ว่าที่ปลัดมท.คนใหม่ยัน “บวร” คือสันติวิธี “ชนบทวิถีใหม่ ทางรอดจากภัยโควิด”

“สันติสนทนา มจร” จัดถก “ชนบทวิถีใหม่ ทางรอดจากภัยโควิด” ว่าที่ปลัดมท.คนใหม่ยัน “บวร” คือสันติวิธี หวังพระสงฆ์ “จรถะ ภิกขเว” เข้าหาชุมชน
วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา เลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร จัดสันติสนทนาวิชาการ “ชนบทวิถีใหม่ จะปรับตัวอย่างไรในวิกฤติการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคำตอบอยู่ที่ชุมชน”

โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ปาฐกถาตอนสำคัญว่า สถาบันครอบครัวต้องมีความเข้มแข็งเพราะเป็นรากเหง้าของสังคมที่ดีงาม ทำให้เรามองถึงระเบิด ๔ ลูก ประกอบด้วย “โรคระเบิด สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางสังคม” ส่งผลความยากจนเชิงรายได้และความมั่นคง ทำให้สังคมมีความขัดแย้งหลายหลายมิติไม่ใช่เฉพาะเมืองหลวงแต่ชนบทในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดความขัดแย้งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้คนชนบทอพยพเข้าอยู่ในเมืองหลวงส่งผลให้เยาวชนขาดพลังแห่งความอบอุ่นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม มีคนแก่กับเยาวชนอยู่ด้วยกัน ถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก เราจะสร้างความสมดุลอย่างไร ทำให้ท้องถิ่นถูกทิ้งส่งต่อสถาบันครอบครัว เราจึงต้องกันมาพัฒนาคนสร้างระบบการศึกษาในอุดมคติ อดีตโรงเรียนอยู่ในวัดโดยวัดเป็นที่พึ่งของชุมชน ดูแลรักษาประเพณีวัฒนธรรม ถามว่าภาครัฐทราบปัญหาหรือไม่คำตอบคือ รู้ คำถามคือจะมีการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างไร โดยคณะสงฆ์ต้องเดินเข้าไปหาชาวบ้านเพื่อไปเติมความรู้ความเข้าใจให้กับคนในมิติของศาสตร์พระราชา โดยพระองค์ทรงมองเห็นปัญหาของคนในชาติ เราจึงต้องแก้ปัญหาตามอริยสัจตามแนวทางของพระพุทธเจ้า โดยเห็นปัญหาแล้วหาสาเหตุและหาวิธีการแก้ปัญหา เราจะต้องทำให้สังคมมีความสมดุล

จึงต้องพยายามสร้างความสมดุลระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท ผู้คนจะต้องสามารถพึ่งตนเองได้ ภายใต้คำว่า พอกิน พออยู่ พอใช้ พอแบ่งปัน พอร่มเย็น ด้วยมีความพอเพียงสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติตั้งประสูติจนถึงปรินิพพาน ล้วนอยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อตนเองพออยู่พอกินจึงมีการแบ่งปันซึ่งกันและกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน การแบ่งปันการให้จึงเป็นเสน่ห์ของคนไทย เราต้องพัฒนาคนเพื่อคนพัฒนาพื้นที่ โดยพัฒนาด้านทรัพยากร ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ชนบทวิถีใหม่จะต้องมีวัดเข้ามามีบทบาทเพราะเราต้องสร้างสังคมคุณธรรม วัดต้องออกไปหาชุมชน บัวที่พ้นน้ำจะต้องโน้มไปหาบัวที่ไม่พ้นน้ำ พระสงฆ์ต้องเดินออกจากวัดเพื่ออนุเคราะห์สังคม แต่ก่อนออกไปจะต้องพัฒนาเรียนรู้เพื่อให้สังคมเป็นที่พึ่ง ทุกศาสนาจะต้องขับเคลื่อนไปหาชุมชน หาราชการ เพราะผู้นำศาสนาเป็นบัวที่พ้นน้ำจะต้องขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนพัฒนา เพราะคำว่าพัฒนาคือสร้างสรรค์ “พัฒนาคนแล้วคนไปพัฒนาพื้นที่” ทางรอดของประเทศจะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างไรมิติคำสอนทางพระพุทธศาสนาและแนวคิดทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙

จากนั้นมีการสันติสนทนา “ชนบทวิถีใหม่ จะปรับตัวอย่างไรในวิกฤติการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง” ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมสันติเสวนาวิชาการประกอบด้วย

๑) รองศาสตราจารย์ ดร. สามชาย ศรีสันต์ ประธานหลักสูตรประกาศนียบัตร (บัณฑิตอาสาสมัคร) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวประเด็นสำคัญว่า ชนบทเกิดขึ้นครั้งแรกในไตรภูมิพระร่วงจึงต้องสร้างการรับรู้ของสังคมไทยที่มีต่อชนบท โดยภาคชนบทเป็นภาคแห่งการรองรับวิกฤตจากบ้านเมือง เพราะความล้มเหลวจากการมาทำงานในเมือง เรามองว่าภาคเกษตรคือทางออกของคนที่มีความล้มเหลวจากเมืองหลวง ชนบทหลังรัฐประหารคนในชนบทเรามีพื้นที่มีความยากจนเป็นพื้นที่สีส้มและสีแดงโดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสาน ส่งผลต่อการแบ่งข้างทางการเมืองได้อย่างชัดเจนจากอดีตส่งผลถึงปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรให้ชนบทมีความเข้มแข็ง การมองชนบทอาจจะมีความแตกต่างกัน เราเห็นความเหลื่อมล้ำในชนบท แต่ไปคนในชุมชนอาจจะไม่ใช่เจ้าของทรัพยากร จึงต้องให้อิสรภาพ เสรีภาพ เสมอภาคทางวัฒนธรรม

๒) พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวประเด็นสำคัญว่า ประเด็นวัคซีนเรายังต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ เราจึงมองว่าเมืองรับจากระดับโลกมาส่งต่อชนบท กระบวนการนำเข้ามาความเจริญและความเสื่อม ทำให้เราไม่สามารถพึงพาตนเองได้ เราพยายามพึ่งพาสิ่งภายนอกจนลืมการพึ่งภายใน ระบบการศึกษาเพื่อตอบสนองทุนนิยมในเมืองหลวงเพื่อนำเอาเด็กเก่งๆ อยู่ในเมือง ไม่ได้เอาคนเก่งออกไปสู่ชนบท เด็กที่เก่งๆ อยู่ในเมืองเท่านั้น รวมถึงพระสงฆ์ไม่กลับไปอยู่ในชนบทเมื่อศึกษาในเมืองหลวง ทำให้เราไม่มีทรัพยากรบุคคลทำให้วัดไม่มีทรัพยากรที่มีคุณภาพ ปัจจุบันเราเห็นพุ่มพวงบริการถึงบ้านแต่กำลังมองว่าชาวบ้านไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เราไม่ได้สนใจภูมิปัญญาฮิตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งปัจจุบันขาดไปถือว่าเป็นวัฒนธรรมในชนบท วิถีวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงแบบหักศอกรวมถึงการแต่งกายแทนที่จะขายศักยภาพของตนเอง

ปัจจุบันชนบทไม่พร้อมรับคนจากเมืองหลวงยิ่งในสถานการณ์ของโควิด ผู้คนกลับชนบทที่ได้รับความบาดเจ็บ จึงตั้งคำถามว่าชนบทตื่นจากวัตถุนิยมหรือยัง หยุดแต่งเพลงของคนอีสานที่มีความลำบาก สร้างเพลงให้คนกระตุ้นสามารถพึ่งตนเองได้ ชนบทต้องรู้จักตนเองว่าตนเองมีจุดแข็งอะไรกันแน่ จะต้องขายความเป็นชนบทซึ่งมีความเรียบง่าย ชนบทมีความเป็นเสน่ห์ของแต่ละบริบท วัดคุ้มครองทางด้านจิตใจ บ้านคุ้มครองทางด้านอาชีพ โรงเรียนคุ้มครองทางด้านปัญญา ตอนนี้กำลังจะตั้งโรงเรียนชนบท ปัญญาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อชนบทอย่างจริง ชนบทจะต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ จะต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยกันเราต้องเคารความหลากหลายเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชุมชนจะต้องดึงวัฒนธรรมออกมาเพื่อสร้างมูลค่าให้เป็นนวัตกรรมโดยชุมชน เพื่อชุมชน เพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน คำตอบคือชุมชน ชนบทคือวิถีชีวิต

๓) รองศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ศรีสันติสุข คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวประเด็นสำคัญว่า โดยมีการปรับตัวของชุมชน พัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันวัฒนธรรมของเรามีความอ่อนแอจึงต้องสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมในชนบท โดยภาคประชาสังคมจะต้องแสดงบทบาทด้วยการรวมตัวของประชาชน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งประชาชนในพื้นที่เป็นผู้แสดงบทบาท ซึ่งการปรับตัวโดยชุมชนจะต้องเร่มจากภาคประชาสังคม ชุมชนจะต้องเริ่มต้นด้วยการคิดเองทำเองสร้างการมีส่วนร่วมซึ่งชุมชนมีพลัง เราต้องกลับไปหาวัฒนธรรมของชุมชนสร้างพลังแห่งวัฒนธรรม เช่น ความผูกพันในพื้นที่ การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งการจัดการปัญหาของชุมชนและการพัฒนาต้นแบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนโดยชุมชนสามารถแก้ปัญหาของตนเองเมื่อคนในชุมชนมีความขัดแย้ง ถือว่ามิติที่สังคมชนบทเคยทำมาในอดีต ชุมชนต้องร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะคำตอบอยู่ที่ชุมชน ต้องสามารถตอบสนองคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะชุมชนเป็นฐานราก ชุมชนคิดริเริ่ม ชุมชนทำ ชุมชนเป็นผู้ติดตาม ชุมชนเป็นผู้ประเมิน ชุมชนเป็นเจ้าของ ชุมชนเป็นผู้รับผลประโยชน์ ต้องตอบสนองความต้องการของชุมชน จะต้องสร้างทุนวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง ต้องสร้างความเข้าใจชนบทอย่างแท้จริง

๔) อาจารย์โจน จันใด กล่าวประเด็นสำคัญว่า รัฐพยายามทำลายชนบทด้วยระบบการศึกษาทำลายชนบทมากที่สุด เป็นการออกแบบมาเพื่อให้คนด้อยค่าเพราะไม่ได้สอนให้พึ่งตนเองได้ ระบบการศึกษาที่ดูดแรงงานราคาถูกไปเป็นทาสในเมืองหลวง เปลี่ยนคนเป็นคนพิการระบบการศึกษาทำลายชนบทอย่างน่าเป็นห่วง เรามัวแต่รอถุงยังชีพรอระบบอุปถัมภ์แต่ไม่พึ่งตนเอง วิธีคิดของคนชนบทล้มสลาย ซึ่งนโยบายของรัฐมีความหลอกลวงว่าจะช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ชนบทพยายามอยู่ด้วยตนเองแต่ภาครัฐมีนโยบายให้คนชนบทเป็นทาสแรงงาน แต่คนที่ได้ผลประโยชน์คือภาคธุรกิจ แต่สื่อหรืออินเทอร์เน็ตทำให้คนชนบทมีความตื่นตัวเป็นโลกของออนไลน์ มีการเปลี่ยนที่นาเป็นร้านกาแฟ เปลี่ยนที่นาเป็นรีสอร์ทหรือโฮมสเต ใช้สื่อออนไลน์โฆษณาผู้คนมาจำนวนมาก คนชนบทถูกกดทัน กีดกันไม่ให้เติบโต คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมองชนบทว่าไม่ได้เป็นที่ยากจนแต่มองว่าชนบทคือโอกาสมีทุน ชนบทมีทุนจำนวนมากทำให้คนรุ่นใหม่กำลังตื่นตัวผ่านสื่อ “ชนบทคือคำตอบของคนรุ่นใหม่”
ชนบทคือทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เช่น ไม้ไผ่ วิถีชีวิต สร้างรายได้สร้างความภูมิใจ มีการแปรรูปเพื่อการค้า แม้จะถูกกดหัวมากเท่าใด ในปัจจุบันคงยากเพราะคนเรียนรู้อยากมีการเติบโต จึงทำให้เห็นว่าชนบทเป็นความหวังใหม่ของคนรุ่นใหม่เพราะมีทุนมหาศาล ชนบทไม่มีขอบเขต โลกปัจจุบันไม่มีขอบเขต เราจะเห็นว่าเมล็ดพันธุ์ใช้เป็นเครื่องมือในการล่าอาณานิคม เราต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ให้มากที่สุด ซึ่งระบบการศึกษาพ่อแม่ต้องไม่ยัดเยียดความฝันตนเองให้กับลูก เราต้องหยุดปิดหูปิดตาคนในชนบทเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Leave a Reply