะบางต่ำต้อยจึงไม่เกรงกลัวจุดท้ายจึงตายด้วยน้ำมือมนุษย์ ทั้งหมดนั้นล้วนอยู่ในการล่วงรู้ของพระพรหมทั้งสิ้นจึงยอมให้พรนี้แก่ทศกัณฐ์

“ความเป็นอมตะไม่มีจริง”ต่อมาทศกัณฐ์ได้ชื่อ “ราพณาสูร” หมายถึง รากษสผู้สร้างความหวาดกลัวต่อทั้งไตรภพ เป็นนามที่ศิวมหาเทพเป็นผู้ตั้งให้ทศกัณฐ์สร้างวีรกรรมทั้งต่อสู้กับพระอินทร์ในสวงสวรรค์ การรบกับพญานาคใต้บาดาล ที่จวนเจียนตายที่สุดคือรบกับพระยมผู้นำความตายมาสู่สรรพชีวิตการรบครั้งนั้นแม้พระยมสามารถจะฆ่าทศกัณฐ์ได้ แต่ด้วยพรของพระพรหมทำให้ไม่สามารถฆ่าทศกัณฐ์ได้เมื่อเสร็จการรบครั้งนั้น ยิ่งทำให้มันไม่กลัวตายอีกต่อไป เพราะขนาดพระยมผู้นำความตายยังไม่กล้าทำอะไรตน แต่ “ชีวิตอมตะ” ตามคำที่พระพรหมกล่าวไว้ว่า “ชีวิตอมตะไม่อาจเป็นของผู้ใด กระทั่งตัวเราเมื่อเวลายังต้องดับสูญ” ก็ขนาดพระพรหมยังดับสูญ ทศกัณฐ์ก็ไม่ต่างกันต้องดับสูญในที่สุดและผู้เป็นต้นเหตุอย่างที่ทราบกันก็คือ “นางสีดา”
“ธรรมะเหนือกว่าความเป็นพี่เป็นน้อง”ที่น่าแปลกคือทุกคนต่างล่วงรู้ว่า การกระทำครั้งนี้ของทศกัณฐ์จะนำความวอดวายมาสู่ชีวิตของทศกัณฐ์เองรวมถึงบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ แต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่กล้าตำหนิ ถึงขนาดโดนทศกัณฐ์ขับไล่ออกจากเมืองอย่าง “พิเภก” ยังกล้าทำ เพราะพิเภกมองว่าในฐานะของผู้ทรงคุณธรรมย่อมต้องชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และยับยั้งการกระทำผิดแม้จะต้องเป็นศัตรูกับพี่น้องก็ตาม อันนี้เป็นคุณธรรมของคนดีที่จะไม่ยอมแม้กับญาติพี่น้องที่เห็นไปในฝ่ายอธรรม
“ศัตรูที่ร้ายที่สุดจะมาเกิดเป็นคนที่เรารักมากที่สุด”ท้ายเล่มของรามายณะ เล่าประวัตินางสีดาไว้ตำนานหนึ่งน่าสนใจยิ่งคือนางเป็นลูกนางมณโฑกับทศกัณฐ์ (เป็นไปได้ไง ตอนอ่านก็คิดแบบนั้น)ตอนนั้นนางมณโฑตั้งครรภ์แต่ด้วยความเจ้าชู้ของทศกัณฐ์นางมณโฑจึงไม่บอกเรื่องนี้และหนีไปคลอดที่อื่นและทิ้งไว้จนพระเจ้าเมืองมิถิลาเป็นผู้ชุบเลี้ยงและเป็นนางสีดาที่ทศกัณฐ์รักหมดจิตหมดใจถ้ามองไปในแง่ชีวิตจริงศัตรูของเราบางทีก็มักมาเกิดเป็นลูกเพราะคนที่ทำร้ายเราได้มากสุดมักเป็นคนที่เรารักมากสุด

พระลักษมณ์
#ชีวิตที่ดี #ผู้เตือนสติ
“ชีวิตที่ดี”
“การมีชีวิตที่ดีในรูปแบบของตนเอง” เป็นวิถีการเลือกวิถีชีวิตตามที่เฮอร์มานส์ เฮสเส (Hermann Hesse) เขียนไว้ให้หนังสือเรื่อง “สิทธารถะ” บนการเลือกเดินตามวิถีชีวิตที่ตนเองเลือกอย่างสิทธารถะ ขณะที่โควินทะเลือกบวชตามพระพุทธองค์ นิยายอิงพระพุทธศาสนาเรื่องนี้ทำให้เห็นภาพการดำเนินชีวิตแบบสันโดษคือเที่ยวไปรูปเดียวกับการเที่ยวไปตามศาสดาในฐานะผู้นำทาง (มคฺคนายโก) ไม่ใช่แค่เพียงผู้ชี้ทาง (มคฺคเทสโก) ที่จริงการกล่าวถึงเรื่องนี้ก็เพราะเนื้อหาส่วนนี้จะคุยกันเรื่อง “พระลักษมณ์” ที่เลือกจะติดตามพระรามแบบถึงไหนถึงกัน ไม่ว่าจะขึ้นเขา ลงห้วย บุกผ่า ฝ่าดงเข้าสนามรบ ยอมเอาชีวิตเข้าแลก ซึ่งคนหลายคนก็ยอมทุ่มเทแบบเดียวกันนี้ ต่างเกิดจากศรัทธาที่มีอย่างจริงจัง(นี่คือลักษณะของmass religion ตามที่นักปรัชญาชาวเดนมาร์กอย่างKierkegaardเสนอไว้)

“ผู้เตือนสติ”
พระลักษมณ์เป็นบุตรของมเหสีสุมิตราจึงนับเป็นน้องต่างมารดากับพระราม และนับถือพระรามยิ่งกว่าชีวิตของตน ตั้งแต่จำความได้พระลักษมณ์ก็ติดตามพระรามไปทั่วทุกแห่งหน และร่วมผจญภัยทุกครั้งตั้งแต่การติดตามฆ่ารากษสที่มาก่อกวนฤษี การออกป่าติดตามพระรามเมื่อถูกเนรเทศไปอยู่ป่า ๑๔ ปี และเข้าร่วมศึกลงกา

แต่สิ่งที่พระลักษมณ์ทำนอกจากติดตาม “พระราม” คือการช่วยเตือนสติในคราวที่พระรามสูญเสียตัวตน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เพราะนางสีดาถูกทศกัณฐ์นำตัวไปจนเกิดเป็นความพิโรธ คิดจะเผาผลาญโลกธาตุให้หมดสิ้น พระลักษมณ์จึงเตือนสติว่า “ท่านพี่ ความกราดเกรี้ยวเยี่ยงนี้หาเหมาะสมกับท่านไม่ ท่านพี่เคยสยบอารมณ์ความรู้สึกทุกประการไว้ใต้บาท หากบัดนี้ท่านกลับปล่อยให้มันบัญชาตนจนข้าวิตก” ทำให้พระรามสงบลงได้

ยามที่พระรามท้อแท้ ก็ได้พระลักษมณ์กล่าวเตือนสติ “หน้าที่ของพี่ยามนี้อย่ายินยอมทอดทิ้งความกล้าหาญ มาตรว่าฟ้าลิขิตให้ท่านต้องเดินทางบนเส้นทางรกชัฏขื่นขม หากท่านเป็นกษัตริย์ผู้ยอมสละแม้บัลลังก์เพื่อหนทางธรรม..พี่ยังต้องเดินต่อไป ไยจึงไม่แปรเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นความกล้าหาญ อย่ายินยอมพ่ายแพ้ต่อความทุกข์”

เหตุการณ์จึงเตือนให้เรามีเพื่อนเตือนสติ เพราะคนเราอาจควบคุมตนเองได้ในยามเจริญรุ่งเรืองได้ดิบได้ดี แต่ยากจะไม่สูญเสียตัวตนในยามที่ต้องสูญเสีย…

ยิ่งตอนที่พระลักษมณ์ถูกหอกของทศกัณฐ์จนล้มสงบไป พระรามถึงขนาดทอดอาลัยลืมเรื่องการรบจนหมดสิ้น ไม่แม้จะคิดถึงนางสีดาที่อุตส่าห์บุกฝ่ามาเพื่อรบในครั้งนี้ เพราะผู้ให้สตินั่นคือผู้นำทางชีวิตกลับมาสู่เส้นทางอีกครั้ง จึงสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

Leave a Reply