จาก “เฮือนฮ่วมแฮง” สู่ “ครัวปลาแดก” ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด บุกเยือน “โคก หนอง นา พช.” สร้างวัฒนธรรมการแบ่งปัน ขยายผลสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น. นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาระดับจังหวัด จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับการลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ของ นางนฤดี ศรีวงศ์ บ้านบัวเทิง หมู่ที่ 4 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เอกสารสิทธิโฉนด พื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ เดิมพื้นที่ใช้ทำประโยชน์ในการทำนาและสวนพุทรา สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทำโคกหนองนา 3 ไร่ ใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชนสัดส่วนแบบ 1:3 ประเภทดินร่วนปนทราย และดำเนินการขุดปรับพื้นที่ รวมถึงดำเนินการกิจกรรมเอามื้อสามัคคีเป็นที่เรียบร้อย ในส่วนของกิจกรรมในวันนี้ ได้ทำการขุดหลุมปลูกต้นไม้ ห่มดินด้วยฟาง เพิ่มเติม และไถปรับพื้นที่ “โคก หนอง นา ครัวปลาแดก” ร่วมกับครอบครัวและบุตรหลาน ถือเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน เรียนรู้การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งตนเอง ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19

โอกาสนี้ นายอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาระดับจังหวัด จังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนแปลง “โคก หนอง นา พช.” แห่งนี้ว่า “สำหรับพื้นที่แห่งนี้ ถือเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีชัยภูมิที่เหมาะสมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อแบ่งปันพี่น้องประชาชนต่อไปในอนาคต เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง อยู่ที่สูง มีความอุดมสมบูรณ์และใกล้แม่น้ำมูล นอกจากนั้นบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยด้วย ดังนั้น จึงควรพัฒนาแปลง “โคก หนอง นา พช.” แห่งนี้ โดยปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร เพื่อเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างวัฒนธรรมในการแบ่งปัน เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักและครัวของชุมชน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ครัวปลาแดก” ตามภาษาท้องถิ่นของชาวไทยอีสาน ซึ่งสะท้อนถึงการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายทำมาหากินแบบคนจนและอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด เมื่อเหลือเก็บก็แบ่งปันให้กับพี่น้องและเพื่อนบ้าน ถือเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจะสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับแปลง “โคก หนอง นา เฮือนฮ่วมแฮง” ของตนที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว” นายอัมพร กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

ขณะที่ นางนฤดี ศรีวงศ์ เจ้าของแปลง “โคก หนอง นา ครัวปลาแดก” ได้เปิดเผยความรู้สึกกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ ว่า “ขอบคุณรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ส่วนราชการ ตลอดจนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำจิตอาสาทุกท่าน ที่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ตนรู้สึกดีใจและมีความสุขมากได้ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์การรับสมัครผ่านสื่อออนไลน์ จนได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมฯ ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) อำเภอสว่างวีระวงศ์ ตลอดระยะเวลา 4 วัน 5 คืน จนมีการขุดปรับพื้นที่แปลงตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชนและหลักกสิกรรมธรรมชาติ เสร็จสิ้นตามแบบที่กำหนด และขุดสระเพื่อเก็บน้ำจะทำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี เกิดความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งตนพึงพอใจในผลงานการขุดปรับพื้นที่อย่างมาก”

นางนฤดี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านเป็นคนอำเภอสว่างวีระวงศ์ แห่งนี้ ที่ได้ช่วยพัฒนาบ้านเกิดของท่าน ตลอดจนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชนในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ให้สามารถพึ่งตนเอง เลี้ยงชีพและลดการพึ่งพาจากภายนอก ในอนาคตตนจะมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่ให้ผู้อื่นได้มาเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแบ่งปันความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น ตามแนวทางที่คุณอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดได้แนะนำต่อไป” เจ้าของแปลง “โคก หนอง นา ครัวปลาแดก” กล่าวด้วยความสุขและภาคภูมิใจ

Leave a Reply